| |
โทษของอเหตุกจิต   |  

อเหตุกจิต นอกจากเป็นคุณประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลาย ดังกล่าวแล้ว แต่สภาพของโลกียธรรมทั้งหลาย สิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งนั้น ย่อมมีโทษเป็นของคู่กันเสมอ ไม่มากก็น้อย ขึ้นอยู่กับว่า สิ่งนั้น จะแปดเปื้อนด้วยมลทินคือกิเลสหรือไม่เท่านั้น ฉะนั้น เพื่อเป็นการป้องกันโทษที่จะพึงมีพึงเกิดขึ้นจากอเหตุกจิต อันตั้งอยู่ในฐานะเป็นบ่อเกิดของโทษอีกทีหนึ่ง ซึ่งมิใช่โทษโดยตรง คือ เป็นโทษที่เกิดขึ้นจากการรับรู้อารมณ์ของอเหตุกจิตนั่นเอง แล้วเป็นปัจจัยให้เกิดอโยนิโสมนสิการ อันเป็นปัจจัยเกิดอกุศลจิตอีกทีหนึ่ง ดังนี้

๑. เมื่อได้ประสบกับอกุศลวิบากทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายแล้ว ถ้าบุคคลนั้นมีอโยนิโสมนสิการแล้ว ย่อมทำให้เกิดโลภมูลจิต คือ ความยินดีพอใจติดใจในอารมณ์นั้นโดยความเป็นปริกัปปอิฏฐารมณ์บ้าง หรือเกิดโทสมูลจิต คือ มีความไม่ชอบใจ อิจฉาริษยา ตระหนี่ หรือเดือดร้อนใจ ผลักไส หรือกระทำการประทุษร้ายตอบแทนต่ออารมณ์นั้น ๆ ให้พ้นไป หรือเกิดโมหมูลจิต คือ ความลุ่มหลงมัวเมา หรือลังเลสงสัย มีสภาพคลุมเครือ ตัดสินใจไม่เด็ดขาด ที่เป็นดังนี้ก็เพราะขาดการพิจารณาโดยอุบายอันแยบคาย จึงเป็นต้นเหตุให้เกิดอกุศลกรรมต่าง ๆ ขึ้นใหม่อีก เพราะอาศัยการรับรู้อนิฏฐารมณ์ที่เป็นผลของอกุศล นั่นเอง

๒. เมื่อได้ประสบกับกุศลวิบาก ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ถ้าบุคคลนั้นมีอโยนิโสมนสิการแล้ว ย่อมทำให้เกิดโลภมูลจิตคือความยินดีพอใจติดใจในอารมณ์นั้นโดยความเป็นสภาวอิฏฐารมณ์ หรือเกิดโทสมูลจิต เกิดความไม่ชอบใจ อิจฉาริษยา ตระหนี่ หรือเดือดร้อนใจ ผลักไส หรือกระทำการประทุษร้ายต่ออารมณ์นั้นให้พ้นไปด้วยอำนาจแห่งโทสะ หรือเกิดโมหมูลจิต เกิดความลุ่มหลงมัวเมา หรือรวนเรสงสัย มีสภาพคลุมเครือ ตัดสินใจไม่เด็ดขาด ในเมื่อได้ประสบกับอิฏฐารมณ์นั้น เพราะขาดการพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายนั่นเอง จึงเป็นต้นเหตุให้เกิดอกุศลกรรมต่าง ๆ เพราะอาศัยการรับรู้อิฏฐารมณ์ที่เป็นผลของกุศลนั่นเอง

กุศลวิบากที่ปรากฏทางทวารทั้ง ๕ นั้น แม้จะเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิตของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย [โดยเฉพาะในกามภูมิ] ให้มีความชื่นฉ่ำใจ เป็นแรงกระตุ้นให้มีชีวิตชีวา ให้มีแรงสู้ชีวิตต่อไปก็ตาม แต่ถ้าบุคคลขาดการพิจารณาโดยอุบายอันแยบคาย ที่เรียกว่า โยนิโสมนสิการ แล้ว ย่อมเป็นภัยอันน่ากลัว เพราะเป็นบ่อเกิดแห่งอกุศลธรรมต่าง ๆ ได้มากมาย ดังที่ปรากฏให้เห็นโดยทั่วไป เช่น คนรูปสวย รวยทรัพย์ เป็นต้น ก็เป็นอารมณ์ให้เกิดกิเลสทั้งแก่ตนเองและบุคคลอื่นมากมาย

๓. ปัญจทวาราวัชชนจิตและมโนทวาราวัชชนจิต ถึงแม้จะเป็นจิตที่เกิดขึ้นเพื่อช่วยในการเปิดประตูให้จิตรับรู้อารมณ์ หรือเป็นจิตที่หน่วงเหนี่ยวอารมณ์มาสู่ทวารนั้น ๆ ก็ตาม แต่ถ้าพิจารณาในเรื่องโทษของวัฏฏะแล้ว เมื่อยังมีจิต ๒ ดวงนี้เกิดขึ้นวัฏฏสงสารของบุคคลนั้น ยังเป็นไปอยู่โดยไม่สิ้นสุด เพราะเมื่อจิต ๒ ดวงนี้เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเป็นปัจจัยให้อกุศลจิต หรือโลกียกุศลจิต เกิดขึ้นได้สม่ำเสมอ ซึ่งอกุศลจิตและโลกียกุศลจิตนั้น ซึ่งล้วนแต่ส่งผลเป็นวิบากวัฏฏ์ ให้สัตว์เวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏฏ์ด้วยกันทั้งสิ้น

ด้วยเหตุนี้ บัณฑิตผู้มีปัญญา ควรพิจารณาโดยความเป็นกลางวางเฉยต่อสภาพอารมณ์ที่ได้รับทางทวารทั้ง ๖ โดยมีโยนิโสมนสิการกำกับอยู่เสมอ เมื่อทำได้อย่างนี้ ย่อมไม่ตกเป็นทาสของกิเลสที่เกิดขึ้นโดยอาศัยการรับรู้อารมณ์ของวิญญาณจิตทั้งหลายทางทวาร ๖ ซึ่งมีอเหตุกจิตเป็นผู้มีบทบาทสำคัญนั้นเป็นปัจจัย ย่อมรักษาตนให้อยู่รอดปลอดภัยได้


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |