| |
นิมิตที่ปรากฏในเวลาใกล้จะตาย ๓ ประเภท   |  

อารมณ์ของมรณาสันนวิถี คือ วิถีจิตที่ใกล้จะตายนั้น ได้แก่ อารมณ์ ๖ ที่ปรากฏทางทวาร ๖ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธัมมารมณ์ อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึงมีสภาพที่จำแนกได้เป็น ๓ ประเภท คือ

๑. กรรมอารมณ์ หมายถึง อารมณ์ที่เกี่ยวกับกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม ซึ่งมีสภาพเป็นธัมมารมณ์ที่ปรากฏทางมโนทวารเท่านั้น อารมณ์ที่เป็นฝ่ายกุศลนั้น เช่น การทำบุญ ให้ทาน รักษาศีล การฟังธรรม หรือเจริญจิตภาวนา เป็นต้น ที่ประทับความรู้สึกไว้ในใจ ซึ่งความรู้สึกในขณะที่กระทำนั้นมีสภาพเป็นอย่างไร เมื่อมาปรากฏในเวลาใกล้จะตาย ย่อมปรากฏเป็นสภาพความรู้สึกเช่นเดียวกันนั้นแหละ ส่วนกรรมอารมณ์ที่เป็นฝ่ายอกุศลนั้น เช่น การที่ตนเคยฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม เป็นต้น หรือเคยรู้สึกสนุกสนานรื่นเริงด้วยอำนาจโลภะ เคยรู้สึกเสียใจหรือโกรธแค้นอาฆาต ด้วยอำนาจโทสะ หรือเคยรู้สึกลังเลสงสัย ด้วยอำนาจโมหะ เป็นต้น เมื่อเวลาใกล้จะตาย ความรู้สึกเช่นนั้นย่อมมาปรากฏทางมโนทวารอย่างเดียวเท่านั้น เพราะเป็นความรู้สึกที่เกิดกับใจและประทับอยู่ในใจ ไม่สามารถประทับอยู่ในปัญจทวาร คือ ทวารทั้ง ๕ อย่างใดอย่างหนึ่งได้ ถ้ากรรมอารมณ์เป็นฝ่ายกุศล ย่อมนำไปสู่สุคติ ถ้ากรรมอารมณ์เป็นฝ่ายอกุศล ย่อมนำไปสู่ทุคติ

๒. กรรมนิมิตอารมณ์ หมายถึง อารมณ์ที่เกี่ยวกับเครื่องหมายหรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องในการกระทำกรรม ซึ่งมีสภาพเป็นอารมณ์ได้ ๖ อย่าง ได้แก่ รูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ และธัมมารมณ์ อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เกี่ยวเนื่องด้วยการกระทำของตน ที่บุคคลนั้นเคยได้กระทำมาแล้ว ด้วยกาย วาจา ใจ ย่อมจะปรากฏเป็นนิมิตเครื่องหมายให้รับรู้ได้ในเวลาใกล้จะตาย ถ้าเป็นอารมณ์ฝ่ายกุศล ซึ่งเกี่ยวกับการทำบุญ ก็ปรากฏสภาพเป็นอารมณ์ฝ่ายดี เช่น เห็นโบสถ์วิหารที่เคยทำวัตรสวดมนต์ เห็นโบสถ์วิหารที่ตนเคยสร้างถวายแก่พระสงฆ์ เห็นโรงเรียน โรงพยาบาล ที่ตนเคยบริจาคสร้างให้ หรือเห็นพระภิกษุสามเณรที่ตนเคยเป็นเจ้าภาพบวชให้ หรือที่ตนเคยอุปัฏฐาก เคยใส่บาตร เคยถวายจตุปัจจัย เห็นพระพุทธรูปที่ตนเคยสร้างถวาย เป็นต้น ส่วนกรรมนิมิตอารมณ์ที่เป็นฝ่ายอกุศล ซึ่งเกี่ยวกับการทำบาปนั้น ย่อมปรากฏสภาพเป็นอารมณ์ที่ไม่ดี เช่น เห็นแห อวน หอก ดาบ ปืนผาหน้าไม้ หรือเครื่องประหารต่าง ๆ ที่ตนเคยใช้ประหารหรือเบียดเบียนสัตว์ หรือใช้ฆ่าคนอื่น เห็นสัตว์ที่ตนเคยฆ่า เห็นทรัพย์สิ่งของที่ตนเคยลักโขมยฉ้อโกงเอามา เห็นบุรุษหรือสตรีที่ตนเคยล่วงกาเมสุมิจฉาจาร เห็นบุคคลที่ตนเคยด่าว่า ใส่ร้ายป้ายสี พูดคำหยาบ โกหกหลอกลวง หรือเห็นสุราเมรัยสิ่งเสพติดต่าง ๆ ที่ตนเคยเสพ เป็นต้น มรณาสันนวิถีย่อมหน่วงเอานิมิตอย่างใดอย่างหนึ่งที่ปรากฏนั้นมาเป็นอารมณ์ กรรมนิมิตอารมณ์ทั้งฝ่ายกุศลและฝ่ายอกุศลดังกล่าวมาแล้วนั้น ถ้าเป็นแต่เพียงนึกถึงหรือคิดถึงสิ่งต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว นิมิตอารมณ์นั้น ๆ ย่อมปรากฏทางมโนทวาร ซึ่งมีสภาพเป็นอดีตธัมมารมณ์เท่านั้น แต่ถ้าได้เห็นด้วยตาจริง ๆ หรือได้ยิน ได้กลิ่น รู้รส ได้ถูกต้องสัมผัสที่เป็นความรู้สึกจริง ๆ ย่อมเป็นกรรมนิมิตอารมณ์ที่ปรากฏทางปัญจทวาร คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และเป็นปัจจุบันอารมณ์อย่างเดียวเท่านั้น กรรมนิมิตอารมณ์ที่เป็นฝ่ายกุศล ย่อมนำไปสู่สุคติ ส่วนกรรมนิมิตอารมณ์ที่เป็นฝ่ายอกุศล ย่อมนำไปสู่ทุคติ

๓. คตินิมิตอารมณ์ หมายถึง อารมณ์ที่เป็นภพภูมิที่บุคคลนั้นจะไปเกิด คือ เป็นนิมิตเครื่องหมายที่จะนำบุคคลไปสู่สุคติหรือทุคติ คตินิมิตอารมณ์ที่เป็นฝ่ายกุศล ที่เกี่ยวกับผลของกรรมที่บุคคลนั้นได้กระทำไว้ ได้แก่ พระราชวัง วิมาน ทิพยสมบัติ เทพบุตร เทพธิดา หรือเห็นครรภ์มารดา เห็นโบสถ์วัด เห็นบ้านเมือง เห็นผู้คน เห็นภิกษุสามเณร เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่เป็นอารมณ์ที่ดี ถ้าเป็นคตินิมิตอารมณ์ที่เป็นฝ่ายอกุศล ย่อมปรากฏเป็นสิ่งที่ไม่ดี เช่น เปลวไฟ ถ้ำอันมืดมิด เหวลึกอันน่ากลัว ป่าดงดิบ หรือเห็นนายนิรยบาล เห็นสัตว์นรก เห็นเปรต อสุรกาย หรือสัตว์เดรัจฉาน เป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งล้วนแต่เป็นอารมณ์ที่ไม่ดี น่าเกลียดน่ากลัว คตินิมิตอารมณ์นั้น ย่อมปรากฏได้ทางทวารทั้ง ๖ ทวารใดทวารหนึ่ง แต่โดยมากแล้วย่อมปรากฏทางจักขุทวารและทางมโนทวาร คือ เห็นทางตา หรือรู้สึกทางใจ เป็นส่วนมาก และจัดเป็นปัจจุบันอารมณ์ คือ เป็นอารมณ์ที่ปรากฏขึ้นในขณะนั้น

ธรรมดาสัตว์ทั้งหลายที่ยังมิได้เป็นพระอรหันต์นั้น จะเป็นอบายสัตว์ คือ นรก เปรต อสุรกาย เดรัจฉานก็ตาม หรือเป็นสุคติบุคคล คือ มนุษย์ เทวดา พรหมก็ตาม เมื่อเวลาใกล้จะตาย ย่อมมีนิมิต ๓ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งปรากฏขึ้น กล่าวคือ กรรมอารมณ์ กรรมนิมิตอารมณ์ หรือคตินิมิตอารมณ์ มาปรากฏเฉพาะหน้า ทางทวาร ๖ ทวารใดทวารหนึ่ง ทุกบุคคลไป เพราะฉะนั้น พระอนุรุทธาจารย์จึงแสดงไว้ในอภิธัมมัตถสังคหปกรณ์รุ.๖๗๙ ว่า “ตถา จ มรนฺตานํ ปน มรณกาเล กมฺมํ วา กมฺมนิมิตฺตํ วา คตินิมิตฺตํ วา ฉนฺนํ ทฺวารานํ อญฺตฺรสฺมึ ปจฺจุปฏฺาติ” แปลความว่า อนึ่ง ก็ในเวลาที่สัตว์ทั้งหลายจะตายลง นิมิตอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ กรรมอารมณ์ กรรมนิมิตอารมณ์ หรือคตินิมิตอารมณ์ ย่อมปรากฏแก่ทวารทั้ง ๖ [ทวารใดทวารหนึ่ง ในมรณาสันนวิถี คือ วิถีจิตที่ใกล้จะตาย อันเป็นวิถีสุดท้าย ก่อนที่จุติจิตจะดับลง]


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |