| |
บทสรุปเรื่องชีวิตินทรีย์   |  

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและปรมัตถทีปนีรุ.๓๐๗ ท่านได้แสดงสรุปความเรื่องชีวิตรูปไว้ดังต่อไปนี้

รูปอย่างอื่นที่ปราศจากชีวิตินทรีย์รูป ย่อมดำรงอยู่ไม่ได้ เพราะเมื่อจิต อุตุ หรืออาหารที่เป็นเหตุให้เกิดขึ้นนั้นดับไปแล้ว [จิตตสมุฏฐาน อุตุสมุฏฐาน หรืออาหารสมุฏฐาน] ไม่อาจจะสืบกระแสต่อไปได้แม้สักครู่เดียว ความจริงในบรรดารูปเหล่านั้น สันตติปัจจุบัน [ปัจจุบันสืบต่อ] ของจิตตชรูปมีกำหนดด้วยวิถีจิตหนึ่ง ชวนะวาระหนึ่ง หรือสมาบัติวาระหนึ่ง สันตติปัจจุบันของอุตุชรูปและอาหารชรูปนั้น มีกำหนดด้วยอุตุและอาหารอย่างหนึ่งที่มีสภาพเหมือนกัน ส่วนกัมมชรูปนั้นไม่มีสันตติปัจจุบันโดยเฉพาะ มีแต่อัทธาปัจจุบัน [ปัจจุบันโดยระยะเวลา] ที่กำหนดด้วยภพหนึ่งชาติหนึ่งเท่านั้น

ถามว่า นามธรรมมีอัทธาปัจจุบันได้อย่างไร เพราะดำรงอยู่ได้ด้วยการประกอบกับชีวิตินทรีย์เจตสิก ถ้าเป็นดังนี้ นามธรรมก็มีสันตติปัจจุบันได้มิใช่หรือ ?

ตอบว่า ลำดับแรกในเรื่องนามธรรมนั้น วิปากจิตเป็นเหมือนกับกัมมชรูป เพราะเมื่อวิถีจิตไม่เกิดขึ้น วิปากจิตก็จักดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต แต่กุศลจิต อกุศลจิต และกิริยาจิตอื่น ๆ ย่อมเกิดขึ้นเพราะมีอารมณ์มาปรากฏ เมื่ออารมณ์ดับไปแล้ว แม้จะไม่มีอารมณ์ใหม่ปรากฏ แต่กระแสจิตจำนวนมากที่รับรู้อารมณ์ซึ่งดับไปแล้วนั้น ย่อมดำเนินไปได้ด้วยอำนาจของชีวิตินทรีย์เจตสิก

อีกนัยหนึ่ง เนื้อความนี้กล่าวไว้ด้วยกระแสจิตที่เป็นไปโดยไม่ขาดสาย โดยความเป็นอนันตรปัจจัย [ปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนให้ดำเนินไปได้] ตราบจนถึงการดับขันธ์ ดังที่ท่านพระอรรถกถาจารย์กล่าวไว้ว่า “กิเลสสีสํ อวิชฺชา ปวตฺตสีสํ ชีวิตินฺทฺริยํรุ.๓๐๘ ” แปลความว่า อวิชชาเป็นผู้นำของกิเลส ชีวิตินทรีย์ [ที่เป็นทั้งรูปและนาม] เป็นผู้นำของการเกิดรูปนาม

ในคัมภีร์วิภาวินีแสดงไว้ว่า “ชีวิตรูปย่อมตามรักษาโดยก่อให้เกิดกัมมชรูปที่เกิดร่วมกัน ซึ่งดำรงอยู่ชั่วขณะตามสมควร เพราะกรรมอย่างเดียวมิได้ทำให้กัมมชรูปดำรงอยู่เสมอไป เนื่องจากกรรมไม่มีอยู่ในปัจจุบัน [กรรมนั้นดับไปแล้ว] เมื่อเกิดรูปแล้ว เปรียบเหมือนอาหารเป็นต้นที่ทำให้อาหารชรูปดำรงอยู่ได้รุ.๓๐๙” โดยมุ่งหมายว่า “อาหารเป็นต้นทำให้อาหารชรูปเกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้ เพราะปรากฏในปัจจุบันขณะ ส่วนกรรมนั้นทำให้กัมมชรูปเกิดขึ้น แต่มิได้ทำให้กัมมชรูปดำรงอยู่ เพราะกรรมนั้นไม่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันขณะ การที่กัมมชรูปดำรงอยู่ชั่วขณะ ย่อมมีได้เพราะชีวิตรูปคอยรักษาอยู่” ข้อความนั้นไม่สมควร เพราะการที่รูปธรรมดำรงอยู่ชั่วขณะนั้น เป็นสภาพเนื่องด้วยปัจจัยที่เกิดร่วมกันในรูปกลาปหนึ่ง ๆ มิได้เนื่องด้วยปัจจัยที่ทำให้เกิดรูปขึ้นในกลาปที่ต่างกัน มิฉะนั้นแล้ว สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ควรตรัสว่า ชรตารูปซึ่งเกิดในฐีติขณะ เกิดจากเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง เหมือนกับอุปจจยรูปและสันตติรูป อีกนัยหนึ่ง การดำรงอยู่ชั่วขณะของกัมมชรูปทั้งหลาย ย่อมสำเร็จโดยสภาวะ เพราะธรรมที่เกิดขึ้นแล้วย่อมไม่ดับไปในระหว่าง โดยที่ยังไม่ตั้งอยู่จนครบขณะของตน เนื่องจากปัจจัยบกพร่องไป ทั้งไม่ตั้งอยู่นานกว่าเดิม เพราะมีปัจจัยมาก ดังนั้น อาหารเป็นต้นที่อุปถัมภ์ในฐีติขณะและชีวิตรูปที่คอยรักษาอยู่ จึงอุปถัมภ์รักษาให้กระแสรูปที่กำลังเกิดขึ้นได้ในภายหลัง มิใช่เพื่อให้เป็นไปในฐีติขณะ ข้อความนี้แสดงว่า ฐีติขณะของรูปธรรมกับนามธรรมทั้งหมดไม่ใช่เนื่องด้วยปัจจัยที่ทำให้เกิดขึ้น ซึ่งปรากฏอยู่หรือเกี่ยวกับชีวิตินทรีย์ [ที่เป็นทั้งรูปและนาม]

ถ้าข้อความในคัมภีร์วิภาวินีหมายถึงความเป็นไปอย่างต่อเนื่องเป็นสันตติบัญญัติไซร้ ข้อนั้นย่อมสมควร แม้ข้อความในคัมภีร์อรรถกถาก็พึงใคร่ครวญแล้วถือเอาโดยหมายถึงการดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องว่า “สนฺเตปิ จ อนุปาลนลกฺขณาทิมฺหิ วิธาเน อตฺถิกฺขเณเยว ตํ เต ธมฺเม ปาเลติรุ.๓๑๐” แปลความว่า เมื่อลักษณะคือการตามรักษาเป็นต้นมีอยู่ ชีวิตรูปย่อมรักษาธรรมเหล่านั้นในขณะเกิดขึ้น เป็นต้น

อนึ่ง ชีวิตรูปนี้ย่อมซึมซาบอยู่ทั่วร่างกายที่มีใจครองทั้งหมด รวมทั้งไฟธาตุที่ย่อยอาหารด้วย

อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวีรุ.๓๑๑ อดีตประธานมูลนิธิแนบ มหานีรานนท์ได้แสดงสรุปความเรื่องชีวิตรูปไว้ดังต่อไปนี้

ชีวิตรูปนี้ ต้องเป็นกัมมชรูป คือ รูปที่เกิดจากกรรมเท่านั้น จึงจะตามรักษากัมมชรูปด้วยกันให้ดำรงอยู่ได้ เพราะฉะนั้น ในความหมายของคำว่า ชีวิต นี้จึงมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับกุศลกรรมและอกุศลกรรม บางคนเข้าใจว่า ต้นไม้มีชีวิต แต่ตามความหมายทางธรรมนั้น ต้นไม้มิได้เกิดจากกรรม จึงไม่มีชีวิตรูปคอยอนุบาลรักษา ย่อมกล่าวได้ว่า ต้นไม้นั้นไม่มีชีวิต แต่ที่ดำรงอยู่ได้ เพราะอาศัยอุตุ คือ น้ำ และอากาศ เป็นต้นเป็นผู้รักษาไว้นั่นเอง

บทสรุปของผู้เขียน :

จากความหมายและรายละเอียดที่ท่านได้แสดงมาแล้วตั้งแต่ต้นนั้น สามารถประมวลสรุปความได้ ดังต่อไปนี้

ชีวิตรูปเป็นกัมมชรูปอย่างเดียว เพราะฉะนั้น รูปที่ชีวิตรูปจะตามรักษาได้นั้นจะต้องเป็นกัมมชรูป คือ รูปที่เกิดจากกรรมอย่างเดียวเท่านั้น

คําว่า ชีวิต นั้นมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับกุศลกรรมและอกุศลกรรม กล่าวคือ สิ่งที่เกิดจากกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมเท่านั้น จึงจะเรียกว่า สิ่งมีชีวิต ได้แก่ สัตว์ทั้งหลาย ซึ่งหมายถึง มนุษย์ เทวดา พรหม นรก เปรต อสุรกาย เดรัจฉาน แต่คนโดยมากเข้าใจว่า ต้นไม้มีชีวิต ซึ่งเมื่อกล่าวตามความหมายในทางปรมัตถ์แล้ว ต้นไม้มิได้เกิดจากกรรม แต่เกิดจากอุตุ คือ อุณหภูมิ สภาพแวดล้อม และเชื้อแห่งพืชนั้น ๆ ตามหลักพีชนิยาม คือ สายพันธุ์แห่งพืชนั้น ๆ เพราะฉะนั้น ต้นไม้จึงไม่มีชีวิตรูปคอยอนุบาลรักษา และกล่าวได้ว่า ต้นไม้เป็นสิ่งที่ไม่มีชีวิต แต่การที่ต้นไม้สามารถเกิดขึ้นและดํารงอยู่ได้นั้น เพราะอาศัยอุตุคือนํ้าและอากาศเป็นต้นเป็นผู้ตามหล่อเลี้ยงรักษานั่นเอง

อนึ่ง คําว่า ชีวิต นั้น มีความหมายถึงการอนุบาลรักษาให้ดํารงคงอยู่ได้ ชีวิตจึงมีความหมายได้ ๒ ประการ คือ รูปชีวิต ที่เรียกว่า รูปชีวิตินทรีย์ และนามชีวิต ที่เรียกว่า นามชีวิตินทรีย์

รูปชีวิตินทรีย์ ได้แก่ ชีวิตรูปที่ช่วยหล่อเลี้ยงสหชาตรูปที่เกิดพร้อมกันกับตน ซึ่งเป็นกัมมชรูปอย่างหนึ่ง ในบรรดากัมมชรูป ๑๘ ที่มีบทบาทหน้าที่ในการตามรักษาหล่อเลี้ยงกัมมชรูปที่เกิดพร้อมกันกับตนในกลาปอันเดียวกัน เพื่อให้สามารถดำรงอยู่จนหมดอายุขัย ถ้าเป็นกัมมชรูปที่เกิดอยู่ในกลาปต่างกัน ชีวิตรูปนี้ย่อมไม่สามารถหล่อเลี้ยงรักษาได้ เพราะฉะนั้น ชีวิตรูปนี้ย่อมมีความสามารถในการตามรักษากัมมชรูปอย่างเดียว และกัมมชรูปเหล่านั้นจะต้องเกิดอยู่ในกลาปเดียวกันกับชีวิตรูปนั้นเท่านั้น

นามชีวิตินทรีย์ ได้แก่ ชีวิตินทรีย์เจตสิกที่เป็นผู้รักษาหล่อเลี้ยงสัมปยุตตธรรมที่เกิดพร้อมกันกับตน นามชีวิตินทรีย์นี้เป็นเจตสิกธรรมอย่างหนึ่ง ที่มีสภาวะพิเศษเฉพาะตนในการหล่อเลี้ยงรักษาจิตและเจตสิกให้ตั้งอยู่ได้ตลอดอายุของนามธรรมนั้น ๆ และนามธรรมที่นามชีวิตินทรีย์นี้จะทำการหล่อเลี้ยงได้นั้น จะต้องเป็นนามธรรมที่เกิดพร้อมกัน มีอารมณ์อันเดียวกัน อาศัยสถานที่เกิดอันเดียวกัน [เฉพาะในปัญจโวการภูมิ] และดับพร้อมกัน ที่เรียกว่า สัมปยุตตธรรม เท่านั้น ถ้าเป็นามธรรมที่เกิดคนละขณะแล้ว นามชีวิตินทรีย์นี้ย่อมไม่สามารถตามหล่อเลี้ยงได้


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |