| |
บทสรุปเรื่องปริจเฉทรูป   |  

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและปรมัตถทีปนีรุ.๓๔๙ ท่านได้แสดงความหมายของปริจเฉทรูปไว้ดังต่อไปนี้

วิการรูปและลักขณรูปแม้จะไม่มีจริงโดยสภาวะ แต่ก็จัดเข้าอยู่ในฝ่ายของรูปกลาปนั้น ๆ เพราะปรากฏในรูปกลาปดังกล่าว แต่ปริจเฉทรูปนี้มิใช่ฝ่ายของรูปกลาปใด ๆ เพราะเป็นภายนอก โดยพ้นจากรูปกลาปโดยสิ้นเชิง เนื่องจากมิได้เป็นธรรมที่มีจริงโดยสภาวะ ปริจเฉทรูปนั้นจึงไม่กระทบกับรูปใด ๆ ดังพระพุทธวจนะพระบาลีแสดงว่า “อสมฺผุฏฺ จตูหิ มหาภูเตหิรุ.๓๕๐” แปลความว่า ปริจเฉทรูปไม่ถูกมหาภูตรูปทั้ง ๔ กระทบแล้ว

ในคัมภีร์อรรถกถากล่าวว่า “คำว่า ไม่ถูกมหาภูตรูป ๔ กระทบแล้ว” นี้ หมายเอาอากาศคือท้องฟ้าที่ไม่กระทบกันรุ.๓๕๑ ” โดยดำริว่า “มหาภูตรูปในรูปกลาปต่างกัน ซึ่งมีสภาพกระทบสัมผัสในวัตถุที่เป็นแท่งทึบได้กระทบกัน”

ส่วนในคัมภีร์มูลฎีกากล่าวว่า “อพฺยาปิกตา หิ อสมฺผุฏฺตา รุ.๓๕๒” แปลความว่า “การไม่ปะปนกันนั่นแหละ คือการไม่กระทบกัน” โดยมุ่งหมายว่า “คำนิทเทศนี้มิใช่การอธิบายอัชฎากาศ แต่เป็นการอธิบายปริจเฉทรูป และปริจเฉทรูปก็มีได้ในสิ่งที่เป็นแท่งทึบ มหาภูตรูปทั้งหมดในวัตถุดังกล่าวย่อมกระทบกันแน่นอน การที่มหาภูตรูปไม่ปะปนกันนั้นจึงหมายถึง การไม่เข้าถึงความเป็นอันเดียวกัน ไม่กระทบกันในวัตถุนั้น”

โดยองค์ธรรมแล้ว ปริจเฉทรูป ได้แก่ ธรรมที่เป็นช่องว่าง คือ ที่สุดของมหาภูตรูปที่อยู่ในรูปกลาปต่างกัน ปริจเฉทรูปมีลักษณะ [เอกลักษณ์เฉพาะตน] คือ กำหนดขอบเขตของรูปกลาปให้แยกออกจากกัน

พระอาจารย์สัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะรุ.๓๕๓ ได้แสดงสรุปความเรื่องปริจเฉทรูปไว้ดังนี้

ในบรรดาสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตทั้งหลายนั้น ถ้าไม่มีช่องว่าง คือ ปริจฉินนากาสแล้ว สิ่งเหล่านั้นย่อมไม่สามารถทำให้รู้ถึงรูปร่างสัณฐานและจำนวนรูปได้เลย ที่เรารู้ได้ถึงรูปร่างสัณฐานและนับจำนวนได้นั้น ก็ด้วยปริจฉินนากาสนั้นเอง ฉันใดก็ดี บรรดารูปที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตทั้งหลายนั้น ถ้าไม่มีปริจเฉทรูปเสียแล้ว จำนวนรูปกลาปก็มีไม่ได้ ที่สุดของรูปก็ไม่ปรากฏ เขตแดนของรูปก็ไม่ปรากฏ รูปเหล่านั้นก็จะติดกันเป็นพืดไปหมด เมื่อเป็นเช่นนี้ อุทยัพพยญาณและภังคญาณที่เกี่ยวกับรูปธรรมก็เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะไม่สามารถจะพิจารณาเห็นความเกิดดับของรูปเหล่านั้นได้

ท่านอาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวี อดีตประธานมูลนิธิแนบ มหานีรานนท์รุ.๓๕๔ ได้แสดงสรุปความเรื่องปริจเฉทรูปไว้ดังต่อไปนี้

ปริจเฉทรูปนี้มีความสำคัญที่สามารถทำให้รู้ถึงรูปร่างสัณฐานและจำนวนได้ เพราะฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่า ในบรรดาสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตทั้งหลายนั้น ถ้าไม่มีช่องว่าง คือ ปริจเฉทากาสแล้ว สิ่งเหล่านั้นก็ไม่สามารถทำให้รู้ถึงรูปพรรณสัณฐานและจำนวนได้เลย การที่เราสามารถรู้ถึงรูปพรรณสัณฐานและจำนวนของสิ่งต่าง ๆ ได้นั้น ก็เพราะอาศัยปริจเฉทากาสนั่นเอง ด้วยเหตุนี้ ถ้าไม่มีปริจเฉทรูปแล้ว จำนวนรูปกลาปก็ไม่ปรากฏ เขตแดนของรูปก็ไม่มี และที่สุดของรูปก็ไม่ปรากฏ บรรดารูปทั้งหลายก็จะติดกันเป็นพืดไปหมด เมื่อเป็นเช่นนี้ อุทยัพพยญาณ [วิปัสสนาญาณลำดับที่ ๔ ที่เห็นความเกิดและความดับของรูปนาม] และภังคญาณ [วิปัสสนาญาณลำดับที่ ๕ ที่เห็นแต่ความดับของรูปนามอย่างเดียว] ที่เกี่ยวด้วยรูปธรรม ก็เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะไม่สามารถพิจารณาเห็นความเกิดและความดับของรูปได้นั่นเอง

อนึ่ง มีพระพุทธวจนะแสดงว่า “เทฺวเม ภิกฺขเว ธมฺมา นิจฺจธุวา สสฺสตา อวิปริณามธมฺมา ยถิเม เทฺว อากาโส จ นิพฺพานญฺจ” แปลความว่า ภิกษุทั้งหลายธรรมที่เที่ยง มั่นคง ยั่งยืน ไม่แปรผันนั้น มีอยู่ ๒ ประการ คือ อากาศ และ พระนิพพาน


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |