| |
นิพพานปรมัตถ์   |  

นิพพาน หมายถึง ธรรมชาติที่สงบจากกิเลสและรูปนามขันธ์ ๕ เรียกว่า สันติลักษณะ หรือเป็นธรรมชาติที่ดับโดยไม่เหลือแห่งกิเลสและกองทุกข์ทั้งสิ้นโดยประการทั้งปวง ฉะนั้น นิพพานจึงไม่มีเหตุปัจจัยทำให้เกิดขึ้น เพราะนิพพานไม่มีการเกิด ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่มีการดับ พ้นจากสภาพแห่งความเป็นสังขตธรรมโดยสิ้นเชิง จึงชื่อว่า อสังขตธรรม หมายความว่า นิพพานไม่ใช่จิต ไม่ใช่เจตสิก ไม่ใช่รูป ไม่มีรูปร่างสัณฐาน ไม่มีสีสันวรรณะ และไม่มีการเกิดดับเปลี่ยนแปลง ไม่มีสิ่งใดปรุงแต่งและไม่มีการปรุงแต่งสิ่งอื่นให้เกิดขึ้น จึงชื่อว่า เป็นอสังขตธรรม ดังกล่าวแล้ว

ในเรื่องนิพพานนี้ จะได้แสดงรายละเอียดในปริจเฉทที่ ๖ ตอนที่ว่าด้วยนิพพานปรมัตถ์ ผู้สนใจพึงศึกษาเพิ่มเติมได้จากปริจเฉทที่ ๖ นั้นต่อไป

ดังที่กล่าวมาแล้วนี้ พระอนุรุทธาจารย์ ท่านได้สรุปเนื้อความในพระอภิธรรมปิฎกที่พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงแก่เหล่าเทวดาและพรหมทั้งหลาย มีท้าวสันดุสิตเทวราช อดีตพุทธมารดาเป็นประธาน ณ ภพดาวดึงส์ และในอภิธัมมัตถสังคหปกรณ์ที่ท่านพระอนุรุทธาจารย์เรียบเรียงนั้นว่า เมื่อว่าโดยเนื้อความแล้ว มีปรมัตถธรรมอยู่เพียง ๔ ประการเท่านั้น คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน ดังที่ท่านแสดงคาถาสังคหะที่ ๒ ไว้ดังต่อไปนี้

(๒) ตัตถะ วุตตาภิธัมมัตถา จะตุธา ปะระมัตถะโต
จิตตัง เจตะสิกัง รูปัง นิพพานะมิติ สัพพะถา ฯ

แปลความว่า

ในคำว่า อภิธัมมัตถสังคหะ นั้น เมื่อว่าโดยปรมัตถธรรมแล้ว ไม่ว่าโดยประการใดๆ ย่อมมีเนื้อความแห่งพระอภิธรรมอยู่เพียง ๔ ประการเท่านั้น คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน

อธิบายความว่า

ที่จริงแล้ว เนื้อหาโดยสรุปในพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ และอภิธัมมัตถสังคหะนั้น มีอยู่ ๕ ประการ คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน และบัญญัติ แต่ว่า บัญญัตินั้น ไม่ใช่ปรมัตถธรรม และพระอนุรุทธาจารย์ท่านแสดงคาถานี้ มุ่งเน้นเอาเฉพาะปรมัตถธรรมเท่านั้น ฉะนั้น จึงต้องตัดบัญญัติธรรมออกไป จึงคงเหลือปรมัตถธรรม ๔ ประการ ดังกล่าวแล้ว

ศัพท์และความหมายที่เกี่ยวข้อง ที่ควรทำความเข้าใจเพิ่มเติมในคาถานี้ ได้แก่

อภิธัมมัตถสังคหะ หมายถึง การรวบรวมเนื้อความแห่งพระอภิธรรม คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน บัญญัติ ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ในพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ โดยนำมาสรุปเป็นหมวดหมู่ เพื่อสะดวกแก่การศึกษาเรียนรู้และจดจำ ทั้งเป็นพื้นฐานที่จะศึกษาอภิธรรม ๗ คัมภีร์ให้เข้าใจอย่างละเอียดลึกซึ้งต่อไป ฉะนั้น จึงได้ชื่อว่า อภิธัมมัตถสังคหปกรณ์

สัมปยุตตธรรม หมายถึง ธรรมที่ประกอบกันได้อย่างกลมกลืนโดยลักษณะ ๔ ประการ คือ ๑] เอกุปปาทะ เกิดพร้อมกัน ๒] เอกนิโรธะ ดับพร้อมกัน ๓] เอกาลัมพนะ มีอารมณ์อย่างเดียวกัน ๔] เอกวัตถุกะ มีที่อาศัยเกิดอันเดียวกัน [เฉพาะในปัญจโวการภูมิ] เมื่อครบองค์ประกอบ ๔ ประการ [ส่วนในจตุโวการภูมิ ๔ นั้น มีเพียง ๓ ประการ เพราะไม่มีวัตถุรูปอาศัยเกิด] จึงชื่อว่า สัมปยุตตธรรม ได้แก่ จิต กับ เจตสิก

สหชาตธรรม หมายถึง ธรรมที่เกิดร่วมกันได้ คือ ไม่ได้ประกอบกันอย่างกลมกลืนโดยลักษณะครบทั้ง ๔ ประการ เป็นแต่เพียงเกิดพร้อมกัน หรือดับพร้อมกันเท่านั้น ได้แก่ รูปกับรูป หรือ รูปกับนาม

สังขตธรรม หมายถึง ธรรมที่ถูกปรุงแต่งด้วยปัจจัยต่าง ๆ หรือ เป็นตัวปรุงแต่งธรรมอื่น ๆ ให้เกิดขึ้นด้วย ได้แก่ จิต เจตสิกและรูป มีอาการปรากฏเป็นไปโดยความเป็นไตรลักษณ์

อสังขตธรรม หมายถึง ธรรมที่ไม่ถูกปรุงแต่งด้วยปัจจัยใด ๆ และไม่ใช่ธรรมที่ปรุงแต่งธรรมอื่น ๆให้เกิดขึ้นด้วย ได้แก่ นิพพาน และบัญญัติ [บัญญัตินั้น เป็นอสังขตธรรมโดยอนุโลม เพราะบัญญัติไม่มีสภาวะของตนอยู่จริง เป็นแต่เพียงสิ่งสมมติเท่านั้น]

จบปรมัตถธรรมเบื้องต้น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |