| |
พระพุทธวจนะเกี่ยวกับสัมมาวาจา   |  

อภัยราชกุมารสูตร

[ว่าด้วยเรื่องสัมมาวาจา]

ครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน เขตพระนครราชคฤห์ ครั้งนั้น พระราชกุมารพระนามว่า อภัย เสด็จเข้าไปหานิครนถ์นาฏบุตรถึงที่อยู่ ทรงอภิวาทนิครนถ์นาฏบุตรแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง

นิครนถ์นาฏบุตรได้ทูลอภัยราชกุมารว่า ไปเถิด พระราชกุมาร เชิญพระองค์ทรงยกวาทะ [กล่าวโต้ตอบ] แก่พระสมณะโคดม เมื่อพระองค์ทรงยกวาทะแก่พระสมณะโคดมอย่างนี้แล้ว กิตติศัพท์อันงามของพระองค์จักระบือไปว่า อภัยราชกุมารได้ทรงยกวาทะแก่สมณะโคดมผู้มีฤทธิ์ มีอานุภาพมากอย่างนี้ได้

อภัยราชกุมารตรัสถามว่า ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าจะยกวาทะแก่พระสมณะโคดม ผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากอย่างนี้ได้อย่างไร นิครนถ์นาฏบุตรทูลว่า จงทูลถามพระสมณะโคดมอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระตถาคตพึงตรัสพระวาจาอันไม่เป็นที่ชอบใจของคนอื่นบ้างหรือหนอ ถ้าพระสมณะโคดมถูกถามอย่างนี้แล้ว จะทรงพยากรณ์อย่างนี้ว่า ดูกรราชกุมาร ตถาคตพึงกล่าววาจาอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของคนอื่น ดังนี้ไซร้ พระองค์พึงทูลพระสมณะโคดมอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นอย่างนั้น การกระทำของพระองค์จะต่างอะไรจากปุถุชนเล่า เพราะแม้ปุถุชนก็พึงกล่าววาจาอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของคนอื่น ถ้าพระสมณะโคดมถูกถามอย่างนี้แล้ว ก็จะทรงพยากรณ์อย่างนี้ว่า ดูกรราชกุมาร ตถาคตไม่พึงกล่าววาจาอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของคนอื่น ดังนี้ไซร้ เมื่อเป็นอย่างนั้น พระองค์พึงทูลพระสมณะโคดมอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะเหตุไร พระองค์จึงทรงพยากรณ์พระเทวทัตต์ว่า เทวทัตต์จักบังเกิดในอบาย จักเกิดในนรก ตั้งอยู่สิ้นกัปหนึ่ง เป็นผู้อันใคร ๆ เยียวยาไม่ได้ ดังนี้ เพราะพระวาจาของพระองค์นั้น พระเทวทัตต์จึงโกรธ เสียใจ ดูกรพระราชกุมาร พระสมณะโคดมถูกพระองค์ทูลถามปัญหา ๒ เงื่อนนี้แล้ว ย่อมไม่อาจกลืนเข้า ไม่อาจคายออกได้เลย เปรียบเหมือนกระจับเหล็กติดอยู่ในคอของบุรุษ บุรุษนั้นไม่อาจกลืนเข้า ไม่อาจคายออกได้ ฉันใด ดูกรพระราชกุมาร พระสมณะโคดมก็ฉันนั้น ถูกพระองค์ทูลถามปัญหา ๒ เงื่อนนี้แล้ว จะไม่อาจกลืนเข้า ไม่อาจคายออกได้เลย

อภัยราชกุมารรับคำของนิครนถ์นาฏบุตรแล้ว เสด็จลุกจากอาสนะทรงอภิวาทนิครนถ์นาฏบุตร ทรงทำประทักษิณแล้ว ได้เสด็จมุ่งหน้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระพุทธเจ้าแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้ทรงแหงนดูพระอาทิตย์ ทรงพระดำริว่า วันนี้มิใช่กาลที่จะยกวาทะแก่พระพุทธเจ้า วันพรุ่งนี้เถิด เราจักยกวาทะแก่พระพุทธเจ้าในนิเวศน์ของเรา แล้วจึงกราบทูลพระพุทธเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระพุทธเจ้ามีพระองค์เป็นที่ ๔ [นิมนต์ไป ๔ รูป รวมกับพระพุทธเจ้าด้วย ๑ พระองค์] จงทรงรับภัตตาหารของหม่อมฉัน เพื่อเสวยในวันพรุ่งนี้ พระพุทธเจ้าทรงรับด้วยพระดุษณียภาพ ลำดับนั้น อภัยราชกุมารทรงทราบว่า พระพุทธเจ้าทรงรับนิมนต์แล้ว จึงเสด็จลุกจากอาสนะ ถวายบังคมพระพุทธเจ้า ทำประทักษิณแล้วเสด็จหลีกไป เมื่อล่วงราตรีนั้นไป ถึงเวลาเช้า พระพุทธเจ้าทรงนุ่งห่มสบงจีวร ทรงอุ้มบาตร เสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ของอภัยราชกุมาร ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้ ลำดับนั้น อภัยราชกุมารทรงอังคาสพระพุทธเจ้าด้วยขาทนียะโภชนียาหารอันประณีต ให้อิ่มหนำเพียงพอด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง เมื่อพระพุทธเจ้าเสวยเสร็จ ทรงชักพระหัตถ์ออกจากบาตรแล้ว อภัยราชกุมารทรงถืออาสนะต่ำ [นั่ง ณ อาสนะต่ำ] อันหนึ่งประทับนั่ง ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง

[วาจาไม่เป็นที่รัก]

อภัยราชกุมารครั้นประทับ ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลถามพระพุทธเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระตถาคตจะพึงตรัสพระวาจา อันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของคนอื่นบ้างหรือหนอ พระพุทธเจ้าตรัสว่า ดูกรราชกุมาร ในปัญหาข้อนี้ จะวิสัชนาโดยส่วนเดียวมิได้

[อภัยราชกุมาร] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะปัญหาข้อนี้ พวกนิครนถ์ได้ฉิบหายแล้ว

[พระพุทธเจ้า] ดูกรราชกุมาร เหตุไฉน พระองค์จึงตรัสอย่างนี้เล่า ?

[อภัยราชกุมาร] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส หม่อมฉันเข้าไปหานิครนถ์นาฏบุตรถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง นิครนถ์นาฏบุตรได้บอกว่า ไปเถิด พระราชกุมาร เชิญพระองค์เสด็จไปยกวาทะแก่พระสมณะโคดมเถิด เมื่อพระองค์ยกวาทะแก่พระสมณะโคดมอย่างนี้ กิตติศัพท์อันงามของพระองค์จักระบือไปว่า อภัยราชกุมารได้ยกวาทะแก่พระสมณะโคดม ผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากอย่างนี้ เมื่อนิครนถ์นาฏบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว หม่อมฉันได้ถามว่า ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าจะยกวาทะแก่พระสมณะโคดมผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากอย่างนี้ได้อย่างไร

[นิครนถ์นาฏบุตร] ไปเถิด พระราชกุมาร เชิญพระองค์เสด็จเข้าไปเฝ้าพระสมณะโคดมถึงที่ประทับ แล้วจงทูลถามอย่างนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระตถาคตจะพึงตรัสพระวาจาอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่นบ้างหรือหนอ ถ้าพระสมณะโคดมถูกพระองค์ทูลถามอย่างนี้แล้ว ย่อมทรงพยากรณ์อย่างนี้ว่า ดูกรราชกุมาร ตถาคตพึงกล่าววาจาอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ดังนี้ไซร้ พระองค์พึงทูลพระสมณะโคดมอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นอย่างนั้น การกระทำของพระองค์จะต่างอะไรจากปุถุชนเล่า เพราะแม้ปุถุชนย่อมกล่าววาจาอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ถ้าพระสมณะโคดมถูกพระองค์ทูลถามอย่างนี้แล้ว จะทรงพยากรณ์อย่างนี้ว่า ดูกรราชกุมาร ตถาคตไม่พึงกล่าววาจา อันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ดังนี้ไซร้ พระองค์พึงทูลพระสมณะโคดมอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นอย่างนั้น ทำไมพระองค์จึงทรงพยากรณ์พระเทวทัตต์ว่า เทวทัตต์จักเกิดในอบาย จักเกิดในนรก ตั้งอยู่สิ้นกัปหนึ่ง เป็นผู้อันใครๆ เยียวยาไม่ได้ เพราะพระวาจาของพระองค์นั้นเป็นเหตุ ทำให้พระเทวทัตต์โกรธ เสียใจ ดูกรพระราชกุมาร พระสมณะโคดมถูกพระองค์ทูลถามปัญหา ๒ เงื่อนนี้แล้ว ย่อมไม่อาจกลืนเข้า ไม่อาจคายออกได้เลย เปรียบเหมือนกระจับเหล็กติดอยู่ในคอของบุรุษ บุรุษนั้นย่อมไม่อาจกลืนเข้า ไม่อาจคายออกได้ ฉันใด ดูกรพระราชกุมาร พระสมณะโคดมก็ฉันนั้น ถูกพระองค์ทูลถามปัญหา ๒ เงื่อนนี้แล้วไม่อาจกลืนเข้า ไม่อาจคายออกได้เลย

[วาจาที่ประกอบด้วยประโยชน์]

ขณะนั้นแล ได้มีเด็กอ่อนยังนอนแบเบาะ นอนอยู่บนตักของอภัยราชกุมาร ลำดับนั้นพระพุทธเจ้าได้ตรัสกะอภัยราชกุมารว่า ดูกรราชกุมาร ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ถ้ากุมารนี้อาศัยความเผลอของพระองค์ หรือของหญิงพี่เลี้ยง พึงนำไม้หรือก้อนกรวดมาใส่ในปาก พระองค์จะพึงทำเด็กนั้นอย่างไร

[อภัยราชกุมาร] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันจะพึงนำออกเสีย ถ้าหม่อมฉันไม่อาจนำออกได้แต่ทีแรก หม่อมฉันก็จะเอามือซ้ายประคองศีรษะแล้วงอนิ้วมือขวาควักไม้หรือก้อนกรวดพร้อมด้วยเลือดออกเสีย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะหม่อมฉันมีความเอ็นดูในกุมาร

[พระพุทธเจ้า] ดูกรราชกุมาร ตถาคตก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมรู้วาจาที่ไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และวาจานั้นไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น อนึ่ง ตถาคตย่อมรู้วาจาที่จริง ที่แท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และวาจานั้นไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น อนึ่ง ตถาคตย่อมรู้วาจาที่จริง ที่แท้ และประกอบด้วยประโยชน์ แต่วาจานั้นไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ในข้อนั้น ตถาคตย่อมรู้กาลที่จะพยากรณ์วาจานั้น อนึ่ง ตถาคตย่อมรู้วาจาที่ไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ แต่วาจานั้นเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น อนึ่ง ตถาคตย่อมรู้วาจาที่จริง ที่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ แต่วาจานั้นเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น อนึ่ง ตถาคตย่อมรู้วาจาที่จริง ที่แท้ และประกอบด้วยประโยชน์และวาจานั้นเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ในข้อนั้น ตถาคตย่อมรู้กาลที่จะพยากรณ์วาจานั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะตถาคตมีความเอ็นดูในสัตว์ทั้งหลาย

[พุทธปฏิภาณ]

[อภัยราชกุมาร] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กษัตริย์ผู้บัณฑิตก็ดี พราหมณ์ผู้บัณฑิตก็ดี คฤหบดีผู้บัณฑิตก็ดี สมณะผู้บัณฑิตก็ดี ผูกปัญหาแล้วเข้ามาเฝ้าทูลถามพระตถาคต การพยากรณ์ปัญหาของบัณฑิตเหล่านั้น พระพุทธเจ้าทรงตรึกด้วยพระหฤทัยไว้ก่อนว่า บัณฑิตทั้งหลายจักเข้ามาเฝ้าเราแล้วทูลถามอย่างนี้ เราอันบัณฑิตเหล่านั้นทูลถามอย่างนี้แล้ว จักพยากรณ์อย่างนี้ หรือว่าพยากรณ์นั้นมาปรากฏแจ่มแจ้งแก่พระตถาคตโดยทันที

[พระพุทธเจ้า] ดูกรราชกุมาร ถ้าอย่างนั้น ในข้อนี้ อาตมภาพจักกลับถามพระองค์บ้าง ข้อนี้ควรแก่พระองค์อย่างใด พระองค์พึงพยากรณ์ข้อนั้นอย่างนั้น ดูกรราชกุมาร พระองค์จะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน พระองค์เป็นผู้ฉลาดในส่วนน้อยใหญ่ของรถหรือ ?

[อภัยราชกุมาร] อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า หม่อมฉันเป็นผู้ฉลาดในส่วนน้อยใหญ่ของรถ [มีความรู้ในส่วนประกอบของรถเป็นอย่างดี]

[พระพุทธเจ้า] ดูกรราชกุมาร พระองค์จะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ชนทั้งหลายเข้าไปเฝ้าพระองค์แล้ว พึงทูลถามอย่างนี้ว่า ส่วนน้อยใหญ่ของรถอันนี้ ชื่ออะไร การพยากรณ์ปัญหาของชนเหล่านั้น พระองค์พึงตรึกด้วยใจไว้ก่อนว่า ชนทั้งหลายเข้ามาหาเราแล้ว จักถามอย่างนี้ เราอันชนเหล่านั้นถามอย่างนี้แล้ว จักพยากรณ์อย่างนี้ หรือว่า การพยากรณ์นั้นพึงแจ่มแจ้งแก่พระองค์โดยทันที

[อภัยราชกุมาร] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะหม่อมฉันเป็นทหารรถ รู้จักดี ฉลาดในส่วนน้อยใหญ่ของรถ ส่วนน้อยใหญ่ของรถทั้งหมด หม่อมฉันทราบดีแล้ว เพราะฉะนั้น การพยากรณ์ปัญหานั้นแจ่มแจ้งแก่หม่อมฉันโดยทันทีทีเดียว

[พระพุทธเจ้า] ฉันนั้นเหมือนกันแล ราชกุมาร กษัตริย์ผู้บัณฑิตก็ดี พราหมณ์ผู้บัณฑิตก็ดี คฤหบดีผู้บัณฑิตก็ดี สมณะผู้บัณฑิตก็ดี ผูกปัญหาแล้วเข้ามาถามตถาคต การพยากรณ์ปัญหานั้น ย่อมแจ่มแจ้งกะตถาคตโดยทันที ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะความที่ธรรมธาตุนั้น ตถาคตแทงตลอดดีแล้ว การพยากรณ์ปัญหานั้น จึงแจ่มแจ้งกะตถาคตโดยทันที

[อภัยราชกุมารแสดงตนเป็นอุบาสก]

เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว อภัยราชกุมารได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งยิ่งนัก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด ด้วยหวังว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูป เป็นต้นฉันใด แม้พระพุทธเจ้าย่อมทรงประกาศพระธรรมโดยอเนกปริยาย ฉันนั้นเหมือนกัน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันขอถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ ขอพระพุทธเจ้าจงทรงจำหม่อมฉันว่า เป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ดังนี้แล


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |