ไปยังหน้า : |
การที่บุคคลจะเกิดโลภมูลจิตที่ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิดนั้น ย่อมมีเหตุปัจจัยสนับสนุน ๕ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ
๑. สัสสะตะอุจเฉทะทิฏฐิอะนัชฌาสะยะตา ไม่มีสัสสตทิฏฐิ และอุจเฉททิฏฐิเป็นอัธยาศัยมาแต่อดีตชาติ หมายความว่า เป็นผู้ที่ไม่ได้สั่งสมอุปนิสัยในเรื่องความเห็นผิดต่างๆ มีสัสสตทิฏฐิและอุจเฉททิฏฐิ เป็นต้นเป็นประธานไว้ในขันธสันดานในอดีตชาติอันใกล้ที่ผ่านมานี้ จึงทำให้บุคคลนั้นไม่มีอัธยาศัยน้อมไป หรือหมกมุ่นอยู่ในความเห็นที่ผิด ๆ สามารถที่จะแนะนำสั่งสอนอบรมความรู้ต่าง ๆได้โดยง่าย และสามารถใช้วิจารณญาณของตนในการรับรู้สิ่งต่าง ๆ อย่างถูกต้องได้ ตามสมควรแก่กำลังสติปัญญาของตน และสามารถพัฒนาศักยภาพความรู้ความเข้าใจให้เจริญขึ้นได้ ฉะนั้น เมื่อมีอารมณ์ที่เกี่ยวกับความโลภเกิดขึ้นในอารมณ์บางอย่างที่ตนมีความรู้ความเข้าใจตามเหตุผลของสิ่งนั้นอย่างถูกต้อง แต่ยังตัดความโลภไม่ได้ จึงทำให้เกิดความโลภที่ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิดได้ หรือ พระอริยบุคคลเบื้องต่ำ ๓ คือ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามีที่ประหาณทิฏฐิ ความเห็นผิดได้โดยเด็ดขาดแล้ว ไม่มีความเห็นผิดอยู่ในสันดานอีกต่อไป แต่ยังตัดโลภะไม่ได้หมด ยังเหลือที่เป็นทิฏฐิคตวิปปยุตตจิต ๔ ดวง พระโสดาบัน พระสกิทาคามี ยังมีความรักความห่วงใยในครอบครัว ญาติมิตร ภรรยาสามี บุตรหลาน สัตว์เลี้ยงผู้เป็นที่รัก ทรัพย์สมบัติ เป็นต้น หรือพระอนาคามีที่มีความพอใจติดใจในภาวะของตน มีความยินดีพอใจในภพภูมิที่ตนเกิดอยู่ เหล่านี้เป็นต้น จึงทำให้เกิดความโลภที่ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิดได้
๒. ทิฏฐิวิปปันนะปุคคะละอะเสวะนะตา เป็นผู้ที่ไม่ชอบคบหาสมาคมกับบุคคลผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิ หมายความว่า เป็นคนที่ไม่ชอบคบหาสมาคมไม่ชอบเข้าใกล้พวกที่มีความเห็นผิด พยายามหลีกเว้นให้ห่างไกล สนใจในการค้นคว้าหาความรู้ที่ถูกต้อง เข้าหาบัณฑิตผู้มีความรู้ดีปฏิบัติชอบ ผู้ดำเนินชีวิตอยู่ในกรอบแห่งความดี มีความคิดเห็นที่ถูกต้องตามหลักทำนองคลองธรรม ดังนี้เป็นต้น เมื่อมีความรู้สึกที่เกี่ยวกับความโลภเกิดขึ้นในอารมณ์บางอย่างที่ตนเองมีความรู้ความเข้าใจตามเหตุผลของสิ่งนั้นอย่างถูกต้อง แต่ยังตัดความโลภไม่ได้ จึงทำให้เกิดความโลภที่ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิดได้
๓. สัทธัมมะสัมมุขะตา เป็นผู้หันหน้าให้พระสัทธรรม หมายความว่า เป็นบุคคลที่มีความสนใจพระสัทธรรมคำสอนของสัตบุรุษ มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น หมั่นเข้าไปหา เข้าไปนั่งใกล้ เข้าไปสอบถามข้ออรรถข้อธรรมกับสัตบุรุษทั้งหลาย ให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อให้ห่างไกลจากอำนาจความเห็นผิด ทำให้มีความรู้ที่กว้างขวางละเอียดลึกซึ้งยิ่งขึ้นไป เมื่อมีความรู้ที่เกี่ยวกับความโลภเกิดขึ้นในอารมณ์บางอย่างที่ตนมีความรู้ความเข้าใจตามเหตุผลของสิ่งนั้นอย่างถูกต้อง แต่ยังตัดความโลภไม่ได้ จึงทำให้เกิดความโลภที่ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิดได้
๔. สัมมาวิตักกะพะหุละตา เป็นผู้ที่ชอบคิดแต่เรื่องที่ถูกที่ควร หมายความว่า เป็นบุคคลที่ชอบคิดตริตรองหาเหตุผลในสิ่งต่าง ๆ ที่ได้ประสบพบเห็นได้รับรู้นั้น ให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องอยู่เสมอ โดยอาศัยแบบแผนความรู้ความเข้าใจตามหลักทำนองคลองธรรม หลักธรรมในพระพุทธศาสนาที่ถูกต้อง เป็นบรรทัดฐานในการคิดพิจารณาไตร่ตรอง ทำให้เกิดองค์ความรู้ที่ถูกต้อง รู้เท่าทันสิ่งทั้งปวงตามความเป็นจริง ด้วยเหตุนี้ เมื่อมีความรู้สึกที่เกี่ยวกับความโลภเกิดขึ้นในอารมณ์บางอย่างที่ตนมีความรู้ความเข้าใจตามเหตุผลของสิ่งนั้นอย่างถูกต้อง แต่ยังตัดความโลภไม่ได้ จึงทำให้เกิดความโลภที่ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิดได้
๕. อะโยนิโส นะ อุมมุชชะนะตา เป็นผู้ที่ไม่จมอยู่ในความคิดที่ไม่แยบคาย หมายความว่า เป็นบุคคลผู้มีเหตุผล มักใช้วิจารณญาณในการพิจารณาสิ่งต่าง ๆ อย่างรอบคอบก่อนเสมอ ไม่มัวจมปลักอยู่กับความเชื่อแบบผิดๆ หรือเชื่อตาม ๆ กันมาโดยไร้เหตุผลแต่อย่างใด ทำให้เป็นผู้ไม่งมงาย สามารถรู้เท่าทันสิ่งทั้งปวงตามความเป็นจริง ด้วยเหตุนี้ เมื่อมีความรู้สึกที่เกี่ยวกับความโลภเกิดขึ้นในอารมณ์บางอย่างที่ตนมีความรู้ความเข้าใจตามเหตุผลของสิ่งนั้นอย่างถูกต้อง แต่ยังตัดความโลภไม่ได้ จึงทำให้เกิดความโลภที่ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิดได้