| |
รูปปรมัตถ์   |  

ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคอรรถกถารุ.๒ ท่านพระพุทธโฆสาจารย์ได้แสดงความหมายของรูปขันธ์ไว้ดังต่อไปนี้

ในขันธ์ ๕ นั้น ธรรมชาติที่มีความสลายไป โทรมไป เพราะปัจจัยที่เป็นข้าศึกทั้งหลาย มีหนาวเป็นต้นเป็นลักษณะ ทุกอย่างพึงทราบว่า ชื่อว่า รูปขันธ์ เพราะรวมธรรมชาติทั้งปวงนั้นเข้าด้วยกัน ธรรมชาตินี้ แม้มีอย่างเดียวโดยลักษณะคือความสลายไปก็จริง แต่ก็นับเป็น ๒ โดยแยกเป็นภูตรูปและอุปาทายรูป

ในคัมภีร์ปรมัตถทีปนีฎีการุ.๓ ท่านพระฎีกาจารย์ได้แสดงความหมายของรูปไว้เป็นรูปวิเคราะห์ [คำจำกัดความ] ว่า “รุปฺปตีติ รูปํ” [หรือ รุปฺปนตีติ รูปํ] แปลความว่า ธรรมชาติใดมีความแตกดับหรือเสื่อมสิ้นสลายไป เพราะเหตุนั้น ธรรมชาตินั้น ชื่อว่า รูป

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถวิภาวินีฎีการุ.๔ ท่านได้แสดงคำจำกัดความเพิ่มเติมเพื่อให้เด่นชัดลงไปอีกว่า “รุปฺปนญฺเจตฺถ สีตุณฺหาทิวิโรธิปจฺจยสมวาเย วิสทิสุปฺปติ เยว” แปลความว่า รูปที่เกิดดับหรือเสื่อมสลายไปโดยลำดับนั้น เพราะอาศัยปัจจัยอันเป็นปฏิปักษ์ ที่เรียกว่า วิโรธิปัจจัย อันได้แก่ ความเย็นและความร้อน เป็นต้น ซึ่งเป็นตัวการณ์ที่ทำให้รูปแตกดับหรือเสื่อมสลายไป เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า รุปปนะ

เมื่อสรุปความแล้ว คำว่า รูป ก็คือ ธรรมชาติที่มีสภาพแตกดับหรือเสื่อมสลายไป ด้วยอำนาจของวิโรธปัจจัย คือ ปัจจัยที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน อันได้แก่ ความเย็นและความร้อน เป็นต้นนั่นเอง

ในคัมภีร์พระอภิธัมมัตถสังคหะ ปริจเฉทที่ ๖ ที่ชื่อว่า รูปสังคหวิภาค นั้น ท่านพระอนุรุทธาจารย์ได้แสดงรายละเอียดเกี่ยวกับรูปธรรม อันเป็นปรมัตถธรรมลำดับที่ ๓ คือ รูปปรมัตถ์ และในตอนท้ายได้แสดงปรมัตถธรรมประเภทที่ ๔ คือ นิพพานปรมัตถ์ ซึ่งเป็นการรวบรวมปรมัตถธรรมต่อจากจิตตปรมัตถ์ในปริจเฉทที่ ๑ และเจตสิกปรมัตถ์ในปริจเฉทที่ ๒ ที่ได้แสดงไปแล้ว ดังที่ท่านพระอนุรุทธาจารย์ได้แสดงคาถาอารัมภบทเบื้องต้นในรูปสังคหวิภาค ปริจเฉทที่ ๖ นั้นดังต่อไปนี้

คาถาสังคหะที่ ๑

เอตฺตาวตา วิภตฺตา หิ    สปฺปเภทปฺปวตฺติกา
จิตฺตเจตสิกา ธมฺมา    รูปนฺทานิ ปวุจฺจติ ฯ

แปลความว่า

ธรรมทั้งหลาย คือ จิตและเจตสิก ซึ่งเป็นไปโดยประเภทและปวัตติ [อันข้าพเจ้า พระอนุรุทธาจารย์] ได้จำแนกไว้แล้ว ด้วยลำดับแห่งคำเพียงเท่านี้ [โดยพิสดารในปริจเฉทที่ ๑ ถึงปริจเฉทที่ ๕] บัดนี้ [ข้าพเจ้า] จักกล่าวถึงรูปปรมัตถ์ [ที่เข้าถึงตามลำดับ] ต่อไปรุ.๖

อธิบายความว่า

ในคาถานั้น คำว่า เอตฺตาวตา คือ คำเพียงเท่านี้ [ข้าพเจ้า พระอนุรุทธาจารย์ได้จำแนกธรรมคือจิตและเจตสิก พร้อมทั้งจำแนกเป็นประเภทและแสดงความเป็นไปไว้] เพียงเท่านี้

คำว่า ปเภทปวัตติ หมายถึง ประเภทและความเป็นไป

คำว่า สัปปเภทปวัตติกะ หมายถึง จิตและเจตสิกที่มีประเภทและความเป็นไป

สรุปความว่า ท่านพระอนุรุทธาจารย์ได้แสดงประเภทและความเป็นไปของจิตและเจตสิกโดยพิสดาร ตั้งแต่ปริจเฉทที่ ๑ จนถึงปริจเฉทที่ ๕ มาแล้ว บัดนี้จักได้แสดงประเภทและความเป็นไปของรูปปรมัตถ์และนิพพานปรมัตถ์ในปริจเฉทที่ ๖ สืบต่อไป ตามลำดับ ไม่ให้ขาดสายแห่งปรมัตถธรรม

ในอภิธัมมัตถสังคหฎีกา ชื่อว่า อภิธัมมัตถวิภาวินีรุ.๗ ท่านพระฎีกาจารย์รุ.๘ ได้แสดงอารัมภบทเบื้องต้นไว้ดังนี้

พระอนุรุทธาจารย์ ครั้นแสดงอธิบายความที่กล่าวไว้ในพระอภิธรรม ๒ อย่าง ด้วยสามารถแห่งจิตและเจตสิกอย่างนี้ก่อนแล้ว บัดนี้ เมื่อปรารภที่จะแสดงรูปและนิพพานในลำดับแห่งรูปนั้น จึงกล่าวคำเป็นต้นว่า เอตฺตาวตา ดังนี้

สรุปความว่า พระอนุรุทธาจารย์ได้กล่าวเชื่อมความแห่งปริจเฉททั้ง ๕ ที่ได้กล่าวไปแล้วกับปริจเฉทที่ ๖ ที่จะกล่าวต่อไปนี้ว่า “ก็เพราะธรรมทั้งหลาย คือ จิตและเจตสิก พร้อมทั้งประเภทและปวัตติ คือ ความเป็นไป ดังที่ได้กล่าวไปแล้วโดย ๓ ปริจเฉท [คือปริจเฉทที่ ๑ ถึงปริจเฉทที่ ๓] ด้วยอำนาจแห่งนิทเทสนัยและปฏินิทเทสนัย [คือการแสดงหัวข้อและคำอธิบาย] เป็นต้น และมีปวัตติ [คือความเป็นไปตามลำดับ] ดังที่กล่าวแล้วด้วย ๒ ปริจเฉท [กล่าวคือ ปริจเฉทที่ ๔ และปริจเฉทที่ ๕] ด้วยอำนาจแห่งปวัตติกาลและปฏิสนธิกาล อันข้าพเจ้า [พระอนุรุทธาจารย์] ได้จำแนกไว้แล้ว ด้วยลำดับแห่งคำมีประมาณเท่านี้ คือ ด้วยลำดับแห่งปริจเฉททั้ง ๕ เพียงเท่านี้ เพราะฉะนั้น บัดนี้ ข้าพเจ้า [พระอนุรุทธาจารย์] จะได้กล่าวรูปปรมัตถ์ที่มาถึงเข้าแล้วตามลำดับ” ดังนี้ ซึ่งเป็นการแสดงความเชื่อมโยงเนื้อหาสาระที่ได้แสดงไปแล้วกับเนื้อหาสาระที่จะได้แสดงต่อไป เพื่อให้เห็นลำดับความเป็นไปของเนื้อหาสาระที่ท่านรจนาขึ้นนั่นเอง

อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวี ประธานมูลนิธิแนบ มหานีรานนท์รุ.๙ ได้แสดงอารัมภบทเกี่ยวกับปริจเฉทที่ ๖ นี้ไว้ดังนี้

พระอภิธัมมัตถสังคหะ ปริจเฉทที่ ๖ ชื่อว่า รูปสังคหวิภาค แสดงปรมัตถธรรมไว้ ๒ ประการ คือ รูปปรมัตถ์และนิพพานปรมัตถ์ ซึ่งเป็นการรวบรวมปรมัตถธรรมต่อจากจิตตปรมัตถ์และเจตสิกปรมัตถ์ อันได้แสดงไว้แล้วในพระอภิธัมมัตถสังคหะ ปริจเฉทที่ ๑ และปริจเฉทที่ ๒ ต่อไปนี้จะได้แสดงเนื้อความว่าด้วยรูปปรมัตถ์ และเมื่อสิ้นสุดรูปปรมัตถ์แล้วจักแสดงนิพพานปรมัตถ์สืบต่อไป

อธิบายความว่า ปรมัตถธรรมมี ๔ ประการ คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน สำหรับจิตตปรมัตถ์และเจตสิกปรมัตถ์ ตลอดจนความเป็นไปของจิตและเจตสิกทั้งในปฏิสนธิกาล คือ ขณะอุบัติเกิดขึ้นในครั้งแรกของชีวิต และปวัตติกาล คือ ขณะที่จิตและเจตสิกกำลังดำเนินไปในภพหนึ่งชาติหนึ่งนั้น ท่านพระอนุรุทธาจารย์ได้แสดงไปแล้ว ตั้งแต่ปริจเฉทที่ ๑ จนถึงปริจเฉทที่ ๕ สำหรับในปริจเฉทที่ ๖ นี้ ท่านพระอนุรุทธาจารย์จักได้แสดงถึงรูปปรมัตถ์และนิพพานปรมัตถ์โดยลำดับต่อไป

นอกจากนี้ มูลนิธิสถานที่ไม่ตั้งอยู่ในความประมาทรุ.๑๐ ก็ได้แสดงอารัมภบทเกี่ยวกับปริจเฉทที่ ๖ ไว้ดังต่อไปนี้

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมไว้ว่า ธรรมทั้งหลายจำแนกได้เป็น ๒ ประการ คือ คือ บัญญัติธรรม และ ปรมัตถธรรม

๑. บัญญัติธรรม คือ สิ่งที่บัญญัติขึ้น สมมุติขึ้น ไม่ได้มีอยู่จริง ๆ เป็นการสมมุติขึ้นเพื่อเรียกขานและรับรู้ร่วมกันของชาวโลก เพื่อให้รู้ได้ว่าหมายถึงสิ่งใด เช่น คำว่า “คน” ผู้เรียกจะชี้ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายว่า “คน” ไม่ได้ จะต้องหมายถึงสัดส่วนทั้งหมดของมนุษย์ จึงเรียกว่า “คน หรือ มนุษย์” หรือคำว่า “เก้าอี้” ผู้เรียกจะชี้ส่วนหนึ่งส่วนใดว่าเป็นเก้าอี้ไม่ได้ ต้องชี้รวมทั้งหมด เพราะเป็นการเรียกโดยสมมุติขึ้นเท่านั้น ดังนี้เป็นต้น

บัญญัตินี้มี ๒ ประการ คือ อัตถบัญญัติ และ สัททบัญญัติ

ก. อัตถบัญญัติ เป็นการสมมุติขึ้นตามความหมายแห่งรูปร่างสัณฐาน หรือลักษณะอาการของสิ่งนั้น ๆ เช่น ภูเขา ต้นไม้ บ้าน เรือน การเดิน การวิ่ง การโบกมือ หมายถึง การจากลา หรือหมายถึง การปฏิเสธก็ได้ การพยักหน้า หมายถึง การยอมรับ หรือการให้เข้ามาหาก็ได้ เหล่านี้เป็นต้น

ข. สัททบัญญัติ เป็นการสมมุติขึ้นเพื่อใช้เรียกขานสิ่งนั้น ๆ คือ สมมุติขึ้นเพื่อให้รู้ความหมายด้วยเสียงตามอัตถบัญญัตินั้น เช่น ไม่ได้เห็นภูเขา ไม่ได้เห็นการเดิน เป็นต้น แต่เมื่อออกเสียงว่า ภูเขา พูดว่า เดิน ก็รู้ว่า ภูเขามีรูปร่างสัณฐานอย่างนั้น การเดินมีลักษณะอาการอย่างนี้ เป็นต้น

เพราะฉะนั้น ทั้งอัตถบัญญัติและสัททบัญญัติ ก็คือ ระบบการสื่อสารให้เกิดความรู้ความเข้าใจร่วมกันของหมู่มนุษย์นั่นเอง ไม่ได้มีอยู่จริง ๆ อีกตัวอย่างหนึ่ง ร่างกายของเรา ที่เรียกว่า แขน ขา จมูก ปาก ตับ ปอด ลำไส้ ฯลฯ ต่าง ๆ เหล่านี้ คนไทยก็เรียกอย่างหนึ่ง คนจีนก็เรียกไปอย่างหนึ่ง คนอินเดียก็เรียกไปอย่างหนึ่ง ฝรั่งก็เรียกไปอีกอย่างหนึ่ง ไม่เหมือนกัน แล้วแต่ใครหรือหมู่คณะไหนจะสมมุติเรียกว่าอะไร บัญญัติจึงหมายถึงการสมมุติขึ้นของหมู่มนุษย์กลุ่มหนึ่ง ๆ เพื่อใช้เรียกขานและรับรู้ร่วมกัน ไม่ได้มีอยู่จริง ๆ โดยสภาวะ ซึ่งสิ่งสมมุตินั้น มีเป็นอันมาก ที่เป็นสิ่งที่มีคุณค่าจริงอยู่ประจำโลก และมีความจำเป็นต่อการยึดถือปฏิบัติ เพื่อการอยู่ร่วมกันของสังคมโลก เช่น กฎหมาย จารีตประเพณี อักขระ ภาษา ฐานะของบุคคล เช่น พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ฯลฯ ทรัพย์สิน เงิน ทอง เป็นต้น ซึ่งมีอยู่จริงและเพื่อมิให้ประพฤติล่วงละเมิดซึ่งกันและกัน อันจะก่อให้เกิดความเสียหายและความวุ่นวายของสังคม จึงกล่าวได้ว่า เป็นความจริงโดยสมมุติ เรียกว่า สมมุติสัจจะ ส่วนหลายสิ่งหลายอย่าง เป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงและไม่มีความจำเป็นต่อการประพฤติปฏิบัติร่วมกันในสังคม เช่น คำสมมุติเรียกขานกันของคนรุ่นใหม่ แต่ละยุคแต่ละสมัย หรือคำพูดเพ้อเจ้อต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งไม่มีสภาวะรับรอง ถึงแม้จะพูดผิด ใช้ผิด ก็ไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรือวุ่นวายแก่สังคมแต่ประการใด

๒. ปรมัตถธรรม เป็นสิ่งที่มีสภาวะอันไม่วิปริตผันแปร เป็นธัมมธาตุ คือ เครื่องดำรงอยู่ของธรรม เป็นธัมมฐิติ คือ เครื่องตั้งอยู่ของธรรม เป็นธัมมนิยาม คือ เครื่องกำหนดหมายของธรรม อันเป็นสิ่งที่เป็นไปตามธรรมดาธรรมชาติของสิ่งนั้น ๆ ไม่มีใครจัดแจงปรุงแต่งหรือแต่งตั้งขึ้น ไม่มีใครสร้างขึ้น เป็นสิ่งที่มีขึ้นเป็นขึ้นโดยเหตุปัจจัย ไม่มีใครเป็นเจ้าของ

ด้วยเหตุนี้ ปรมัตถธรรม จึงหมายถึง ธรรมชาติที่มีอยู่จริง ๆ ไม่วิปริตผันแปรสภาวะไปเป็นอย่างอื่น เป็นความจริงที่มีอยู่จริง ๆ ซึ่งมีอยู่ ๔ อย่างคือ

[๑] จิตตปรมัตถ์ คือ ธรรมชาติที่รู้อารมณ์

[๒] เจตสิกปรมัตถ์ คือ ธรรมชาติที่ประกอบกับจิต ปรุงแต่งจิตให้เกิดการรู้อารมณ์ และรู้สึกเป็นไปตามสภาพของตนที่เข้าประกอบ

[๓] รูปปรมัตถ์ คือ ธรรมชาติที่แตกดับย่อยยับไปด้วยเหตุและปัจจัยที่เป็นปฏิปักษ์กัน มีความเย็นและความร้อน เป็นต้น

[๔] นิพพานปรมัตถ์ คือ ธรรมชาติที่สงบจากกิเลสและขันธ์โดยประการทั้งปวง

ทั้ง ๔ อย่างนี้ เป็นธรรมชาติที่มีอยู่จริง ๆ มีอยู่โดยความเป็นปรมัตถ์ สามารถพิสูจน์ได้ รู้ได้ด้วยปัญญา เป็นอารมณ์ของปัญญาที่เกิดจากการเรียนการศึกษา การพิจารณาหาเหตุผล และปัญญาที่เกิดจากการปฏิบัติ คือ ภาวนามัย

ปรมัตถธรรม คือ สิ่งที่มีสภาวะอันไม่วิปริตผันแปรนั้น มีสภาวะหรือมีลักษณะ ๒ อย่าง ได้แก่ สามัญญลักษณะ ๑ และวิเสสลักษณะ ๑

ก. สามัญญลักษณะ เป็นลักษณะที่เหมือนกันทั่วไปของสภาวธรรมทั้งหลาย ซึ่งธรรมทั้งหลายจะต้องเป็นไปอย่างนั้น สามัญญลักษณะ มี ๓ ประการ คือ อนิจจลักษณะ ๑ ทุกขลักษณะ ๑ และอนัตตลักษณะ ๑

[๑] อนิจจลักษณะ คือ สภาวะหรือลักษณะที่ไม่เที่ยง ไม่มั่นคง ไม่ยั่งยืน ไม่ตั้งอยู่ได้ตลอดกาล ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัยและตามกาลเวลา

[๒] ทุกขลักษณะ คือ สภาวะหรือลักษณะที่เป็นทุกข์ คือ ความทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ จำต้องแตกดับเสื่อมสลายไปตามเหตุปัจจัยและตามกาลเวล

[๓] อนัตตลักษณะ คือ สภาวะหรือลักษณะที่ว่างเปล่าปราศจากความเป็นตัวตน เป็นสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน คือ ไม่สามารถบังคับบัญชาให้เป็นไปตามที่บุคคลต้องการได้ทุกอย่าง หมายความว่า จะให้เป็นไปตามใจชอบทุกอย่างและทุกเวลา หาได้ไม่ เพราะมีสภาพไม่เที่ยงและเป็นทุกข์บีบคั้นอยู่นั่นเอง

เพราะเหตุว่า สามัญญลักษณะ มีสภาพ ๓ ประการ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ จึงได้ชื่อว่า ไตรลักษณ์

จิต เจตสิก และรูป ทั้ง ๓ อย่างนี้ ย่อมมีสภาพแห่งไตรลักษณ์ คือ สามัญญลักษณะครบบริบูรณ์ทั้ง ๓ ประการ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สำหรับพระนิพพานนั้นมีสามัญญลักษณะเพียงอย่างเดียวเท่านั้น คือ อนัตตลักษณะ อนึ่ง สภาพความเป็นอนัตตาของพระนิพพานนั้น ต่างจากความเป็นอนัตตาของจิต เจตสิก รูป กล่าวคือ สภาพความเป็นอนัตตาของจิต เจตสิก รูป นั้น เพราะมีความไม่เที่ยง ผันแปรเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย และเป็นทุกข์ถูกบีบคั้นจากเหตุปัจจัย จำต้องแตกดับสลายไป จึงมีสภาพเป็นอนัตตา คือ เป็นสภาพที่ใคร ๆ ไม่สามารถบงการบังคับบัญชาให้อยู่ในอำนาจหรือให้เป็นไปตามอำนาจได้ ย่อมเป็นไปตามเหตุปัจจัยของตนเท่านั้น คือ เกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัย ตั้งอยู่ได้ตามเหตุปัจจัย และดับลงเพราะหมดเหตุปัจจัย แม้สิ่งนั้นจะมีตัวตนปรากฏเป็นรูปร่างอยู่ก็ตาม แต่เพราะเป็นสภาพที่บังคับบัญชาให้เป็นไปตามความต้องการของใคร ๆ ไม่ได้ทั้งหมดนี่เอง จึงเรียกว่า เป็นอนัตตา

ส่วนพระนิพพานนั้น มีสภาพแห่งไตรลักษณ์เพียงอย่างเดียว คือ อนัตตา เพราะสภาพแห่งพระนิพพานนั้น มีสภาพเป็นนิจจังคือเที่ยง เพราะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดดับ มีสภาพเป็นสุขังคือเป็นสุข เพราะไม่ถูกบีบคั้นจากเหตุปัจจัย แต่ความเป็นอนัตตาของนิพพานนั้น ต่างจากความเป็นอนัตตาของจิต เจตสิก และรูป กล่าวคือ ความเป็นอนัตตาของพระนิพพานนั้น เป็นความหมายโดยตรง ได้แก่ เป็นสภาวะที่ไม่มีรูปร่างสัณฐาน ไม่มีสีสันวรรณะใด ๆ ทั้งสิ้น และเป็นสิ่งที่ไม่มีเหตุปัจจัยใด ๆ ปรุงแต่งโดยประการทั้งปวง เพราะฉะนั้น สภาพของพระนิพพานนั้น จึงไม่มีการเกิดขึ้น ไม่มีการตั้งอยู่ และไม่มีการดับไป แต่ประการใด เป็นสภาพที่มีอยู่โดยธรรมชาติ ไม่มีใครสร้างขึ้น ไม่มีการเกิดดับ เป็นสภาพที่ปราศจากสิ่งปรุงแต่ง ไม่มีความเป็นทุกข์ที่จะต้องทนต่อการบีบคั้นจากเหตุปัจจัยใด ๆ ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงกล่าวว่า พระนิพพานเป็นบรมสุข คือ ความสุขอย่างยิ่ง

สำหรับบัญญัติธรรมนั้น ไม่มีสามัญญลักษณะทั้ง ๓ ประการ คือ ไตรลักษณ์นี้แต่อย่างหนึ่งอย่างใด เพราะบัญญัติไม่ใช่ปรมัตถธรรม คือ เป็นเพียงสิ่งที่สมมุติขึ้นบัญญัติขึ้นตามโวหารของชาวโลกเท่านั้น ไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่จริงโดยสภาวะแต่อย่างใด

ข. วิเสสลักษณะ เป็นลักษณะพิเศษที่มีประจำ เป็นสภาวะจำเพาะของสิ่งนั้น ๆ เป็นสภาพพิเศษประจำตัวของปรมัตถธรรมแต่ละอย่างแต่ละชนิด ซึ่งมีไม่เหมือนกันเลย วิเสสลักษณะมี ๔ ประการ คือ ลักษณะ รส ปัจจุปัฏฐาน และปทัฏฐาน

[๑] ลักษณะ หมายถึง คุณภาพหรือคุณสมบัติ เครื่องแสดงออก หรือสภาวะโดยเฉพาะที่มีอยู่ประจำตัวของสภาวธรรมนั้น ๆ

[๒] รส หมายถึง กิจการงาน หรือหน้าที่การงานของสภาวธรรมนั้น ๆ ที่พึงกระทำตามลักษณะของตน รสนี้ยังจำแนกออกได้เป็น ๒ คือ กิจจรสและสัมปัตติรส

[๒.๑] กิจจรส หมายถึง หน้าที่อันเป็นการกระทำ เช่น ความร้อนของไฟมีหน้าที่ทำให้สิ่งต่าง ๆ สุกงอม เป็นต้น

[๒.๒] สัมปัตติรส หมายถึง หน้าที่อันเป็นคุณสมบัติที่ปรากฏขึ้น เช่น แสงของไฟ มีหน้าที่ทำให้สว่าง เป็นต้น

[๓] ปัจจุปัฏฐาน หมายถึง ผลหรืออาการที่ปรากฏจากรสนั้น ๆ คือ ผลอันปรากฏเกิดขึ้นจากรสนั่นเอง แบ่งเป็น ๒ อย่าง คือ

[๓.๑] ผลปัจจุปัฏฐาน หมายถึง ผลที่ได้รับจากการงานที่กระทำ [กิจจรส] เช่น เตโชธาตุ มีหน้าที่ทำให้สุกและทำให้ละเอียดอ่อน ผลปรากฏจากการงานนี้ คือ ความสุกงอมและความละเอียดอ่อนนั่นเอง

[๓.๒] อุปัฏฐานาการปัจจุปัฏฐาน หมายถึง อาการที่ปรากฏขึ้น อันเกิดจากคุณสมบัติ [สัมปัตติรส] ของปรมัตถธรรม เช่น จิต เจตสิก รูป มีการเกิดดับสืบต่อกันไปไม่ขาดสาย ระหว่างดวงหนึ่งกับดวงหนึ่ง คล้ายกับว่าไม่มีการเกิดดับ เป็นอาการปรากฏของจิต อุปมาเหมือนหลอดไฟฟ้าที่เปิดทิ้งไว้ จะมองเห็นว่า ไฟฟ้านี้ติดอยู่ตลอดเวลา แท้ที่จริงแล้ว ไฟนั้นมีการเกิดดับอยู่ตลอดเวลา ข้อนี้ฉันใด การเกิดดับของจิต เจตสิก รูปทั้งหลายก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน ฉันนั้น

[๔] ปทัฏฐาน หมายถึง ปัจจัยโดยตรงที่เป็นตัวการทำให้เกิดลักษณาการนั้น ๆ เรียกว่า เป็นเหตุใกล้ให้เกิด

เพราะเหตุว่า วิเสสลักษณะ มี ๔ ประการ ดังที่ได้กล่าวแล้วนี้ จึงได้ชื่อว่า ลักขณาทิจตุกกะ แปลความว่า ธรรมที่มีองค์ ๔ อันมีลักษณะ เป็นต้น

จิต เจตสิก และรูป ทั้ง ๓ อย่างนี้ มีลักขณาทิจตุกกะ คือ วิเสสลักษณะครบบริบูรณ์ทั้ง ๔ ประการ สำหรับพระนิพพานนั้นมีวิเสสลักษณะเพียง ๓ ประการเท่านั้น คือ ลักษณะ รส และปัจจุปัฏฐาน แต่ไม่มีปทัฏฐาน คือ เหตุใกล้ให้เกิด เพราะพระนิพพานนั้น เป็นธรรมที่พ้นจากเหตุปัจจัยทั้งปวงที่จะทำให้เกิดขึ้นแล้ว หมายความว่า พระนิพพานไม่มีการเกิดและการดับ ด้วยเหตุนี้ จึงไม่มีเหตุใกล้ที่จะทำให้พระนิพพานเกิดขึ้นแต่อย่างใด

ส่วนบัญญัติธรรมนั้น ย่อมไม่มีวิเสสลักษณะหรือลักขณาทิจตุกกะเหล่านี้เลย เพราะบัญญัติธรรมเป็นธรรมที่ไม่มีสภาวะประจำตัวของตนเอง เป็นเพียงสิ่งที่บัญญัติขึ้นตามความนิยมของชาวโลกในหมู่หนึ่ง สังคมหนึ่ง เท่านั้นเอง


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |