| |
อรูปาวจรกุศลจิต   |  

อรูปฌานกุศลจิต หมายถึง ฌานจิตที่เกิดขึ้นโดยการเจริญสมถภาวนาต่อจากรูปาวจรปัญมฌานกุศลจิตจนถึงอรูปาวจรกุศลจิตเกิดขึ้นและเป็นไปพร้อมด้วยการปรุงแต่งอรูปาวจรกุศลเจตนาไว้ให้ได้รับสมบัติความเป็นอรูปพรหมในอรูปภูมิในภพชาติหน้าและให้ได้เสวยสุขในอรูปฌานหรืออรูปสมาบัติในปัจจุบันภพนี้ด้วย ตราบเท่าระยะเวลาที่ฌานนั้นยังไม่เสื่อม อรูปฌานกุศลจิตนี้ มี ๔ ดวง คือ

อรูปาวจรกุศลจิต ดวงที่ ๑

อุเปกขาเอกัคคตาสหิตัง อากาสานัญจายตนกุสลจิตตัง

อากาสานัญจายตนกุศลจิต ๑ ที่เกิดพร้อมด้วยองค์ฌาน ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตา

อรูปาวจรกุศลจิตดวงที่ ๑ นี้เป็นอรูปฌานจิตที่เกิดขึ้นในขณะที่รูปาวจรปัญจมฌานลาภีบุคคลที่เป็นติเหตุกปุถุชนก็ดี หรือที่เป็นพระเสกขบุคคลก็ดี โดยใช้รูปาวจรปัญจมฌานกุศลจิตเป็นบาทแล้วทำการเจริญอากาสานัญจายตนฌานต่อไป โดยการเพ่งปฏิภาคนิมิตของกสิณบัญญัติอย่างใดอย่างหนึ่ง มีปฐวีกสิณเป็นต้น แล้วกำหนดเพิกปฏิภาคนิมิตของกสิณบัญญัติ [เว้นอากาสกสิณ] นั้น ออกไปเสียจากจิตใจ ให้เหลืออยู่แต่เพียงสภาพอากาศที่ว่างเปล่าในวงรอบขอบเขตแห่งปฏิภาคนิมิตของกสิณนั้น โดยภาวนาว่า “อากาโส อะนันโต ๆ แปลว่า อากาศไม่มีที่สุด” เรียกว่า กสิณุคฆาฏิมากาสบัญญัติ เมื่อภาวนาเช่นนี้เรื่อยไป จนสภาพของกสิณุคฆาฏิมากาสนิมิตนั้นปรากฏเด่นชัดขึ้นในใจแล้ว เมื่อนั้น อากาสานัญจายตนกุศลจิตย่อมเกิดขึ้นพร้อมกับยึดหน่วงเอากสิณุคฆาฏิมากาสนิมิตนั้นมาเป็นอารมณ์อย่างแนบแน่น หรือเกิดขึ้นในขณะที่อากาสานัญจายตนฌานลาภีบุคคล ที่เป็นปุถุชนหรือพระเสกขบุคคลเข้าอากาสานัญจายตนฌานสมาบัติ

อรูปาวจรกุศลจิต ดวงที่ ๒

อุเปกขาเอกัคคตาสหิตัง วิญญาณัญจายตนกุสลจิตตัง

วิญญาณัญจายตนกุศลจิต ๑ ที่เกิดพร้อมด้วยองค์ฌาน ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตา

อรูปาวจรกุศลจิต ดวงที่ ๒ นี้เป็นฌานจิตที่เกิดขึ้นในขณะที่อากาสานัญจายตนฌานลาภีบุคคล ที่เป็นปุถุชนหรือพระเสกขบุคคล ใช้อากาสานัญจายตนกุศลจิตเป็นบาท แล้วทำการเจริญวิญญาณัญจายตนฌานกุศลต่อไป โดยการนึกหน่วงเอาสภาพของอากาสานัญจายตนกุศลจิตที่ตนได้มาแล้วนั้นมาเป็นอารมณ์ เรียกว่า อากาสานัญจา ยตนนิมิต หรือเรียกว่า วิญญาณานันตนิมิต แปลว่า นิมิตแห่งวิญญาณไม่มีที่สุด โดยภาวนาว่า “วิญญาณัง อนันตัง ๆ แปลว่า วิญญาณไม่มีที่สุด ๆ” เมื่อภาวนาเช่นนี้เรื่อยไป จนสภาพของอากาสานัญจายตนนิมิตนั้นปรากฏเด่นชัดอยู่ภายในใจแทนที่สภาพของกสิณุคฆาฏิมากาสนิมิตแล้ว เมื่อนั้น วิญญาณัญจายตนกุศลจิตย่อมปรากฏเกิดขึ้นพร้อมกับยึดหน่วงเอาสภาพของอากาสานัญจายตนนิมิตนั้นมาเป็นอารมณ์อย่างแนบแน่น หรือ เกิดขึ้นในขณะที่วิญญาณัญจายตนฌานลาภีบุคคล ที่เป็นปุถุชนหรือพระเสกขบุคคลเข้าวิญญาณัญจายตนฌานสมาบัติ

อรูปฌานกุศลจิต ดวงที่ ๓

อุเปกขาเอกัคคตาสหิตัง อากิญจัญญายตนกุสลจิตตัง

อากิญจัญญายตนกุศลจิต ๑ ที่เกิดพร้อมด้วยองค์ฌาน ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตา

อรูปาวจรกุศลจิต ดวงที่ ๓ นี้เป็นฌานจิตที่เกิดขึ้นในขณะที่วิญญาณัญจายตนฌานลาภีบุคคลที่เป็นปุถุชนหรือพระเสกขบุคคลใช้วิญญาณัญจายตนฌานกุศลจิตที่ตนได้มาแล้วนั้นเป็นบาทแล้วทำการเจริญอากิญจัญญายตนฌานกุศลต่อไป โดยการกำหนดนึกให้สภาพของอากาสานัญจายตนฌานกุศลจิตที่ตนได้นึกหน่วงมาเป็นอารมณ์ของวิญญาณัญจายตนฌานนั้นให้หายหมดสิ้นไปจากจิตใจ ไม่มีเหลืออยู่เลยแม้แต่น้อยหนึ่ง เรียกว่า นัตถิภาวบัญญัติ แปลว่า ความสมมติว่าไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย โดยภาวนาว่า “นัตถิ กิญจิ ๆ แปลว่า น้อยหนึ่งก็ไม่มี นิดหนึ่งก็ไม่มี” เมื่อภาวนาเช่นนี้เรื่อยไป จนสภาพของอากาสานัญจายตนนิมิตนั้นหายไปจากจิตใจแล้ว และสภาพของนัตถิภาวบัญญัตินิมิตนั้นมาปรากฏเด่นชัดในใจแทนที่ เมื่อนั้น อากิญจัญญายตนกุศลจิตย่อมปรากฏเกิดขึ้นพร้อมกับยึดหน่วงเอานัตถิภาวบัญญัตินิมิตนั้นมาเป็นอารมณ์อย่างแนบแน่น หรือเกิดขึ้นในขณะที่อากิญจัญญายตนฌานลาภีบุคคล ที่เป็นปุถุชนหรือพระเสกขบุคคลเข้าอากิญจัญญายตนฌานสมาบัติ

อรูปาวจรกุศลจิต ดวงที่ ๔

อุเปกขาเอกัคคตาสหิตัง เนวสัญญานาสัญญายตนกุสลจิตตัง

เนวสัญญานาสัญญายตนกุศลจิต ๑ ที่เกิดพร้อมด้วยองค์ฌาน ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตา

อรูปาวจรกุศลจิต ดวงที่ ๔ นี้เป็นจิตที่เกิดขึ้นในขณะที่อากิญจัญญายตนฌานลาภีบุคคล ที่เป็นปุถุชนหรือพระเสกขบุคคลใช้อากิญจัญญายตนฌานกุศลจิตที่ตนได้มาแล้วนั้นเป็นบาท แล้วทำการเจริญเนวสัญญานาสัญญายตนฌานกุศลต่อไป โดยการนึกหน่วงเอาสภาพของอากิญจัญญายตนฌานกุศลจิตที่ดับไปแล้วนั้นมาเป็นอารมณ์ เรียกว่า อากิญจัญญายตนนิมิต แปลว่า นิมิตแห่งความรู้สึกที่ประณีตและละเอียดอ่อน หรือเรียกว่า เอตสันตนิมิต หรือ เอตปณีตนิมิต แปลว่า นิมิตแห่งความ รู้สึกอันละเอียดอ่อน หรือนิมิตแห่งความรู้สึกอันประณีตของอากิญจัญญายตนฌานกุศลจิตนั้น โดยการภาวนาว่า “เอตัง สันตัง เอตัง ปะณีตัง แปลว่า อากิญจัญญายตนกุศลจิตนี้ละเอียดอ่อนหนอ อากิญจัญญายตนกุศลจิตนี้ประณีตหนอ” เมื่อภาวนาเช่นนี้เรื่อยไป จนสภาพของอากิญจัญญายตนนิมิตนั้นมาปรากฏเด่นชัดในใจแทนที่สภาพของนัตถิภาวบัญญัตินิมิตแล้ว เมื่อนั้น เนวสัญญานาสัญญายตนกุศลจิตย่อมปรากฏเกิดขึ้นพร้อมกับยึดหน่วงเอาอากิญจัญญายตนนิมิตนั้นมาเป็นอารมณ์อย่างแนบแน่น หรือเกิดขึ้นในขณะที่เนวสัญญานาสัญญายตนฌานลาภีบุคคลที่เป็นปุถุชนหรือพระเสกขบุคคลเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนฌานสมาบัติ


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |