| |
ธรรมที่เป็นเหตุให้เกิดอุเบกขาสัมโพชฌงค์ ๕ ประการ   |  

พระโยคีบุคคล คือ ผู้บำเพ็ญเพียรทางจิต เมื่อต้องการเจริญอุเบกขาภาวนาให้เข้าถึงความเป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์ซึ่งเป็นองค์ประกอบแห่งธรรมเป็นเครื่องตรัสรู้อริยสัจ ๔ นั้น ต้องปฏิบัติตามวิธีการ ๕ ประการ คือ

๑. สัตตะมัชฌัตตะตา การวางตนเป็นกลางในสัตว์และบุคคลทั้งหลาย หมายความว่า การที่บุคคลจะเจริญตัตตรมัชฌัตตตาให้เข้าถึงความเป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์นั้น ต้องปรับสภาพจิตให้วางเฉยในสัตว์และบุคคลทั้งหลาย โดยไม่ขวนขวายในกิจอย่างอื่น โดยผ่านการเจริญอัปปมัญญาทั้ง ๓ มาแล้ว ได้แก่ การเจริญเมตตาอัปปมัญญา ด้วยการยังความใคร่เอ็นดูให้เกิดขึ้นในสัตว์หรือบุคคลผู้เป็นที่รัก การเจริญกรุณาอัปปมัญญา ด้วยการยังความสงสารเห็นใจให้เกิดขึ้นในสัตว์หรือบุคคลผู้ประสบความทุกข์ยาก การเจริญมุทิตาอัปปมัญญา ด้วยการยังความพลอยยินดีอนุโมทนาให้เกิดขึ้นในสัตว์หรือบุคคลที่ได้ดีมีความสุขประสบความสำเร็จในชีวิตและหน้าที่การงาน เมื่อผ่านพ้นการเจริญอัปปมัญญาทั้ง ๓ อย่างนี้ อย่างใดอย่างหนึ่งมาแล้ว พระโยคีบุคคลจึงสามารถเจริญอุเบกขาอัปปมัญญาให้เกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้น อุเบกขาอัปปมัญญาจึงมีสภาพที่ละเอียดประณีตกว่าอัปปมัญญาทั้ง ๓ อย่างข้างต้น เมื่อบุคคลเจริญตัตตรมัชฌัตตตาจนถึงความเป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์แล้ว ย่อมสามารถวางเฉยในสัตว์และบุคคลทั้งหลายได้ โดยไม่ต้องขวนขวายในการรัก สงสาร หรืออนุโมทนายินดีในสัตว์และบุคคลทั้งหลาย แต่อย่างใด

๒. สังขาระมัชฌัตตะตา วางตนเป็นกลางในวัตถุสิ่งของต่าง ๆ หมายความว่า พระโยคีบุคคลที่เจริญภาวนาเพื่อให้ถึงความอุเบกขาสัมโพชฌงค์นั้น ต้องทำใจให้วางเฉยในสัตว์และบุคคลทั้งหลายและทำใจให้วางเฉยในทรัพย์สินและวัตถุสิ่งทั้งหลาย ทั้งที่เป็นสังหาริมสังขาร คือ สังขารที่เคลื่อนย้ายได้ และอสังหาริมสังขาร คือ สังขารที่ไม่สามารถเคลื่อนที่ได้ หรือปัจจัยเครื่องใช้สอยต่าง ๆ โดยพิจารณาว่า สรรพสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ เป็นของโลก เราเกิดมาก็ยืมโลกใช้ เมื่อถึงเวลาก็ต้องคืนให้แก่โลก หรือเมื่อโลกต้องการเอาคืนก็ต้องยอมคืนให้แก่โลก เพราะสรรพสิ่งทั้งหลายเป็นสังขารธรรม คือ สิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้นและเป็นไปตามเหตุปัจจัย ย่อมมีความแปรเปลี่ยนไปได้เสมอ เมื่อพิจารณาโดยทำนองนี้แล้ว ย่อมวางเฉยในสรรพสิ่งทั้งปวงได้

๓. สัตตะสังขาระเกลายะนะปุคคะละปะริวัชชะนะตา ไม่คบคนที่ยึดถือในสัตว์บุคคลและสิ่งของจนเกินไป หมายความว่า พระโยคีบุคคลผู้ต้องการดำเนินภาวนาไปสู่ความเป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์ ต้องรู้จักรักษาความรู้สึกและอารมณ์ที่เป็นปฏิปักษ์ต่ออุเบกขาสัมโพชฌงค์ ความรู้สึกที่เป็นปฏิปักษ์ต่ออุเบกขาสัมโพชฌงค์ได้แก่ ความทะยานอยาก ความดิ้นรน ความยึดติดในสรรพสิ่งทั้งปวง ทั้งที่น่าปราถนาและไม่น่าปรารถนา [ทั้งดีและไม่ดี] เมื่อเกิดความรู้สึกเช่นนี้ อุเบกขาภาวนาย่อมไม่ดำเนินไปสู่ความเป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์ได้ อาจหยุดชะงักหรือเสื่อมถอยหายไป ส่วนอารมณ์ที่เป็นปฏิปักษ์ต่ออุเบกขาสัมโพชฌงค์นั้น ได้แก่ อารมณ์อันน่าใคร่น่ายินดี หรือสรรพสัตว์ที่น่ารักใคร่เอ็นดูก็ดี น่าสงสารก็ดี หรือน่าอนุโมทนายินดีด้วยก็ดี ล้วนแต่เป็นอารมณ์ที่จะยั่วยุให้บุคคลเกิดความรู้สึกคล้อยตามสภาพของอารมณ์นั้นด้วย อนึ่ง บุคคลที่เป็นปฏิปักษ์ต่ออุเบกขาสัมโพชฌงค์ ได้แก่ บุคคลผู้มีความยึดมั่นผูกพันหรือมักขวนขวายในสัตว์บุคคลและสิ่งของต่าง ๆ มากเกินไป ไม่สามารถทำใจวางเฉยเป็นกลางได้ เมื่อพระโยคีบุคคลไปคลุกคลีเกี่ยวข้องกับบุคคลเช่นนี้ จิตใจย่อมคล้อยตามบุคคลนั้นไป ทำให้อุเบกขาสัมโพชฌงค์เสื่อมถอยไปได้ ด้วยเหตุนี้ พระโยคีบุคคลควรหลีกเว้นบุคคลเช่นนั้นเสีย เพื่อรักษาสภาพของอุเบกขาสัมโพชฌงค์ให้คงอยู่อย่างมั่นคง

๔. สัตตะสังขาระมัชฌัตตะปุคคะละเสวะนะตา เลือกคบเฉพาะบุคคลที่วางตนเป็นกลางในสัตว์และสังขาร หมายความว่า วิธีการอย่างหนึ่งที่พระโยคีบุคคลผู้เจริญอุเบกขาภาวนาให้ถึงความเป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์นั้น ต้องหลีกเว้นจากบุคคลผู้ยึดมั่นในสัตว์บุคคลและวัตถุสิ่งของจนเกินไป และเมื่อต้องการให้อุเบกขาสัมโพชฌงค์เจริญขึ้นหรือดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงนั้น ต้องเลือกคบหาสมาคมเฉพาะกัลยาณมิตรผู้รู้จักวางเฉยเป็นกลางในสัตว์บุคคลและวัตถุสิ่งของต่าง ๆ โดยไม่ขวนขวายหรือพะวงถึงสิ่งเหล่านั้นจนทำให้สภาพจิตเสื่อมถอยจากความเป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์

๕. ตะทะธิมุตตะตา น้อมจิตไปในอุเบกขาสัมโพชฌงค์ หมายความว่า พระโยคีบุคคลผู้เจริญอุเบกขาภาวนาอยู่ เมื่อยังไม่บรรลุถึงความเป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์ ต้องพยายามน้อมจิตไปเฉพาะในสภาพของอุเบกขาสัมโพชฌงค์เท่านั้น เพื่อให้จิตฝักใฝ่อยู่ในอุเบกขาสัมโพชฌงค์ เมื่อได้บรรลุถึงความเป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์แล้ว ต้องทำจิตให้ผูกพันอยู่แต่ในอุเบกขาสัมโพชฌงค์นั้นอย่างเดียวโดยไม่สนใจในอารมณ์อื่น เมื่อปฏิบัติเช่นนี้แล้ว จิตใจของพระโยคีบุคคลนั้นย่อมตั้งมั่นอยู่ในสภาพของอุเบกขาสัมโพชฌงค์อย่างต่อเนื่องไป


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |