| |
ลักขณาทิจตุกะของโลภเจตสิก   |  

บัณฑิตผู้มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายแล้ว ย่อมสามารถกำหนดพิจารณาเรียนรู้สภาวะของโลภเจตสิก อันเป็นปรมัตถธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งนับเนื่องในสังขารขันธ์ เพราะเป็นสภาวธรรมที่ปรุงแต่งจิตให้รู้อารมณ์เป็นพิเศษออกไปกว่าเวทนาขันธ์และสัญญาขันธ์ โดยอาศัยคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตน ที่ไม่มีเหมือนกับสภาวธรรมเหล่าอื่น ๔ ประการ ที่เรียกว่า ลักขณาทิจตุกะ หรือ วิเสสลักษณะ ดังต่อไปนี้

๑. อารัมมะณัคคะหะณะลักขะโณ มีการยึดอารมณ์ไว้ เป็นลักษณะ เหมือน ลิงติดตัง หมายความว่า โลภเจตสิกนี้เป็นสภาวธรรมที่มีลักษณะติดอยู่ในอารมณ์ต่างๆ เมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมยึดติดในอารมณ์อันน่าใคร่ น่าปรารถนา น่าชอบใจ หรือทำอารมณ์นั้น ๆ ให้ฝังอยู่ในความรู้สึกนึกคิดอย่างไม่ลืมเลือน เปรียบเสมือนกาวหรือวัตถุที่มีลักษณะเป็นยางเหนียว ย่อมยึดสิ่งต่าง ๆ ให้ติดกัน สภาวะของโลภเจตสิกย่อมทำให้สัมปยุตตธรรม คือ จิตและเจตสิกที่เกิดพร้อมกับตนให้ยึดติดอยู่ในอารมณ์ที่รับรู้อยู่ และปรารถนาอารมณ์เช่นนั้นอยู่เสมอ ๆ

๒. อะภิสังคะนะระโส มีความยึดติดในอารมณ์ เป็นกิจ เหมือนชิ้นเนื้อที่ใส่ลงในกระเบื้องอันร้อน หมายความว่า หน้าที่ของโลภเจตสิกนั้น ย่อมทำให้สัมปยุตตธรรม คือ จิตและเจตสิกที่เกิดพร้อมกับตนให้เข้าไปจดจ่ออยู่ในอารมณ์อันน่าใคร่ น่าปรารถนา น่าชอบใจนั้นโดยไม่ยอมปล่อย ได้แก่ การนึกถึงอารมณ์นั้นบ่อย ๆ ซึ่งเป็นอารมณ์ที่ไม่เกี่ยวกับ ทาน ศีล ภาวนา แต่เป็นอารมณ์อันก่อให้เกิดความใคร่ ความยินดีปรารถนา ที่เป็นความยึดติดผูกพันด้วยอำนาจตัณหา

๓. อะปะริจาคะปัจจุปปัฏฐาโน มีการไม่ยอมสละ [อารมณ์] เป็นอาการปรากฏ เหมือนผ้าที่เปื้อนสีน้ำมันและยาหยอดตา เป็นต้น หมายความว่า สภาพของโลภเจตสิกนี้ เมื่อปรากฏเกิดโดยอาศัยอารมณ์ใดแล้ว ย่อมยึดติดในอารมณ์นั้น ยากที่จะถ่ายถอนความกำหนัดยินดีให้ออกไปได้ หรือยากที่จะคลายความยึดติดในอารมณ์นั้นให้ออกไปจากความรู้สึกนึกคิดได้

๔. สังโยชะนียะธัมเมสุ อัสสาทะทัสสะนะปะทัฏฐาโน มีความเห็นในธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์ว่า เป็นสิ่งที่น่ายินดี เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า บุคคลผู้มักกำหนัดยินดีด้วยอำนาจความโลภนั้น โดยปกติแล้ว เป็นบุคคลผู้ยังมีเยื่อใยอยู่ในสังสารวัฏ มีความหวังอยู่ในสิ่งที่สวยงามน่ายินดี และหลงระเริงอยู่ในสิ่งที่น่ายินดีน่าปรารถนา มักมองโลกมองสังคมแต่ในแง่ดี เห็นเป็นความสุขสบาย เป็นสิ่งที่น่าเพลิดเพลิน เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงทำให้ความโลภเกิดขึ้น ส่วนบุคคลที่ตัดเยื่อใยหรือคลายความยินดีในโลกในสังสารวัฏแล้ว ย่อมคลายความโลภความยินดีติดใจในอารมณ์อันน่าใคร่ น่าชอบใจออกไปจากจิตได้ ความโลภของบุคคลเช่นนั้น ย่อมบรรเทาเบาบางลงไปเรื่อย ๆ ดังเช่น พระอริยบุคคลแต่ละท่านสามารถบรรเทาความโลภลงได้ ความรู้สึกนึกคิดว่า โลกเป็นที่น่ายินดี สังสารวัฏเป็นที่น่าเพลิดเพลินก็ค่อย ๆ จางหายไป จนเมื่อได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ซึ่งตัดความโลภได้เด็ดขาดหมดสิ้นเชื้อแล้ว ความยินดีพอใจในสังสารวัฏย่อมหมดไป เพราะเหตุนั้น พระอรหันต์ทั้งหลายจึงไม่ต้องเกิดใหม่ เพราะท่านละความยินดีพอใจในสังสารวัฏได้เด็ดขาดแล้วนั่นเอง

ในอัฏฐสาลินีอรรถกถาได้อุปมาสภาพของโลภเจตสิกไว้ว่า

ความโลภมีความยึดอารมณ์ เป็นลักษณะ ดุจลิงติดตัง คำว่า ตัง ในที่นี้ ได้แก่ ยางเหนียวที่ใช้ทำเป็นเครื่องดักสัตว์โดยนายพรานไปเจาะเอายางไม้ที่มีความเหนียวมาผสมกับวัตถุอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดความเหนียวเป็นพิเศษ แล้วนำไปลาดกับตอไม้ แผ่นดิน หรือแผ่นหิน หาเหยื่อมาวางไว้ตรงกลางของยางไม้นั้น เพื่อล่อสัตว์ให้มาติดกับดักคือยางเหนียวนั้น เมื่อสัตว์ทั้งหลายมีลิงเป็นต้นมองเห็นเยื่อแล้ว ย่อมถลาเข้าไปหาโดยไม่ระวังตัว ครั้นไปถูกยางเหนียวนั้นแล้ว ก็ยากที่จะถอนตัวออกมาได้ ยิ่งดิ้นก็ยิ่งติดแน่น เพราะฉะนั้น ความโลภจึงเปรียบเหมือนสัตว์ที่ติดตังนั้น เมื่อยึดติดในอารมณ์ใดแล้ว ย่อมเป็นการยากที่ถ่ายถอนออกมาได้

ความโลภมีความข้องติดอยู่ในอารมณ์ เป็นกิจ ดุจชิ้นเนื้อที่ซัดไปติดกระเบื้องที่ร้อนจัด คือ ชิ้นเนื้อที่ตกไปที่แผ่นกระเบื้องซึ่งร้อนจัด ย่อมติดอยู่ในแผ่นกระเบื้องนั้นอย่างเหนียวแน่น ยากที่จะแกะออกได้ [น่าจะเป็นแผ่นกระเบื้องในสมัยก่อน ที่ทำจากวัสดุพิเศษ] สภาพความโลภก็เช่นเดียวกัน เมื่อยึดอยู่ในอารมณ์ใดแล้ว ย่อมติดข้องอยู่ในอารมณ์นั้น ยากที่จะถ่ายถอนออกได้

ความโลภมีความไม่ยอมสละไปเป็นอาการปรากฏ ดุจการติดสีที่อาบน้ำมัน หรือยาหยอดตา หมายความว่า สีน้ำมันหรือยาหยอดตาในสมัยก่อนนั้น เมื่อเปื้อนเสื้อผ้าแล้วก็ยากที่จะชำระออกได้ ย่อมซึมซับเข้าไปในเนื้อผ้า ติดอยู่เช่นนั้น แม้จะซักสักกี่ครั้งก็ตาม ย่อมไม่สามารถขจัดให้หมดไปได้ สภาพของความโลภนี้ก็เช่นเดียวกัน เมื่อยึดติดอยู่ในอารมณ์ใดแล้ว ก็ยากที่จะละคลายถ่ายถอนออกไปได้


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |