| |
ประเภทของอาโป อาโปธาตุ ๒ ประเภท   |  

พระอาจารย์สัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะรุ.๗๕ ได้แสดงประเภทและความหมายของอาโปธาตุไว้ ๒ ประเภทดังนี้

๑. อาโปธาตุที่มีสภาพเป็นอาพันธนลักษณะ คือ ลักษณะเกาะกุม แต่เมื่อถูกอุณหเตโช [ไฟร้อน] แล้ว ปัคฆรณลักษณะคือลักษณะเหลวและไหลไปได้ก็ปรากฏ ได้แก่ อาโปธาตุที่อยู่ในเหล็ก ทอง ขี้ผึ้ง เป็นต้น หมายความว่า เหล็ก หรือทอง หรือขี้ผึ้ง เป็นต้นเหล่านี้เมื่อถูกหลอมหรือเผาไฟแล้ว ก็จะกลายเป็นวัตถุเหลวสามารถไหลไปมาได้ ซึ่งการไหลไปมาได้ของวัตถุสิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่อาโปธาตุเป็นตัวไหล แต่ปถวีธาตุที่เกิดร่วมกันกับอาโปธาตุนั้นเองเป็นตัวไหล และในวัตถุเดียวกันนั้นเอง ถ้าเอาไปใส่น้ำหรือให้อยู่ในความเย็นจัด ก็จะกลับแข็งตัวเป็นก้อนเป็นแท่งตามเดิม ในการแข็งตัวของวัตถุธาตุเหล่านี้ เป็นการแข็งตัวของปถวีธาตุ หาใช่เป็นการแข็งตัวของอาโปธาตุไม่

๒. อาโปธาตุที่มีสภาพเป็นปัคฆรณลักษณะ คือ ลักษณะไหลไป แต่เมื่อถูกสีตเตโช[ไฟเย็น] แล้ว อาพันธนลักษณะคือลักษณะเกาะกุมก็ปรากฏ ได้แก่ อาโปธาตุที่อยู่ในน้ำ หมายความว่า ธรรมดาน้ำเป็นวัตถุเหลวอยู่แล้ว แต่ถ้าเอาน้ำนั้นไปใส่ในสิ่งที่มีความเย็นจัดแล้ว น้ำนั้นก็จะกลายเป็นก้อนน้ำแข็ง และเมื่อเอาก้อนน้ำแข็งออกมาจากที่ที่มีความเย็นจัดนั้นแล้ว ก้อนน้ำแข็งถูกอากาศภายนอกที่มีอุณหเตโช [ไฟร้อน] แล้ว ก้อนน้ำแข็งนั้นก็จะละลายเป็นวัตถุเหลวและไหลไปได้ตามเดิม

บทสรุปของผู้เขียน :

อาโปธาตุมี ๒ ลักษณะ คือ

๑. อาโปธาตุที่มีอาพันธนลักษณะ คือ ลักษณะที่เกาะกุม หรือเรียกว่า อาพันธนอาโป หมายถึง อาโปธาตุที่เกาะกุมธาตุอื่น ๆ ซึ่งมีปถวีธาตุเป็นประธานให้รวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนอยู่ได้ ทำให้สิ่งของนั้นมีลักษณะแข็ง แต่เมื่ออาพันธนอาโปนั้นกระทบถูกต้องกับอุณหเตโชคือความร้อนเข้าแล้ว ปัคฆรณลักษณะคืออาการเหลวและไหลไปได้ก็ปรากฏขึ้น ซึ่งได้แก่ อาโปธาตุที่อยู่ในโลหะต่าง ๆ เช่น เหล็ก ทองแดง เงิน หรือขี้ผึ้ง เป็นต้น หมายความว่า อาโปธาตุที่อยู่ในสิ่งเหล่านี้ เมื่อถูกไฟเผาไหม้แล้วก็จะกลายเป็นของเหลวละลายตัวและสามารถไหลไปได้ แต่การไหลไปของวัตถุเหล่านั้น ไม่ใช่อาโปธาตุเป็นผู้ไหล ธาตุต่าง ๆ ที่มีปถวีธาตุเป็นประธานซึ่งเกิดร่วมกับอาโปธาตุต่างหากที่เป็นผู้ไหลไป ในวัตถุสิ่งเดียวกันนั้นเอง ถ้าเอาไปใส่ในน้ำหรือในสถานที่ที่มีความเย็นสูง เมื่อถูกความเย็นจัด วัตถุเหล่านั้นก็จะกลับแข็งตัวเป็นก้อนตามเดิม ในการกลับตัวเป็นก้อนแข็งของวัตถุธาตุเหล่านั้น ก็ไม่ใช่เป็นการแข็งตัวของอาโปธาตุแต่อย่างใด แต่เป็นการแข็งตัวของธาตุต่าง ๆ ที่มีปถวีธาตุเป็นประธาน ซึ่งเกิดร่วมกับอาโปธาตุนั่นเอง

๒. อาโปธาตุที่มีปัคฆรณลักษณะ คือ ลักษณะที่เหลวและไหลไปได้ หรือเรียกว่า ปัคฆรณอาโป ได้แก่ ธาตุน้ำที่อยู่ในของเหลวต่าง ๆ มีน้ำเป็นต้น แต่เมื่อปัคฆรณอาโปนั้นกระทบกับสีตเตโชคือความเย็นเข้าแล้ว อาพันธนลักษณะของอาโปธาตุ คือ อาการเกาะกุมจับกันเป็นก้อนก็จะปรากฏขึ้น ได้แก่ อาโปธาตุที่อยู่ในน้ำ ธรรมดาน้ำเป็นของเหลวอยู่แล้ว ถ้านำน้ำนั้นไปใส่ไว้ในสถานที่ที่มีความเย็นจัด น้ำก็จะค่อย ๆ แข็งตัวเป็นก้อน เรียกว่า น้ำแข็ง หรือหิมะ และเมื่อเอาน้ำแข็งหรือหิมะออกจากสถานที่ที่มีความเย็นจัดนั้นแล้ว น้ำแข็งหรือหิมะถูกอากาศภายนอกที่มีอุณหเตโช [ความร้อน] สูงกว่า ก้อนน้ำแข็งหรือหิมะนั้นก็จะละลายกลับเป็นของเหลวตามเดิม


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |