ไปยังหน้า : |
เหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดถีนมิทธะนั้น พระอรรถกถาจารย์ได้แสดงไว้ ๕ ประการ คือ
๑. อรติ ความไม่ยินดี หมายความว่า ความไม่ยินดี คือ ความไม่ยินดีในการทำงาน หรือในการทำภาวนาทางจิต เป็นต้น เมื่อเกิดความไม่ยินดี ความไม่พอใจขึ้นแล้ว ใจย่อมท้อถอย ไม่อยากเจริญภาวนา รวมทั้งการไม่อยากทำอะไรเลย เป็นเหตุให้เกิดอาการง่วงเหงาหาวนอนท้อแท้เบื่อหน่ายตามมา ที่เป็นเช่นนี้ เพราะ จิตใจของบุคคลนั้นไม่ได้รับการฝึกฝน จึงทำให้จิตหยาบ หรือทำความเพียรไม่ถูกวิธี จิตจึงยังไม่เข้มแข็งและยังไม่ประณีต
๒. ตันทิ ความเกียจคร้าน หมายความว่า ความเกียจคร้านนี้ ถ้าเกิดขึ้นในใจของบุคคลใดแล้ว ย่อมทำให้จิตใจของบุคคลนั้นท้อแท้ถดถอยไม่อยากทำภารกิจการงานใด ๆ มีข้ออ้างมากมาย เพื่อให้ตนเองไม่ต้องปฏิบัติธรรม หรือประกอบกิจการงาน พระพุทธองค์ได้ตรัสถึงข้ออ้างของบุคคลที่ไม่อยากทำงานหรือปฏิบัติธรรมไว้ ๘ ประการ คือ
๑] เมื่อจะต้องทำงาน ย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า เราจะต้องทำงาน เมื่อเราทำงาน ร่างกายก็จะเหน็ดเหนื่อย ควรที่เราจะนอนก่อน แล้วก็นอน ไม่ปรารภความเพียร เพื่อเข้าถึงธรรมที่ควรเข้าถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง
๒] เมื่อทำงานเสร็จแล้ว ย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า เราได้ทำการงานแล้ว ในขณะที่เราทำงานอยู่นั้น ร่างกายของเราก็เหน็ดเหนื่อยแล้ว เราควรจะนอนพักผ่อนก่อน แล้วก็นอน ไม่ปรารภความเพียรในการประกอบกิจอย่างอื่นอีก
๓] เมื่อจะต้องเดินทาง ย่อมมีความคิดว่า เราจะต้องเดินทางแล้ว เมื่อเราเดินทางอยู่ เราก็จะเหน็ดเหนื่อย ลำบากตรากตรำในระหว่างทาง ควรที่เราจะนอนเสียก่อน คิดอย่างนี้แล้วก็นอนเสีย ไม่ปรารภความเพียร
๔] เมื่อเดินทางไปถึงแล้ว ย่อมมีความคิดว่า เราเดินทางมาถึงแล้ว ในขณะที่เราเดินทางอยู่นั้น ร่างกายของเราก็เหน็ดเหนื่อย ลำบากตรากตรำ เราควรนอนพักเสียก่อน ว่าแล้วก็นอน ไม่ปรารภความเพียร
๕] เมื่อจะแสวงหาอาหาร ย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า เมื่อเราแสวงหาอาหาร คงจะได้ไม่เพียงพอแก่ความต้องการ ทั้งอาหารก็คงไม่ประณีต และกว่าจะได้มาก็เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า สายตัวแถบขาด ควรที่เราจะนอนพักเสียก่อน แล้วก็นอนเสีย ไม่ปรารภความเพียรที่จะแสวงหาอาหาร
๖] เมื่อแสวงหาอาหารมาได้แล้ว ย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า เราแสวงหาอาหาร ก็ได้มาไม่เพียงพอแก่ความต้องการ ทั้งอาหารที่ได้มาก็ไม่ประณีต และกว่าจะได้ก็เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า เหมือนถั่วที่บอบช้ำเพราะแช่น้ำนาน เราควรจะนอนพักเสียก่อน แล้วจึงนอนเสีย โดยไม่ปรารภความเพียร
๗] เมื่อเริ่มป่วยเล็กน้อย ย่อมมีความคิดว่า เราเริ่มป่วยไข้เล็กน้อยแล้ว ถ้าเราทำงาน อาการป่วยไข้ของเราก็จะกำเริบหนักขึ้น เราควรที่จะนอนก่อน แล้วก็นอนเสีย โดยไม่ปรารภความเพียร
๘] เมื่อหายป่วยแล้ว ย่อมมีความคิดว่า เราเพิ่งจะหายจากอาการป่วยไข้ไม่นาน ร่างกายของเรายังไม่แข็งแรงเต็มที่ ยังไม่ควรที่จะทำงาน ควรจะนอนพักผ่อนเสียก่อน เมื่อคิดดังนี้แล้วก็นอนเสีย โดยไม่ปรารภความเพียร
เพราะอาศัยข้ออ้างดังกล่าวมาข้างต้นนี้ จึงทำให้การบรรลุธรรมล่าช้า หรือขัดขวางต่อการบรรลุธรรม ในข้อนี้รวมถึงบุคคลที่เจริญภาวนาเพียงเล็กน้อยแล้วก็อ้างเหตุโดยประการต่าง ๆ ดังกล่าวแล้วละเลยเสีย ที่ถูกควรจะคิดว่า “เมื่อร่างกายของเราหายป่วย เริ่มจะแข็งแรงแล้ว เราควรที่จะรีบทำคุณงามความดีและจัดการภารกิจที่ควรจะทำให้เสร็จเรียบร้อยก่อน เพราะความป่วยไข้อาจกลับมาเยือนได้อีก ถ้าเป็นเช่นนั้น เราจะไม่ได้ทำกิจที่ควรจะทำ ดังนี้เป็นต้น
๓. วิชัมภิตา ความอ่อนเพลีย การบิดกายขี้เกียจ หมายความว่า เมื่อความอ่อนเพลียเกิดขึ้น บุคคลบางคนย่อมแสดงอาการบิดกายไปมา อันบ่งบอกถึงความเกียจคร้าน บางทีความง่วงซึมของร่างกายก็เกิดขึ้น อันเป็นลักษณะแสดงถึงความเกียจคร้านซึ่งเกิดขึ้นในใจของบุคคลนั้น เป็นเหตุให้บุคคลนั้นเกิดความท้อแท้ และถูกถีนมิทธะเข้าครอบงำ
๔. ภัตตสัมมทะ การเมาอาหาร หมายความว่า ปกติอาหาร ถ้าใครบริโภคเข้าไปมากเกินไป มักจะทำให้ร่างกายง่วงซึมได้ ท่านจึงเรียกว่า ความเมาในอาหาร การเมาอาหารเป็นปฏิกิริยาของร่างกายที่บริโภคอาหารมากเกินความต้องการ ทำให้ระบบการย่อยในร่างกายทำงานหนัก ต้องใช้พลังงานในการเผาผลาญมาก เป็นผลให้ ร่างกายเกิดอาการอ่อนเพลียตามมา
๕. เจตโส ลีนัตตัง การที่จิตหดหู่ หมายความว่า การที่จิตหดหู่ คือ การที่จิตท้อแท้เบื่อหน่ายต่อการกระทำกิจอันดีงาม เนื่องจากว่า จิตใจมีอาการไม่แช่มชื่นเบิกบาน ซึมเซา หน้าตาไม่สดชื่น เพราะเกิดความท้อแท้หมดกำลังใจ เรื่องที่จิตหดหู่ท้อแท้หรือเบื่อหน่ายนี้ มีผู้อธิบายไว้ว่า เกิดจากการที่เราทำอะไรแล้วไม่เห็นผล หรือไม่ได้ผลตามต้องการ บุคคลที่ผิดหวังอยู่เสมอในชีวิตประจำวัน หรือมีความกดดันในทางอารมณ์อยู่เสมอ คือ อยากจะได้อะไรหรืออยากจะให้ตัวเองเป็นอย่างไรแล้วไม่สมหวัง หรือมีความจำเป็นบังคับให้ตัวเองต้องอยู่กับเหตุการณ์หรืออยู่กับบุคคลซึ่งตัวเองไม่ค่อยชอบพอ ไม่อยากได้ ไม่อยากจะให้เป็นอย่างนั้น แต่ก็หนีไม่พ้น ต้องทนอยู่กับเหตุการณ์เช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก แม้บางคนจะต้องทนอยู่จนเคยชินแล้วก็ตาม แต่ภายในจิตใจก็ยังไม่สบายอยู่นั่นเอง ความสดชื่น ความร่าเริงในชีวิตประจำวันมีน้อย คนประเภทนี้ จึงมีความกดดันทางอารมณ์สูง และทุกครั้งที่มีความกดดันทางอารมณ์ ย่อมหมายถึงจะต้องมีความเบื่อหน่าย หรือความท้อแท้เกิดขึ้นตามมา และเมื่อเกิดขึ้นบ่อย ๆ จนกระทั่งกลายเป็นความหมักหมมไว้มาก ย่อมทำให้เกิดความเบื่อหน่าย แม้กระทั่งในสิ่งที่ตัวเองเคยชอบ เคยอยากจะทำ เคยอยากจะได้ก็ตาม ก็พลอยเบื่อหน่ายตามไปด้วย
ความเบื่อหน่ายที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ ในชีวิตประจำวัน ย่อมเป็นภัยอันร้ายแรงอย่างหนึ่ง ซึ่งคนโดยมากในสมัยปัจจุบันได้รับกันอยู่เสมอ เพราะความทะยานอยากมีมาก และความจำเป็นในชีวิตที่บีบคั้นให้คนเราอยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้มาสนองความต้องการ ทำให้ความไม่สบายใจหรือความเก็บกดเกิดขึ้นอยู่เสมอ ๆ ความไม่สบายใจหรือความเก็บกดเช่นนี้ ย่อมเป็นสาเหตุสำคัญของความเบื่อหน่าย
คนที่ไม่เคยทำอะไรสำเร็จด้วยตนเอง และมักจะล้มเหลวอยู่เสมอ ย่อมทำให้ความเชื่อมั่นในตนเองลดน้อยลงตามไปด้วย และถ้าหากความล้มเหลวเกิดขึ้นบ่อยๆ บุคคลนั้นย่อมเกิดความชินชา เกิดนิสัยเฉื่อยชาอืดอาด ทำให้เป็นคนจับจดทำอะไรไม่ได้นาน รู้สึกเบื่อง่าย ยิ่งถ้ามีเหตุการณ์บังคับให้ต้องทนทำ ก็จะเกิดความเบื่อหน่ายมากยิ่งขึ้น มักจะติดนิสัยเช่นนี้ คือ ถึงแม้จะได้นอนมาเต็มอิ่ม หรือไม่มีอาการอ่อนเพลียเลย แต่เมื่ออยู่ในอิริยาบถนิ่ง ๆ ทีไรก็มักง่วงเหงาหาวนอนทุกครั้งไป
นอกจากนี้ ในทางปฏิบัติเรามักจะพบสาเหตุของถีนมิทธะอีก ๒ ประการ คือ
๑. เกิดจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ ซึ่งอาจจะเกิดจากการนอนดึกเกินไป หรือระหว่างที่หลับนั้น อาจจะฝันมากเกินไป ทำให้หลับไม่สนิท และเกิดอาการเพลีย เมื่อตื่นขึ้นมา
๒. เกิดจากการที่ร่างกายอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า จากการทำงานที่ต้องใช้แรงกาย เสียเหงื่อไปมาก ๆ หรืออาจจะใช้ความคิดมากเกินไป จนจิตอ่อนเพลียไป