| |
อุบายในการละพยาบาท ๖ ประการ   |  

๑. เมตตานิมิตตัสสะ อุคคะโห เรียนรู้ในเมตตานิมิต หมายความว่า บุคคลผู้ต้องการแก้ไขนิสัยมักโกรธให้เบาบางและหายไปได้นั้น ต้องเป็นผู้ที่ทำการศึกษาเรียนรู้ในวิธีการเจริญเมตตาภาวนาโดยประการต่าง ๆ ให้ละเอียดถี่ถ้วนทุกขั้นตอนของเมตตาภาวนา เช่น ลักษณะ หน้าที่ อาการปรากฏ เหตุใกล้ เหตุไกล ปฏิปักษ์ของเมตตา และบุคคลที่ควรแผ่เมตตาให้ตามลำดับ เพื่อบรรเทาความโกรธ ความอาฆาตพยาบาทจองเวรให้เบาบางลง

๒. เมตตาภาวะนานุโยโค หมั่นประกอบความเพียรในเมตตาภาวนาอยู่เนือง ๆ หมายความว่า บุคคลผู้ต้องการแก้ไขนิสัยมักโกรธให้เบาบางและหายไปนั้น ต้องหมั่นเจริญเมตตาภาวนาอยู่เสมอ ไม่ทอดทิ้งธุระ หรือไม่ทำ ๆ หยุด ๆ โดยไม่ต่อเนื่อง ต้องทำอย่างต่อเนื่องจนเป็นความปกติในชีวิตประจำวัน ตลอดจนถึงสามารถเจริญเมตตาได้ทุกลมหายใจเข้าออก จิตใจจึงจะมีความเยือกเย็นลงและเกิดเมตตาในบุคคลทั้งหลาย เมื่อปฏิบัติเช่นนี้ ความโกรธ ความหงุดหงิดรำคาญใจ ตลอดถึงความอาฆาตพยาบาทจองเวร จึงจะสงบลงได้

๓. กัมมัสสะกะตาปัจจะเวกขะณา หมั่นพิจารณาการที่สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน หมายความว่า การพิจารณาถึงกฎแห่งกรรมอยู่เสมอ ๆ ว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของของตน มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งที่อาศัย ใครทำกรรมอันใดไว้ จะดีหรือชั่วก็ตาม เขาจักเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น โดยไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์หรือหยิบยื่นให้บุคคลอื่นรับแทนกันได้ เมื่อได้พิจารณาเช่นนี้อยู่เสมอ ๆ ย่อมเกิดความรู้ความเข้าใจ เกิดปัญญารู้ความเป็นไปของสัตว์ทั้งหลายตามความเป็นจริง อนึ่ง ความโกรธอาฆาตพยาบาทจองเวรก็เป็นกรรมอย่างหนึ่งที่จะติดตามตนไปในภพภูมิต่าง ๆ และมอบความทุกข์ให้เป็นผลตอบแทน ถ้าตนยังละไม่ได้ก็จะต้องรับผลเป็นทุกข์อยู่ร่ำไป และสั่งสมนิสัยมักโกรธให้หนาแน่นยิ่งขึ้น เมื่อคิดพิจารณาอย่างนี้แล้ว ย่อมบรรเทาความโกรธอาฆาตพยาบาทจองเวรลงได้

๔. ปะฏิสังขานะพะหุละตา เป็นผู้มากด้วยการพิจารณา หมายความว่า การที่บุคคลจะบรรเทาความโกรธอาฆาตพยาบาทจองเวรให้เบาบางและหายจากนิสัยมักโกรธได้นั้น บุคคลต้องเป็นผู้ฝึกฝนสติและปัญญาให้เกิดขึ้นในจิตใจอยู่เสมอ ด้วยการหมั่นพิจารณาสภาวธรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันที่ได้ประสบพบเข้าทางทวารต่าง ๆ ตลอดทั้งสภาพแวดล้อม สภาพสังคม และสภาพบุคคลต่าง ๆ ที่ประสบพบเห็น เพื่อให้รู้เหตุผลของสิ่งที่ปรากฏขึ้นนั้น ๆ โดยความเป็นจริง เป็นการลับสติปัญญาให้คมกล้าขึ้นเรื่อย ๆ ความโกรธอาฆาตพยาบาทจองเวรก็จะสงบระงับและหายไปในที่สุด

๕. กัล๎ยาณะมิตตะตา เลือกคบแต่กัลยาณมิตร หมายความว่า แม้ว่าบุคคลจะต้องอยู่ร่วมกับบุคคลหลากหลาย ทั้งคนดีและคนพาล หรือแม้จะต้องสมาคมกับเหล่าคนพาลอยู่เสมอโดยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ตาม แต่ต้องวางใจให้ยินดีและสนิทสนมกับเหล่าบัณฑิตผู้เป็นกัลยาณมิตร ผูกใจให้อยู่กับบัณฑิต และทำใจให้นิยมชมชอบในถ้อยคำของบัณฑิต ไม่ยินดีพอใจในถ้อยคำของเหล่าคนพาล มองเห็นคนพาลเป็นเหมือนอสรพิษร้ายหรือยาพิษ ที่จะต้องป้องกันและหลีกเลี่ยงให้ห่างไกล เพื่อมิให้เป็นอันตรายต่อจิตใจของตนเอง เมื่อปฏิบัติได้เช่นนี้ ย่อมสามารถป้องกันจิตใจมิให้ความโกรธอาฆาตพยาบาทจองเวรครอบงำได้

๖. สัปปายะกะถา การกล่าวหรือการฟังถ้อยคำที่เป็นสัปปายะ หมายความว่า เวลาตนเองจะพูดคำใดออกมา ก็ต้องคิดพิจารณาให้ถี่ถ้วนถึงความเหมาะสม ตลอดถึงคุณและโทษของคำพูดนั้นเสียก่อนแล้วกลั่นกรองให้พูดแต่คำที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับพยาบาท ไม่พาดพิงถึงสิ่งที่จะทำให้เกิดความพยาบาทออกมา พูดแต่คำที่ให้เกิดเมตตา เกิดความรักความสามัคคี เกิดความสงสารเห็นอกเห็นใจกัน ให้คลายจากความอาฆาตพยาบาทจองเวรในบุคคลอื่น เวลาฟังถ้อยคำของบุคคลอื่น ก็ต้องเลือกสรรฟังแต่ถ้อยคำที่มีสาระแก่นสาร ถ้อยคำที่เกี่ยวเนื่องกับเมตตาธรรม พยายามหลีกเลี่ยงถ้อยคำที่ก่อให้เกิดความอาฆาตพยาบาทจองเวรกัน หรือแม้จำเป็นจะต้องรับฟัง ก็ต้องวางใจให้ถูกต้อง เพียงแต่ฟังหูไว้หูและให้ผ่านเลยหูไปเท่านั้น ไม่เก็บมาใส่ใจให้เกิดความทุกข์ร้อนใจหรือให้เกิดความอาฆาตพยาบาทจองเวรตามถ้อยคำนั้นไปด้วย


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |