| |
แสดงรูปที่เกิดจากสมุฏฐาน ๔ โดยแน่นอนและไม่แน่นอน   |  

๑. รูปที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน คือ กัมมชรูป มี ๑๘ รูป แบ่งเป็น ๒ จำพวก ได้แก่

[๑] โดยแน่นอน [เอกันตะ] มี ๙ รูป ได้แก่ ปสาทรูป ๕ ภาวรูป ๒ หทยรูป ๑ ชีวิตรูป ๑

[๒] โดยไม่แน่นอน [อเนกันตะ] มี ๙ รูป ได้แก่ มหาภูตรูป ๔ โคจรรูป ๓ [เว้นสัททรูป] อาหารรูป ๑ ปริจเฉทรูป ๑

๒. รูปที่เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน คือ จิตตชรูป ๑๕ แบ่งเป็น ๒ จำพวก ได้แก่

[๑] โดยแน่นอน [เอกันตะ] มี ๒ รูป ได้แก่ วิญญัติรูป ๒

[๒] โดยไม่แน่นอน [อเนกันตะ] มี ๑๓ รูป ได้แก่ อวินิพโภครูป ๘ สัททรูป ๑ ปริจเฉทรูป ๑ วิการรูป ๓

๓. รูปที่เกิดจากอุตุเป็นสมุฏฐาน คือ อุตุชรูป ๑๓ มีจำพวกเดียว ได้แก่ โดยไม่แน่นอน [อเนกันตะ] มี ๑๓ รูป คือ อวินิพโภครูป ๘ สัททรูป ๑ ปริจเฉทรูป ๑ วิการรูป ๓ ส่วนรูปที่เกิดจากอุตุเป็นสมุฏฐานโดยแน่นอนนั้นไม่มี

๔. รูปที่เกิดจากอาหารเป็นสมุฏฐาน คือ อาหารชรูป ๑๒ มีจำพวกเดียว ได้แก่ โดยไม่แน่นอน [อเนกันตะ] มี ๑๒ รูป คือ อวินิพโภครูป ๘ ปริจเฉทรูป ๑ วิการรูป ๓ ส่วนรูปที่เกิดจากอาหารเป็นสมุฏฐานโดยแน่นอนนั้นไม่มี

คำอธิบายเพิ่มเติมของผู้เขียน :

จากบทสรุปเรื่องรูปที่เกิดจากสมุฏฐานทั้ง ๔ ตามที่ท่านได้แสดงมาแล้วในคัมภีร์ต่าง ๆ นั้น ผู้เขียนจักอธิบายจำแนกแจกแจงรูปเหล่านั้นให้เห็นโดยชัดเจน ดังต่อไปนี้

๑. กัมมชรูป หมายถึง รูปที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน มี ๑๘ รูป ได้แก่ มหาภูตรูป ๔ ปสาทรูป ๕ โคจรรูป ๓ [เว้นสัททรูป] ภาวรูป ๒ หทยรูป ๑ ชีวิตรูป ๑ อาหารรูป ๑ และปริจเฉทรูป ๑ เรียกว่า กัมมสมุฏฐานิกรูป แบ่งเป็น ๒ จำพวก คือ

๑.๑ เอกันตกัมมสมุฏฐานิกรูป หมายถึง รูปที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน [อย่างเดียว] โดยแน่นอน มีจำนวน ๙ รูป ได้แก่ ปสาทรูป ๕ ภาวรูป ๒ หทยรูป ๑ ชีวิตรูป ๑ หมายความว่า รูปทั้ง ๙ รูปนี้ ไม่ได้เกิดจากสมุฏฐานอย่างอื่นอีกเลย ย่อมเกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐานอย่างเดียวเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ กัมมชรูปทั้ง ๙ รูปนี้จึงไม่เกิดกับสิ่งที่ไม่มีชีวิตเลย กล่าวคือ สิ่งไม่มีชีวิตทั้งหลายย่อมไม่มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย เพศหญิง เพศชาย หัวใจ และชีวิต อย่างใดอย่างหนึ่งเลย พืชต่าง ๆ ที่สามารถเจริญเติบโตได้นั้น ย่อมเป็นไปด้วยอำนาจแห่งอุตุชรูปและอาหารชรูปที่เป็นพหิทธโอชาหรืออุตุชโอชา อนึ่ง พืชทั้งหลายไม่จัดเป็นสิ่งมีชีวิต เพราะไม่มีชีวิตรูปซึ่งเป็นกัมมชรูปนั่นเอง

๑.๒ อเนกันตกัมมสมุฏฐานิกรูป หมายถึง รูปที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐานโดยไม่แน่นอน กล่าวคือ เป็นรูปที่มิใช่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐานอย่างเดียว สามารถเกิดจากสมุฏฐานอย่างอื่นได้อีกด้วย มีจำนวน ๙ รูป ได้แก่ มหาภูตรูป ๔ โคจรรูป ๓ [เว้นสัททรูป] อาหารรูป ๑ และปริจเฉทรูป ๑ หมายความว่า รูปทั้ง ๙ รูปนี้ นอกจากจะเป็นรูปที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐานแล้ว ยังสามารถเกิดจากสมุฏฐานอย่างอื่นได้อีกด้วย กล่าวคือ เป็นรูปที่เกิดได้จากสมุฏฐานทั้ง ๔ คือ กรรม จิต อุตุ และอาหาร เช่น ธาตุดิน เป็นต้น ธาตุดินที่เกิดจากกรรมซึ่งเป็นส่วนประกอบของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายของสัตว์ทั้งหลาย ทุกอณูปรมาณู เป็นองค์ประกอบของกัมมชกลาปทั้ง ๙ ประเภท ที่เกิดจากจิตนั้น คือ เป็นองค์ประกอบของจิตตชกลาปทั้ง ๘ ประเภท ที่เกิดจากอุตุนั้น คือ เป็นองค์ประกอบของ อุตุชกลาปทั้ง ๔ ประเภท และที่เกิดจากอาหารนั้น คือ เป็นองค์ประกอบของอาหารช กลาปทั้ง ๒ ประเภท

สรุปความว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ความเป็นหญิง ความเป็นชาย หัวใจ และชีวิต รูปทั้ง ๙ นี้ ย่อมเกิดมีได้เฉพาะในร่างกายของสัตว์มีชีวิตเท่านั้น เพราะรูปเหล่านี้เกิดจากอำนาจแห่งอกุศลกรรมและโลกียกุศลกรรมโดยส่วนเดียว ส่วนรูปที่เหลืออีก ๙ รูปนั้น เกิดในร่างกายของสัตว์ทั้งหลายก็มี เกิดในสิ่งที่ไม่มีชีวิตทั้งหลายก็มี เพราะเป็นรูปที่เกิดจากทั้ง ๔ สมุฏฐาน

รูป ๙ อย่าง ได้แก่ อวินิพโภครูป ๘ ปริจเฉทรูป ๑ ที่เกิดจากจิตนั้น ต้องมีกัมมชรูปเป็นพื้นฐานเสียก่อน กล่าวคือ ต้องมีร่างกายของสัตว์ทั้งหลายที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐานก่อนแล้ว จิตจึงจะสามารถทำให้รูปร่างกายของสัตว์ทั้งหลายนั้นแสดงปฏิกิริยาต่าง ๆ ได้แก่ ยืน เดิน นั่ง นอน เหยียดแขนขา เป็นต้นออกมาได้ ถ้าไม่มีร่างกายเสียแล้ว จิตย่อมไม่สามารถทำให้เกิดรูปปฏิกิริยาใด ๆ ได้เลย เช่น อรูปพรหมทั้งหลายไม่มีรูปร่างกาย มีแต่นามธรรมคือจิตและเจตสิกเท่านั้น เพราะฉะนั้น อรูปพรหมทั้งหลายจึงไม่ปรากฏอาการยืน เดิน นั่ง นอน เป็นต้นแต่ประการใดเลย

รูปทั้ง ๙ อย่างนี้ที่เกิดจากอุตุเป็นสมุฏฐานนั้น มีทั้งที่เกิดในร่างกายของสัตว์และที่เกิดภายนอกร่างกายของสัตว์ ถ้าเกิดในร่างกายของสัตว์ ก็ต้องมีกัมมชรูปเป็นพื้นฐานเสียก่อน อุตุชรูปจึงจะสามารถอาศัยเกิดขึ้นได้ ได้แก่ อุณหภูมิของธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ในร่างกายของสัตว์ทั้งหลาย และสี กลิ่น รส อาหารธาตุ ในร่างกายของสัตว์ทั้งหลายนั่นเอง ถ้าเป็นรูปที่เกิดภายนอกร่างกายของสัตว์ ได้แก่ ดิน น้ำ ไฟ ลม สี กลิ่น รส อาหารธาตุ ที่มีอยู่โดยธรรมชาติ ซึ่งเกิดจากอุณหภูมิหรือสภาพแวดล้อมดินฟ้าอากาศ ส่วนปริจเฉทรูปนั้น เป็นอากาศธาตุที่คั่นระหว่างอุตุชกลาปหนึ่งกับอุตุชกลาปอีกอันหนึ่งให้แยกจากกัน ซึ่งจะต้องมีอยู่ในระหว่างรูปกลาปกับรูปกลาปทุกสมุฏฐานเช่นเดียวกัน

อนึ่ง รูปทั้ง ๙ อย่างนี้ที่เกิดจากอาหารเป็นสมุฏฐานนั้น ก็มีทั้งที่เกิดในร่างกายของสัตว์และที่เกิดภายนอกร่างกายของสัตว์เหมือนกันกับรูปที่เกิดจากอุตุเป็นสมุฏฐานดังกล่าวแล้ว ถ้าเกิดในร่างกายของสัตว์ ก็ต้องมีกัมมชรูปเป็นพื้นฐานเสียก่อน อาหารชรูปจึงจะสามารถอาศัยเกิดขึ้นได้ ได้แก่ ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ที่เป็นอวัยวะในร่างกายของสัตว์ทั้งหลาย และสี กลิ่น รส อาหารธาตุในร่างกายของสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งเกิดจากอาหารที่สัตว์บริโภคเข้าไป ถ้าสัตว์ใดบริโภคอาหารที่มีประโยชน์เข้าไป อวัยวะในร่างกายของสัตว์นั้นซึ่งได้แก่ ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม เป็นต้นนั้นย่อมสดชื่นแข็งแรง สีสันวรรณะย่อมผ่องใส และมีรสชาติดี กินเป็นอาหารได้ เช่น เนื้อสัตว์ กุ้ง หอย ปู ปลา เป็นต้น ถ้าเป็นรูปที่เกิดภายนอกร่างกายของสัตว์ ได้แก่ ดิน น้ำ ไฟ ลม สี กลิ่น รส อาหารธาตุ ที่มีอยู่โดยธรรมชาติ ซึ่งมีสภาพที่แตกต่างกันออกไปตามสภาพแวดล้อม ยกตัวอย่างเช่น ผลไม้ชนิดเดียวกัน ปลูกในสถานที่บางแห่งมีรสชาติดี แต่เมื่อเอาไปปลูกในสถานที่อีกแห่งหนึ่ง กลับมีรสชาติไม่ดี เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพราะเป็นไปด้วยอำนาจแห่งสารอาหารหรือปุ๋ยที่มีอยู่ในสถานที่นั้น ๆ มีความแตกต่างกันนั่นเอง ส่วนปริจเฉทรูปนั้น เป็นอากาศธาตุที่คั่นระหว่างอาหารชกลาปหนึ่งกับอาหารชกลาปอีกอันหนึ่งให้แยกจากกัน ซึ่งจะต้องมีในระหว่างรูปกลาปหนึ่งกับอีกรูปกลาปหนึ่งของทุกสมุฏฐานเช่นเดียวกัน

๒. จิตตชรูป หมายถึง รูปที่เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน มีจำนวน ๑๕ รูป ได้แก่ มหาภูตรูป ๔ โคจรรูป ๔ อาหารรูป ๑ ปริจเฉทรูป ๑ วิญญัติรูป ๒ และวิการรูป ๓ เรียกว่า จิตตสมุฏฐานิกรูป แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ

๒.๑ เอกันตจิตตสมุฏฐานิกรูป หมายถึง รูปที่เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐานโดยแน่นอน กล่าวคือ รูปที่เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐานอย่างเดียว ไม่ได้เกิดจากสมุฏฐานอย่างอื่นเลยนั้น มี จำนวน ๒ รูป ได้แก่ วิญญัติรูป ๒ คือ กายวิญญัติรูป ๑ วจีวิญญัติรูป ๑ หมายความว่า การเคลื่อนไหวร่างกายและการพูดจา การร้องเพลง ร้องไห้ เป็นต้น ย่อมมีเฉพาะในสัตว์ที่มีชีวิตและมีจิตเกิดขึ้นเท่านั้น ส่วนสัตว์ที่ตายแล้วและสัตว์ที่ไม่มีจิตเกิดขึ้น [อสัญญสัตตพรหม] นั้น ย่อมไม่สามารถแสดงปฏิกิริยาทางร่างกายและการพูดจา การร้องไห้ การร้องเพลง เป็นต้นออกมาได้เลย อนึ่ง การที่ต้นไม้หรือสิ่งไม่มีชีวิตทั้งหลายสามารถเคลื่อนไหวได้นั้น ก็เป็นไปด้วยอำนาจแห่งอุตุชรูปที่อยู่ในสิ่งเหล่านั้น เช่น น้ำมันและเครื่องจักรทำให้รถวิ่งได้ ทำให้เครื่องบินเหาะได้ เป็นต้น หรืออุตุชรูปที่อยู่ในสภาพแวดล้อมเหล่านั้น เช่น ลมทำให้พืชต่าง ๆ เคลื่อนไหวไปมาได้ เป็นต้น

๒.๒ อเนกันตจิตตสมุฏฐานิกรูป หมายถึง รูปที่เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐานโดยไม่แน่นอน กล่าวคือ เป็นรูปที่มิใช่เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐานอย่างเดียว สามารถเกิดจากสมุฏฐานอย่างอื่นได้อีกด้วย มีจำนวน ๑๓ รูป ได้แก่ มหาภูตรูป ๔ โคจรรูป ๔ ปริจเฉทรูป ๑ อาหารรูป ๑ และวิการรูป ๓ หมายความว่า รูปทั้ง ๑๓ รูปเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐานอย่างเดียว สามารถเกิดจากอุตุเป็นสมุฏฐานก็มี เกิดจากอาหารเป็นสมุฏฐานก็มี กล่าวคือ

เสียง ถ้าเป็นเสียงของคน หรือเสียงของสัตว์ทั้งหลาย ย่อมมีสมุฏฐาน ๒ อย่าง คือ จิตตสมุฏฐาน และอุตุสมุฏฐาน กล่าวคือ ถ้ามีความตั้งใจหรือมีเจตนาในการเปล่งเสียงหรือกระทำเสียงให้เกิดขึ้น เช่น เสียงพูด เสียงร้องเพลง เสียงร้องไห้ หรือเสียงไอ เสียงจาม เสียงผายลม เสียงถอนหายใจ เป็นต้น ก็จัดเป็นจิตตชรูป แต่ถ้าเป็นเสียงที่ไม่มีเจตนาทำให้เกิดขึ้น เช่น เสียงผายลม เสียงกรน เสียงอวัยวะน้อยใหญ่ลั่นตามปกติ เป็นต้น ก็จัดเป็นอุตุชรูป ส่วนเสียงที่ปรากฏในภายนอก คือ เสียงที่ไม่ได้เกิดในร่างกายของสัตว์มีชีวิต เช่น เสียงฟ้าร้อง เสียงลมพัด เสียงน้ำไหล เสียงใบไม้ปลิวไหว เสียงรถ หรือเสียงระฆัง เป็นต้นเหล่านี้ ย่อมเกิดจากอุตุเป็นสมุฏฐานอย่างเดียว

วิการรูป ๓ คือ ลหุตา มุทุตา กัมมัญญตา ถ้าเป็นรูปที่เกี่ยวข้องกับการกระทำและการพูดของสัตว์ทั้งหลาย รูปทั้ง ๓ อย่างนี้ ย่อมเกิดจากจิตเป็นสมุฏฐานก็มี เกิดจากอุตุเป็นสมุฏฐานก็มี เกิดจากอาหารเป็นสมุฏฐานก็มี เช่น เวลาที่จิตใจสบาย ร่างกายก็รู้สึกเบา คล่องแคล่ว ไม่ติดขัดในการทำงาน ย่อมจัดเป็นจิตตชรูป ถ้าได้รับอากาศที่ดี อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ร่างกายก็รู้สึกเบา คล่องแคล่ว ไม่ติดขัดในการงาน ก็จัดเป็นอุตุชรูป ถ้าได้รับอาหารดี ร่างกายก็รู้สึกเบา คล่องแคล่ว ไม่ติดขัดในการงานเช่นเดียวกัน ก็จัดเป็นอาหารชรูป วิการรูปทั้ง ๓ นี้ เมื่อเกิดขึ้น ย่อมเกิดพร้อมกันและเกิดได้เฉพาะในสิ่งที่มีชีวิตเท่านั้น

ส่วนอวินิพโภครูป ๘ ปริจเฉทรูป ๑ รวม ๙ รูปนี้ เป็นรูปที่เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐานไม่แน่นอนเช่นเดียวกันกับที่กล่าวแล้วในเรื่องกัมมชรูป ๙ อย่างที่ไม่แน่นอนนั่นเอง

๓. อุตุชรูป หมายถึง รูปที่เกิดจากอุตุเป็นสมุฏฐาน มีจำนวน ๑๓ รูป ได้แก่ มหาภูตรูป ๔ โคจรรูป ๔ อาหารรูป ๑ ปริจเฉทรูป ๑ และวิการรูป ๓ เรียกว่า อุตุสมุฏฐานิกรูป ในจำนวนอุตุชรูป ๑๓ อย่างเหล่านี้ รูปที่เกิดจากอุตุเป็นสมุฏฐานอย่างเดียวโดยแน่นอนนั้น ไม่มี เพราะฉะนั้น อุตุชรูปโดยแน่นอน ที่เรียกว่า เอกันตอุตุสมุฏฐานิกรูป ไม่มี เพราะฉะนั้น รูปทั้ง ๑๓ นี้เป็นอุตุชรูปโดยไม่แน่นอน ที่เรียกว่า อเนกันตอุตุสมุฏฐานิกรูป ทั้งสิ้น หมายความว่า รูปทั้ง ๑๓ รูปนี้ ที่เกิดจากอุตุเป็นสมุฏฐานอย่างเดียวนั้นไม่มี เพราะสัททรูป คือ เสียง ย่อมเกิดจากสมุฏฐาน ๒ ได้แก่ จิตตสมุฏฐาน คือ เสียงที่เกิดจากอำนาจของจิตเป็นผู้สั่งการ ได้แก่ เสียงคน เสียงสัตว์ เป็นต้น และเสียงที่เกิดจากอุตุเป็นสมุฏฐาน คือ เสียงที่ไม่ได้เกิดจากความตั้งใจทำให้เกิดขึ้น ตลอดทั้งเสียงของสิ่งที่ไม่มีชีวิตทั้งหมด ส่วนวิการรูป ๓ และอวินิพโภครูป ๘ นั้น มีอธิบายไว้แล้วในเรื่องจิตตชรูป

๔. อาหารชรูป หมายถึง รูปที่เกิดจากอาหารเป็นสมุฏฐาน มีจำนวน ๑๒ รูป ได้แก่ มหาภูตรูป ๔ โคจรรูป ๓ [เว้นสัททรูป] อาหารรูป ๑ ปริจเฉทรูป ๑ วิการรูป ๓ เรียกว่า อาหารสมุฏฐานิกรูป ในจำนวนอาหารชรูปทั้ง ๑๒ นี้ รูปที่เกิดจากอาหารเป็นสมุฏฐานอย่างเดียว ที่เรียกว่า เอกันตอาหารสมุฏฐานิกรูป นั้นไม่มี มีแต่อาหารชรูปโดยไม่แน่นอน ที่เรียกว่า อเนกันตอาหารสมุฏฐานิกรูป ทั้งสิ้น หมายความว่า รูปทั้ง ๑๒ รูปนี้ ที่เกิดจากอาหารเป็นสมุฏฐานอย่างเดียวโดยไม่ได้เกิดจากสมุฏฐานอย่างอื่นเลย นั้นไม่มี เพราะวิการรูป ๓ ย่อมเกิดได้จากสมุฏฐาน ๓ ได้แก่ จิต อุตุ และอาหาร ส่วนอวินิพโภครูป ๘ คือ มหาภูตรูป ๔ วัณณรูป คันธรูป รสรูป อาหรรูป และปริจเฉทรูปนั้น ย่อมเกิดได้จากสมุฏฐานทั้ง ๔ ได้แก่ กรรม จิต อุตุ และอาหาร ซึ่งมีอธิบายรายละเอียดไว้แล้วในเรื่องกัมมชรูปและจิตตชรูปนั่นแล

ส่วนลักขณรูปทั้ง ๔ นั้น ไม่ได้เกิดจากสมุฏฐานอย่างใดอย่างหนึ่งเลย จึงเรียกว่า นกุโตจิสมุฏฐานิกรูป เพราะรูปเหล่านี้ไม่มีสภาวลักษณะเป็นของตนเองโดยเฉพาะ เป็นเพียงลักษณะอาการของนิปผันนรูป ๑๘ ที่เกิดจากสมุฏฐานทั้ง ๔ เท่านั้น และเมื่อนิปผันนรูป ๑๘ เกิดขึ้นโดยอาศัยสมุฏฐานทั้ง ๔ อย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ในตัวนิปผันนรูป ๑๘ แต่ละอย่างนั่นแหละ ย่อมมีลักขณรูปทั้ง ๔ ปรากฏติดอยู่ด้วย ได้แก่ อาการเกิดขึ้น อาการตั้งอยู่ อาการแก่คร่ำคร่า และอาการดับไป ของรูปเหล่านั้นนั่นเอง และเพราะเป็นลักษณะอาการของนิปผันนรูปแต่ละอย่าง ซึ่งเป็นไปสืบเนื่องด้วยนิปผันนรูปนี้แหละ จึงจัดเป็นรูปธรรมอย่างหนึ่งในบรรดารูป ๒๘ ดังกล่าวแล้วนั้น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |