ไปยังหน้า : |
อวัตถาภูมิ หมายถึง ภูมิชั้นของธรรมที่ถูกกำหนดขอบเขตโดยอำนาจแห่งตัณหาทั้ง ๓ ได้แก่ กามตัณหา รูปตัณหา อรูปตัณหา กล่าวคือ ธรรมที่ตัณหาทั้ง ๓ สามารถเข้าไปยึดหน่วงเป็นอารมณ์ได้นั่นเอง และธรรมที่พ้นจากขอบเขตของตัณหาทั้ง ๓ กล่าวคือ ธรรมที่ตัณหาทั้ง ๓ นั้นไม่สามารถเข้าไปยึดหน่วงมาเป็นอารมณ์ได้ ฉะนั้น จึงรวมเป็นอวัตถาภูมิ ๔ ประการ คือ
๑. กามอวัตถาภูมิ หมายถึง ธรรมที่ถูกกำหนดขอบเขตด้วยอำนาจแห่งกามตัณหา คือ เป็นอารมณ์ของกามตัณหาโดยมาก ได้แก่ กามาวจรจิต ๕๔ เจตสิก ๕๒ รูป ๒๘ ได้แก่ รูป [สีต่าง ๆ] เสียง กลิ่น รส สัมผัส และอารมณ์ที่นึกคิดรับรู้ทางใจนั่นเอง ซึ่งเป็นที่น่าใคร่น่ายินดีพอใจของสัตว์ทั้งหลาย ผู้เกิดในกามภูมิ ๑๑ โดยมาก หรือเป็นที่น่ายินดีพอใจของกามาวจรจิตและเจตสิกที่ประกอบนั่นเอง นอกจากนี้ ยังเป็นอารมณ์แก่อภิญญาจิตได้ด้วย แต่ว่า อภิญญาจิต ไม่ได้ยินดีรักใคร่หลงใหล เหมือนกับกามาวจรจิต โดยเฉพาะที่เป็นอกุศลจิต ฉะนั้น จึงกล่าวว่า เป็นอารมณ์ที่น่ายินดีพอใจของกามาวจรจิตที่ประกอบด้วยกามตัณหา หรือเกี่ยวเนื่องกับกามตัณหาโดยมาก
๒. รูปอวัตถาภูมิ หมายถึง ธรรมที่ถูกกำหนดขอบเขตด้วยอำนาจแห่งรูปตัณหา คือ เป็นอารมณ์ของรูปตัณหาโดยมาก ได้แก่ รูปาวจรจิต ๑๕ เจตสิก ๓๕ คือ รูปฌาน รูปภพ หรืออารมณ์สมถะต่าง ๆ ที่ตัณหาเข้าไปยึดหน่วงมาเป็นอารมณ์
๓. อรูปอวัตถาภูมิ หมายถึง ธรรมที่ถูกกำหนดขอบเขตด้วยอำนาจแห่งอรูปตัณหา คือ เป็นอารมณ์ของอรูปตัณหาโดยมาก ได้แก่ อรูปาวจรจิต ๑๒ เจตสิก ๓๐ คือ อรูปฌาน อรูปภพ หรืออรูปกรรมฐาน ที่ตัณหาเข้าไปยึดหน่วงมาเป็นอารมณ์
๔. โลกุตตรอวัตถาภูมิ หมายถึง ธรรมที่พ้นจากการถูกกำหนดขอบเขตของตัณหาทั้ง ๓ โดยสิ้นเชิง คือ ตัณหาทั้ง ๓ [ได้แก่ กามตัณหา รูปตัณหา อรูปตัณหา] ไม่สามารถไปยึดหน่วงโลกุตตรธรรมนั้นมาเป็นอารมณ์ได้ ได้แก่ โลกุตตรจิต ๘ หรือ ๔๐ เจตสิก ๓๖ และนิพพาน