| |
เหตุที่ทำให้แผ่นดินไหว ๘ ประการ   |  

แผ่นดินโลกถึงแม้จะมีความหนาได้ ๒๔๐,๐๐๐ โยชน์ก็ตาม แต่ย่อมแสดงอาการหวั่นไหวได้ เมื่อมีเหตุที่ทำให้แผ่นดินนี้ไหว เหตุที่ทำให้แผ่นดินเกิดอาการสะเทือนสะท้านหวั่นไหวนั้น มี ๘ ประการรุ.๖๑ คือ

๑. ลมกำเริบ

๒. ท่านผู้มีฤทธิ์บันดาล

๓. พระโพธิสัตว์ลงสู่ปฏิสนธิในครรภ์พระมารดา

๔. พระโพธิสัตว์ประสูติจากครรภ์พระมารดา

๕. พระโพธิสัตว์ได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ

๖. พระตถาคตเจ้าทรงแสดงพระปฐมเทศนา

๗. พระตถาคตเจ้าทรงปลงพระชนมายุสังขาร

๘. พระตถาคตเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน

การไหวของแผ่นดินข้อที่ ๒ นั้น เป็นการไหวทั้งหมดก็ได้ หรือไหวเฉพาะเป็นบางส่วนก็ได้ ตามความสามารถและเจตจำนงของท่านผู้แสดงฤทธิ์ ส่วนการไหวด้วยเหตุ ๗ ประการนอกนี้ เป็นการไหวของผืนโลกทั้งหมด เพราะลมกำเริบนั้น หมายถึง ลมที่อยู่ใต้ก้อนน้ำแข็ง และก้อนน้ำแข็งรองรับพื้นแผ่นดินไว้อีกชั้นหนึ่ง เพราะฉะนั้น เมื่อลมเคลื่อนตัว ก้อนน้ำแข็งก็สั่นสะเทือนเคลื่อนไหวด้วย และพื้นแผ่นดินที่ตั้งอยู่บนก้อนน้ำแข็งก็ย่อมสั่นสะเทือนเคลื่อนไหวด้วย

ส่วนที่เรียกกันว่า แผ่นดินไหว ในยุคสมัยปัจจุบันนั้น ความจริงแล้ว เรียกว่า แผ่นดินแยก หรือ แผ่นดินทรุด ต่างหาก เพราะไม่ได้เกิดจากเหตุ ๘ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังกล่าวแล้ว และไม่ใช่เป็นการไหวทั้งผืนโลกจนถึงน้ำรองแผ่นดิน เหมือนหลักฐานในคัมภีร์ที่ท่านกล่าวไว้แล้วนั้น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |