ไปยังหน้า : |
บัณฑิตผู้มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายแล้ว ย่อมสามารถกำหนดพิจารณาเรียนรู้สภาวะของถีนเจตสิก อันเป็นปรมัตถธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งนับเนื่องในสังขารขันธ์ เพราะเป็นสภาวธรรมที่ปรุงแต่งจิตให้เกิดการรับรู้อารมณ์ที่พิเศษออกไปจากเวทนาขันธ์และสัญญาขันธ์ โดยอาศัยคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตน ที่ไม่เหมือนกับสภาวธรรมเหล่าอื่น ๔ ประการ ที่เรียกว่า วิเสสลักษณะ หรือ ลักขณาทิจตุกะ ดังต่อไปนี้
๑. อะนุสสาหะนะลักขะณัง มีความไม่อุตสาหะ เป็นลักษณะ หมายความว่า ในขณะใด ที่ถีนะเกิดขึ้นครอบงำจิตของบุคคลใดแล้ว ย่อมทำให้จิตของบุคคลนั้น มีอาการหดหู่ลง คือ ไม่อยากได้ ไม่อยากเป็น หมดอาลัยในสิ่งนั้น ๆ บุคคลนั้นย่อมมีลักษณะทอดถอนใจ หมดกำลังใจที่จะต่อสู้กับการงานอันเป็นความดีงามที่จะพึงสั่งสมให้เกิดมีขึ้น ย่อมปล่อยทิ้งความดีงามนั้นเสียแล้วปล่อยชีวิตไปตามกระแสกิเลส
๒. วิริยะวิโนทะนะระสัง มีการกำจัดวิริยะ เป็นกิจ หมายความว่า ถีนเจตสิกมีสภาพท้อถอยจากความมุ่งมั่นขะมักเขม้นในสิ่งที่เป็นความดีงาม เพราะฉะนั้น เมื่อถีนะครอบงำจิตของบุคคลใดแล้ว ย่อมทำให้บุคคลนั้นเกิดอาการท้อถอย หมดกำลังใจที่จะขวนขวายในกิจการงานต่าง ๆ ที่ตนเองกระทำอยู่ก็ดี ในการงานที่คิดจะทำต่อไปก็ดี หรือความรู้สึกนึกคิดในสิ่งที่ดีงามก็ดี ทำให้เกิดความเกียจคร้าน หรือกลับกลายหันเหไปหาสิ่งที่เป็นอกุศล เพราะคิดว่าทำง่ายได้ผลดี มีรสชาติมากกว่า เป็นต้น
๓. สังสีทะนะปัจจุปปัฏฐานัง มีความท้อถอย เป็นอาการปรากฏ หมายความว่า จิตที่ถูกถีนะครอบงำย่อมมีสภาพอ่อนกำลังจากความเข้มแข็งในคุณงามความดีหรือในอุดมการณ์ที่ดีงามเสียแล้วโน้มเข้าไปหาสิ่งไม่ดีไม่งาม บุคคลที่ถูกถีนะครอบงำอย่างหนักย่อมไม่สามารถฝืนใจต่อสู้กับอุปสรรคปัญหาของจิตใจ หรือปัญหาอุปสรรคของกิจการงานที่กระทำได้ ย่อมกลายเป็นบุคคลผู้เต็มไปด้วยข้ออ้าง แล้วไม่ทำกิจต่าง ๆ เช่น มักอ้างว่า หนาวนัก ร้อนนัก เย็นนัก ยังเช้าอยู่ หิวนัก กระหายนัก แล้วไม่กระทำกิจการงาน หรืออ้างบุคคลนั้นบุคคลนี้ที่เป็นตัวอย่างในทางไม่ดีแล้วละเลยจากความดีงามเสีย หันเหไปกระทำสิ่งที่ไม่ดี ซึ่งทำง่ายกว่า ทำสะดวกสบายกว่า เป็นต้น
๔. อะโยนิโสมะนะสิการะปะทัฏฐานัง มีการทำไว้ในใจโดยอุบายอันไม่แยบคาย เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า เมื่อสภาวธรรม มีความไม่ยินดี ความเกียจคร้าน และความง่วงเหงาหาวนอน เป็นต้นเกิดขึ้น ถีนะย่อมเกิดขึ้น และเหตุที่สภาวธรรมเหล่านี้เกิดขึ้นครอบงำจิตได้นั้น เพราะเหตุที่บุคคลขาดโยนิโสมนสิการ คือ ไม่มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาโดยอุบายอันแยบคาย เป็นคนมีความคิดไม่ลึกซึ้งไม่รอบคอบในสิ่งต่าง ๆ หรือเป็นผู้ที่ไม่ชอบใช้ปัญญาในการดำเนินชีวิต เพราะคิดว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก จึงมักปล่อยใจไปตามกระแสกิเลส เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงทำให้บุคคลขาดสติยั้งคิด ขาดวิริยะอุตสาหะที่จะริเริ่มกระทำกิจการงานต่าง ๆ เพื่อสร้างหลักฐานของชีวิต และขาดปัญญาที่จะคิดพิจารณาวางแผนการดำเนินชีวิตไปสู่ความเจริญก้าวหน้า เมื่อไม่มีความคิดริเริ่มและไม่มีการวางแผนชีวิตเช่นนี้ จึงทำให้บุคคลนั้นไม่มีความขวนขวายที่จะทำกิจการงาน ปล่อยวันเวลาให้ล่วงเลยไป ทำงานพอให้ได้บริโภคกินอยู่ไปวัน ๆ เมื่อไม่รู้จะทำอะไร กินแล้วมักนอน ตื่นขึ้นมาก็หาความสนุกสนานรื่นเริง เมื่อเป็นเช่นนี้ สภาพแห่งถีนะ คือ ความเกียจคร้าน ความง่วงเหงาหาวนอน ย่อมครอบงำบุคคลนั้นอยู่เป็นประจำ จนกลายเป็นปกตินิสัยของบุคคลนั้นไป