ไปยังหน้า : |
๑. สัมปัตตวิรัติ ได้แก่ การงดเว้นที่เกิดแก่บุคคลที่ไม่ได้สมาทานสิกขาบททั้งหลายไว้ ซึ่งพิจารณาความเกิดหรือความเสื่อม และความเป็นพหูสูต เป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่ง ของตนแล้ว ไม่ก้าวล่วงวัตถุที่ถึงพร้อม มีปาณาติบาต เป็นต้น ด้วยคิดว่า การกระทำอย่างนี้ไม่สมควรแก่เรา เป็นต้น เหมือนการงดเว้นของอุบาสก ชื่อว่า จักกนะ ในลังกาทวีป ฉันนั้น
๒. สมาทานวิรัติ ได้แก่ การงดเว้นที่เกิดขึ้นแก่บุคคลผู้สมาทานสิกขาบททั้งหลายไว้ ในเวลาสมาทานสิกขาบทนั่นแหละ และในกาลต่อมา ถึงตนจะต้องสละชีวิต ก็ไม่ก้าวล่วงวัตถุ มีปาณาติบาต เป็นต้น ที่ตนได้สมาทานงดเว้นไว้ เหมือนการงดเว้นของอุบาสก ผู้อาศัยอยู่ที่ภูเขา ชื่อว่า ทันตรวัฑฒมานะ ฉันนั้น
๓. สมุจเฉทวิรัติ ได้แก่ วิรตี ที่เกิดพร้อมด้วยอริยมรรค หมายความว่า จำเดิมตั้งแต่โสดาปัตติมรรคเกิดขึ้นความคิดที่ว่าเราจะฆ่าสัตว์ เป็นต้น ย่อมไม่เกิดขึ้นเลยโดยประการทั้งปวง
สัมปัตตวิรัติ กับ สมาทานวิรัติ จัดเป็น ตทังคปหาน คือ การกำจัดกิเลสด้วยอำนาจศีลในมหากุศจิต ส่วนสมุจเฉทวิรัติ จัดเป็น สมุจเฉทปหาน คือ กำจัดกิเลสด้วยอำนาจแห่งมรรคญาณ ผู้ที่ได้สมุจเฉทวิรัติแล้ว ถึงแม้ว่าจะเอาสุราผสมกับน้ำนม แล้วนำไปให้ท่านดื่ม โดยที่ท่านไม่ทราบ น้ำนมเท่านั้นย่อมล่วงลำคอเข้าไป ส่วนสุรานั้นจะไม่ล่วงลำคอลงไปอย่างเด็ดขาด เพราะอำนาจแห่งสมุจเฉทวิรัติ นั่นเอง