| |
ลักขณาทิจตุกะของสัมมาอาชีวเจตสิก   |  

บัณฑิตผู้มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายแล้ว ย่อมสามารถกำหนดพิจารณาเรียนรู้สภาวะของสัมมาอาชีวเจตสิก อันเป็นปรมัตถธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งนับเนื่องในสังขารขันธ์ เพราะเป็นสภาวธรรมที่ปรุงแต่งจิตให้เกิดการรับอารมณ์เป็นพิเศษออกไปจากเวทนาขันธ์และสัญญาขันธ์ โดยอาศัยคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตน ที่ไม่เหมือนกับสภาวธรรมเหล่าอื่น ๔ ประการ ที่เรียกว่า วิเสสลักษณะ หรือ ลักขณาทิจตุกะ ดังต่อไปนี้

๑. ทุจจริตะอะวีติกกะมะลักขะโณ มีการไม่ก้าวล่วงทุจริต เป็นลักษณะ หมายความว่า สัมมาสัมอาชีวเจตสิกนี้ เป็นสภาวธรรมที่ทำการงดเว้นจากทุจริตทุราชีพ ทั้ง ๗ คือ กายทุจริต ๓ วจีทุจริต ๔ ที่เกี่ยวกับอาชีพ เพราะฉะนั้น เมื่อมีทุจริต ๗ ประการ ดังกล่าวแล้ว อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ซึ่งเกี่ยวกับการทำมาหาเลี้ยงชีพ ได้แก่ ฆ่าสัตว์เอามาบริโภค ลักทรัพย์เอามาใช้สอย การขายบริการทางเพศ เป็นต้น หรือ การแสวงหาปัจจัยมาเลี้ยงชีพ ได้แก่ การฆ่าสัตว์ไปขายนำปัจจัยมาเลี้ยงชีพ การลักทรัพย์ไปขายนำปัจจัยมาเลี้ยงชีพ การค้าขายมนุษย์เพื่อนำปัจจัยมาเลี้ยงชีพ การรับจ้างพูดโกหก พูดใส่ร้ายป้ายสี รับจ้างด่า เล่นตลกคึกคะนอง เป็นต้นเพื่อนำปัจจัยมาเลี้ยงชีพ เมื่อสัมมาอาชีวเจตสิกเกิดขึ้นแล้วย่อมทำการงดเว้นไม่ล่วงละเมิดทุริตกรรมเพื่อการหาเลี้ยงชีพเหล่านั้นเสีย

๒. ตะโต สังโกจะนะระโส มีการลดน้อยถอยลงจากทุจริตนั้น เป็นกิจ หมายความว่า สัมมาอาชีวเจตสิกนี้ เมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมทำการงดเว้นจากทุจริตทุราชีพที่กำลังกระทำอยู่มิให้ล่วงล้ำสำเร็จเป็นกรรมบถ และย่อมบรรเทาการกระทำทุจริตทุราชีพที่เคยกระทำมาแล้วให้บรรเทาเบาบาง ทำให้จิตมีสภาพลดน้อยถอยลงจากการกระทำทุจริตทุราชีพนั้นจนหมดไปในที่สุด

๓. อะก๎ริยะปัจจุปปัฏฐาโน มีการไม่กระทำทุจริตทุราชีพทุกอย่าง เป็นอาการปรากฏ หมายความว่า บุคคลที่ผ่านการฝึกฝนอบรมตนด้วยคุณธรรมคือสัมมาอาชีวะแล้ว ย่อมเป็นบุคคลที่สามารถงดเว้นจากทุจริตทุราชีพทั้งหลายได้ ด้วยสัมปัตตวิรัติ คือ การงดเว้นในขณะที่ประสบกับเหตุการณ์เฉพาะหน้าก็ดี หรือด้วยสมาทานวิรัติ คือ การงดเว้นโดยการตั้งใจไว้ก่อนแล้ว ซึ่งเป็นการงดเว้นในชีวิตประจำวันของกัลยาณปุถุชนทั่วไปที่มีคุณธรรมเป็นเครื่องหล่อหลอม ส่วนพระอริยบุคคลนั้น ท่านได้ตัดกิเลสที่เป็นเหตุให้กระทำทุจริตทุราชีพได้ขาดจากขันธสันดานแล้ว เพราะฉะนั้น การงดเว้นจากกิเลสของท่าน จึงเรียว่า สมุจเฉทวิรัติ แปลว่า การงดเว้นโดยเด็ดขาด

๔. สัทธาสะติหิริโอตตัปปะพาหุสัจจะวิริยะปัญญาปะทัฏฐานา วา อัปปิจฉะตาทิคุณะปะทัฏฐานา มีคุณสมบัติของสัปบุรุษ คือ ศรัทธา สติ หิริ โอตตัปปะ พาหุสัจจะ วิริยะ ปัญญา เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หรือ มีคุณธรรม คือ ความมักน้อย เป็นต้น เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า สัมมาอาชีวเจตสิกจะเกิดขึ้นกับบุคคลใดได้ บุคคลนั้นย่อมเป็นผู้ที่มีคุณธรรมเป็นเครื่องรองรับ อันทำให้เป็นผู้มีจิตสำนึกรู้สึกผิดชอบชั่วดี จึงจะสามารถเกิดความคิดงดเว้นจากสิ่งที่ไม่ดีได้ด้วยใจบริสุทธิ์ ถ้าหากว่า เป็นบุคคลผู้มืดบอดด้วยอำนาจกิเลส ถูกอำนาจตัณหาปกคลุมไว้จนมืดมิด ไม่รู้จัดผิดชอบชั่วดีแล้ว ย่อมไม่รู้สำนึกว่า อะไรเป็นบุญ อะไรเป็นบาป เมื่อเป็นเช่นนี้ การที่จะคิดงดเว้นจากทุจริตทุราชีพย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะฉะนั้น สัมมาอาชีวเจตสิกจึงต้องมีคุณธรรมเป็นพื้นฐานให้เกิดขึ้น ได้แก่ สัปปุริสธรรม คือ ธรรมของสัตบุรุษหรือธรรมของกัลยาณชนคนดี มี ๗ ประการ ได้แก่ ๑] ศรัทธา คือ ความเชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อควรเลื่อมใส ๒] สติ คือ ความระลึกรู้สึกตัว ๓] หิริ คือ ความละอายต่อบาป ๔] โอตตัปปะ คือ ความเกรงกลัวต่อบาป ๕] พาหุสัจจะ คือ การได้ยินได้ฟังมากหรือความเป็นพหูสูต ๖] จาคะ ความเสียสละ ๗] ปัญญา ความรอบรู้ หรือคุณธรรมอื่น ๆ มี อัปปิจฉตา คือ ความมักน้อยยินดีในของที่ตนได้มาโดยชอบธรรม เป็นต้น

[อีกนัยหนึ่ง]

บัณฑิตทั้งหลายย่อมพิจารณาเรียนรู้สภาวะของสัมมาอาชีวเจตสิก โดยอาศัยคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตนอีก ๔ ประการ ดังต่อไปนี้

๑. โวทานะลักขะโณ มีความผ่องแผ้ว เป็นลักษณะ หมายความว่า สัมมาอาชีวเจตสิกนั้น เป็นสภาวธรรมที่มีความผ่องแผ้วโดยสภาวะ เพราะเป็นสภาวธรรมที่ทำการงดเว้นจากทุจริตทุราชีพซึ่งเป็นมลทินของจิตใจให้หมดไป เพราะฉะนั้น ถ้าบุคคลใดเป็นผู้มีอาชีวะบริสุทธิ์ บุคคลนั้นย่อมเป็นที่รักและเป็นที่เคารพของบุคคลทั้งหลาย เช่น ภิกษุสามเณรผู้มีศีล เป็นต้น ย่อมเป็นที่รักและเคารพของบุคคลทั้งหลาย

๒. กายะชีวัปปะวัตติระโส มีความผ่องแผ้วแห่งจิตเจตสิกเป็นกิจ หมายความว่า เมื่อสัมมาอาชีวเจตสิกเกิดขึ้นแล้ว ย่อมทำให้สัมปยุตตธรรมคือจิตและเจตสิกที่เกิดพร้อมกันในขณะนั้น มีความผ่องแผ้วบริสุทธิ์ปราศจากอำนาจกิเลสครอบงำ และบุคคลผู้มีจิตประกอบด้วยสัมมาอาชีวเจตสิกนั้น ย่อมมีจิตใจที่ผ่องแผ้วและมีหน้าตาผ่องใส มีความคิดอ่านที่จะกระทำกิจการงานต่าง ๆ เพื่อทำมาหาเลี้ยงชีพในทางที่สุจริตและยุติธรรม ถูกต้องตามหลักวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม ไม่ผิดกฎหมายบ้านเมืองหรือกฎกติกาของสังคม ตลอดถึงไม่ให้ล่วงละเมิดต่อศีลธรรมอันดีงามของศาสนา

๓. มิจฉาอาชีวัปปะหานะปัจจุปปัฏฐาโน มีการประหาณมิจฉาชีวะ เป็นอาการปรากฏ หมายความว่า เมื่อสัมมาอาชีวเจตสิกเกิดขึ้นแล้ว ย่อมชักนำให้สัมปยุตตธรรมที่เกิดพร้อมกับตนทำการประหาณมิจฉาอาชีวะทุกอย่างที่เคยกระทำมาแล้วก็ดี ที่กำลังกระทำอยู่ก็ดี และที่จะกระทำในกาลข้างหน้าก็ดีให้หมดไป ด้วยสัมปัตตวิรัติ คือ การงดเว้นต่อสิ่งที่จะล่วงละเมิดในขณะที่ประจวบเข้าเฉพาะหน้า หรือด้วยสมาทานวิรัติ คือ การได้สมาทานตั้งใจงดเว้นไว้ล่วงหน้าก่อนแล้ว ตลอดถึงการงดเว้นโดยเด็ดขาด เรียกว่า สมุจเฉทวิรัติ ด้วยอำนาจแห่งมรรคญาณ

๔. สัทธาหิโรตตัปปาทิคุณะปะทัฏฐาโน มีคุณธรรมคือ สัทธา หิริ โอตตัปปะ เป็นต้น เป็นเหตุใกล้ให้เกิด [ดังกล่าวแล้วในเบื้องต้น]


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |