| |
คุณสมบัติพิเศษของชรตารูป   |  

อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวี อดีตประธานมูลนิธิแนบ มหานีรานนท์รุ.๔๓๙ ได้แสดงคุณลักษณะพิเศษของชรตารูปไว้ดังต่อไปนี้

๑. รูปปริปากลกฺขณา มีความแก่หง่อมของนิปผันนรูป เป็นลักษณะ

๒. อุปานยนรสา มีการนำเข้าไปใกล้ความดับ เป็นกิจ

๓. นวภาวาปคมนปจฺจุปฏฺานา มีการไม่เข้าถึงความเกิดใหม่ เป็นอาการปรากฏ

๔. ปริปจฺจมานรูปปทฏฺานา มีรูปที่กำลังสุกงอมดุจข้าวเปลือกแก่ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด

คำอธิบายเพิ่มเติมของผู้เขียน :

จากคุณสมบัติพิเศษของชรตารูปที่ท่านได้แสดงไปแล้วนั้น ข้าพเจ้าจะได้อธิบายความหมายเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจในรายละเอียดแห่งคุณสมบัติพิเศษแต่ละอย่างดังต่อไปนี้

๑. รูปปริปากลกฺขณา มีความแก่หง่อมของนิปผันนรูป เป็นลักษณะ หมายความว่า อาการที่นิปผันนรูปหรือรูปธรรมทั้งหลายแก่ลงตามลำดับนั่นแหละ คือ ตัวชรตารูป เพราะชรตารูปนี้ไม่มีสภาวะและรูปร่างสัณฐานสีสันวรรณะอยู่โดยเฉพาะต่างหากเหมือนกับนิปผันนรูปทั้งหลาย แต่เป็นอาการแก่ชราเสื่อมโทรมลงของรูปทั้งหลายเท่านั้นเอง และที่ชื่อว่า เป็นรูปปรมัตถ์อย่างหนึ่งนั้น ก็เพราะเป็นอาการที่ติดมากับรูปธรรมทั้งหลายที่ปรากฏเกิดขึ้น อนึ่ง รูปธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นมาแล้ว ย่อมจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงและเสื่อมโทรมลงเป็นธรรมดาทุกอย่างไป ไม่มีรูปใดดำรงมั่นยั่งยืนอยู่อย่างเดิมได้ตลอดไป ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงจัดอาการแก่ชราเสื่อมโทรมลงแห่งรูปทั้งหลายนี้เป็นรูปธรรมอย่างหนึ่ง

๒. อุปานยนรสา มีการนำเข้าไปใกล้ความดับ เป็นกิจ หมายความว่า สิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงเสื่อมโทรมลงทุกอย่างนั้น ย่อมหมายถึง เป็นการคืบคลานเข้าไปใกล้ความดับสิ้นไปทุกที อาการคืบคลานไปสู่ความดับนี่แหละ ที่เป็นหน้าที่ของชรตารูป อันเป็นหน้าที่ที่สำเร็จมาแต่คุณสมบัติหรือลักษณะของชรตารูป เพราะชรตารูปนี้ไม่มีสภาวะตัวตนอยู่อย่างแท้จริง เป็นแต่เพียงอาการเสื่อมโทรมลงแห่งรูปธรรมทั้งหลายเท่านั้น และมีสภาพเป็นอัพยากตะ คือ ไม่มีการขวนขวายเพื่อให้สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นหรือเป็นไปตามที่ตนปรารถนาแต่ประการใด เป็นสิ่งที่ปรากฏขึ้นตามเหตุปัจจัยของรูปนั้น ๆ เท่านั้น แต่อาการเปลี่ยนแปลงและเสื่อมโทรมลงแห่งรูปธรรมทั้งหลายนั่นแหละ เป็นตัวทำให้รูปธรรมทั้งหลายคืบคลานเข้าไปใกล้ความดับสำเร็จไปด้วยในตัว เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า มีการนำเข้าไปใกล้ความดับ เป็นสัมปัตติรสของชรตารูป

๓. นวภาวาปคมนปจฺจุปฏฺานา มีการไม่เข้าถึงความเกิดใหม่ เป็นอาการปรากฏ หมายความว่า สรรพสิ่งทั้งหลายเมื่อถึงความแก่หง่อมเพราะหมดเหตุปัจจัยลงแล้ว ย่อมไม่สามารถกลับสภาพเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ หรือไม่มีใครทำให้กลับเป็นสิ่งที่เพิ่งปรากฏขึ้นใหม่ได้ มีแต่จะบ่ายหน้าไปสู่ความดับอย่างเดียว อาการที่แก่หง่อมลงและก้าวไปสู่ความดับแห่งรูปธรรมทั้งหลายนั่นแหละ เป็นอาการปรากฏอันสำเร็จมาจากสัมปัตติรสของชรตารูป

๔. ปริปจฺจมานรูปปทฏฺานา มีรูปที่กำลังสุกงอมดุจข้าวเปลือกแก่ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า ชรตารูปนี้จะปรากฏสภาพออกมาได้ ก็ต้องมีรูปธรรมที่กำลังแก่หง่อมลงแล้วเท่านั้น ถ้ารูปธรรมนั้น ๆ ยังไม่ถึงความแก่ คือ กำลังเกิดขึ้นใหม่ก็ดี หรือกำลังสืบต่ออยู่ก็ดี ชรตารูปนี้ก็ยังไม่ปรากฏสภาพออกมา ต่อเมื่อรูปธรรมนั้น ๆ ถึงความแก่หง่อมแล้วนั่นแหละ ชรตารูปนี้จึงปรากฏสภาพได้


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |