| |
ความหมายของชีวิตรูป   |  

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและปรมัตถทีปนีรุ.๒๙๙ ท่านได้แสดงความหมายของชีวิตรูปไว้ดังต่อไปนี้

ชีวิตรูป หมายถึง รูปที่ทำให้ธรรมที่เกิดร่วมกันดำรงอยู่ได้

อินทรียรูป หมายถึง รูปที่ทำตนให้เป็นใหญ่ในรูปที่เกิดร่วมกัน เพราะประกอบด้วยความเป็นใหญ่ในการตั้งอยู่ของรูปที่เกิดร่วมกันดังกล่าวแล้ว

ชีวิตินทรียรูป หมายถึง ชีวิตรูปที่เป็นใหญ่

ชีวิตินทรีย์รูปมีลักษณะคือเป็นรูปธรรมที่คอยรักษารูปที่เกิดร่วมกัน เปรียบเหมือนดอกอุบล [ดอกบัว] เป็นต้นที่เกิดจากเมล็ด ซึ่งเกิดอยู่ในน้ำ แม้เมล็ดจะผุพังไปแล้วก็ตาม แต่ก็มีน้ำหล่อเลี้ยงให้คงอยู่ได้ตลอดกาลนาน ฉันใด กัมมชรูป คือ รูปที่เกิดจากกรรม แม้กรรมจะดับไปแล้ว คือ ไม่มีกรรมอยู่แล้วก็ตาม แต่กัมมชรูปเหล่านั้นก็มีชีวิตินทรียรูปคอยรักษาอยู่ จึงดำรงอยู่ได้อย่างต่อเนื่อง ตลอดร้อยปีบ้าง พันปีบ้าง กัปป์หนึ่งบ้าง แปดหมื่นสี่พันกัปป์บ้าง

บทสรุปของผู้เขียน :

ตามที่ท่านได้แสดงไปแล้วว่า ชีวิตินทรียรูปมีลักษณะหรือคุณสมบัติในการรักษาหล่อเลี้ยงกัมมชรูปที่เกิดร่วมกันนั้น เปรียบเหมือนพืชที่เกิดในน้ำ มีดอกอุบล [ดอกบัว] เป็นต้นที่เกิดจากเมล็ด แม้เมล็ดจะผุพังไปแล้วก็ตาม แต่ก็มีน้ำหล่อเลี้ยงให้คงอยู่ได้ตลอดกาลนาน หมายความว่า กัมมชรูปทั้งหลายนั้น แม้กรรมที่เป็นปัจจัยให้ตนเกิดขึ้นนั้นจะดับไปแล้วก็ตาม แต่ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายก็ดำรงอยู่ได้ด้วยปัจจัยต่าง ๆ คือ [๑] กรรม ได้แก่ อุปถัมภกกรรม คือ กรรมที่ช่วยอุดหนุนกัมมชรูปให้ดำรงอยู่ [๒] จิต คือ ปฏิกิริยาของรูปที่เกิดจากอำนาจของจิต [๓] อุตุ คือ อุณหภูมิและสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ที่หล่อเลี้ยงกัมมชรูปไว้ และ [๔] อาหาร ได้แก่ กพฬีการาหาร ที่สัตว์ทั้งหลายบริโภคเข้าไป ย่อมย่อยสลายเป็นโอชาคือสารอาหารต่าง ๆ ไปหล่อเลี้ยงร่างกาย และในบรรดากัมมชรูป คือ รูปที่เกิดจากกรรมทั้งหลายนั้น จะดำรงอยู่ได้ก็โดยอาศัยชีวิตรูปนั่นเอง เป็นผู้หล่อเลี้ยงให้ดำรงอยู่และเป็นไปได้ ตลอดถึงให้เกิดขึ้นได้บ่อย ๆ เปรียบเหมือนเมล็ดพืชที่งอกเป็นต้นใหม่ขึ้นมาแล้ว สภาพเมล็ดนั้นก็ย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยของต้นพืชนั้นบ้าง กลายเป็นดินไปแล้วบ้าง แต่ต้นพืชใหม่นั้นก็ยังสามารถดำรงอยู่ได้ด้วยดินฟ้าอากาศและน้ำเป็นต้น ฉันนั้น

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและอภิธัมมัตถวิภาวินีรุ.๓๐๐ ท่านได้แสดงความหมายของชีวิตรูปไว้ดังต่อไปนี้

ที่ชื่อว่า ชีวิตรูป เพราะอรรถว่า เป็นเครื่องเป็นอยู่แห่งสหชาตธรรม ชีวิตนั้นนั่นแล ชื่อว่า เป็นใหญ่ เพราะประกอบด้วยความเป็นใหญ่ในการเลี้ยงดูกัมมชรูป เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ชีวิตินทรีย์ จริงอย่างนั้น ชีวิตินทรีย์นี้มีการเลี้ยงดูกัมมชรูปเป็นลักษณะ ก็ชีวิตินทรีย์นั้น ย่อมเลี้ยงดูสหชาตธรรมทั้งหลาย แม้ที่ตั้งอยู่ชั่วขณะตามปัจจัยของตน โดยความเป็นเหตุแห่งความเป็นไปทีเดียว กรรมเท่านั้นจะเป็นเหตุตั้งอยู่แห่งสหชาตธรรมเหล่านั้น ดุจอาหารเป็นต้นเหตุตั้งอยู่แห่งรูปที่เกิดแต่อาหารเป็นต้นหามิได้เลย เพราะกรรมไม่มีในขณะนั้น ไฟกับชีวิตินทรีย์นี้ยังอาหารให้ย่อยซึมซาบไปทั่วร่างกาย ที่มีใจครองตลอดทั้งหมด

พระอาจารย์สัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ และ อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวีรุ.๓๐๑ ได้แสดงความหมายของชีวิตรูปไว้ดังต่อไปนี้

ชีวิตินทรีย์ หมายถึง รูปที่เป็นเหตุให้สหชาตรูปทั้งหลายเป็นอยู่ได้

คำว่า สหชาตรูปทั้งหลาย ในที่นี้ได้แก่ กัมมชรูป และกัมมชรูปทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นติดต่อกันได้และตั้งอยู่ได้นั้น ก็เพราะมีชีวิตรูปเป็นผู้รักษา และกัมมชรูปนี้แม้ว่าจะเป็นรูปที่เกิดจากกรรมก็จริง แต่กรรมไม่ใช่เป็นผู้รักษา เพราะกรรมที่เป็นสมุฏฐานของรูปเหล่านี้เป็นอดีตล่วงไปแล้ว จึงไม่มีอำนาจในการรักษารูปที่เกิดจากตนได้ เพราะฉะนั้น จึงต้องมีรูปอีกอย่างหนึ่งโดยเฉพาะเป็นผู้รักษา เพื่อให้เกิดขึ้นติดต่อกันและตั้งอยู่ได้จนถึงอายุของตน รูปนั้น ก็คือ ชีวิตรูป นี่เอง

ส่วนจิตตชรูป อุตุชรูป และอาหารชรูปนั้น ไม่ต้องมีรูปอีกอย่างหนึ่งโดยเฉพาะเป็นผู้รักษา เพราะรูปเหล่านี้มีสมุฏฐานของตน ๆ นั้นแหละเป็นผู้รักษา

บทสรุปของผู้เขียน:

ชีวิตรูป เป็นรูปธรรมชนิดหนึ่ง ที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน มีหน้าที่รักษากัมมชรูปทั้งหลายที่เกิดพร้อมกันกับตนในกลาปเดียวกัน ให้คงอยู่และเป็นไปได้ตลอดอายุของรูปนั้น ๆ ชีวิตรูปเป็นกัมมชรูปที่แผ่ซึมซาบไปทั่วร่างกายของสัตว์ทั้งหลาย ยกเว้นปลายผม ปลายขน ปลายเล็บ อาหารเก่า เป็นต้น เป็นรูปที่มีสภาพเป็นสุขุมรูป ซึ่งบุคคลสามารถกำหนดพิจารณารู้ได้ทางมโนทวารวิถีเท่านั้น หมายความว่า เป็นสภาพแห่งรูปที่บุคคลไม่สามารถรับรู้โดยการสัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ได้เลย ย่อมรู้ได้ด้วยใจที่รู้สึกได้ด้วยตัวของบุคคลนั้นเอง หรือบุคคลผู้มีญาณพิเศษมีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นต้นเท่านั้น

สหชาตรูป หมายถึง รูปที่เกิดพร้อมกันและดับพร้อมกัน คำว่า สหชาตรูปทั้งหลายในที่นี้ก็ได้แก่ กัมมชรูปทั้งหลาย นั่นเอง ซึ่งกัมมชรูปทั้งหลายที่สามารถเกิดขึ้นพร้อมกันและตั้งอยู่ได้นั้น ก็เพราะอาศัยชีวิตรูปนั้นเองเป็นผู้อุปถัมภ์รักษาหล่อเลี้ยงไว้

กัมมชรูปนี้แม้จะเป็นรูปที่เกิดจากกรรมก็จริง แต่กรรมก็มิใช่เป็นผู้รักษา กรรมเป็นเพียงสมุฏฐานที่ทำให้รูปเหล่านี้เกิดขึ้นเท่านั้น เมื่อกรรมทำให้เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป โดยที่กรรมนั้นไม่ได้ทำการตามอุปถัมภ์หล่อเลี้ยงรักษากัมมชรูปนั้นอีกต่อไป เพราะกรรมนั้นดับสิ้นไปแล้ว มีสภาพเป็นอดีตล่วงไปแล้ว จึงไม่มีโอกาสที่จะมาตามรักษารูปที่เกิดจากกรรมนั้นได้ เพราะฉะนั้น รูปที่เป็นผู้อุปถัมภ์หล่อเลี้ยงรักษารูปที่เกิดจากกรรมนี้ ก็คือ ชีวิตรูป นั่นเอง อุปมาเหมือนน้ำในแจกันที่รักษาความสดของดอกไม้ที่ปักไว้ในแจกันนั้นไว้ ให้คงสดอยู่จนถึงเวลาเหี่ยวแห้งหรือเน่าไป ฉันใด ชีวิตรูปก็มีหน้าที่รักษากัมมชรูปทั้งหลายที่เกิดพร้อมกันกับตนในกลาปเดียวกัน ให้ดำรงคงอยู่และเป็นไปได้ จนกว่าจะหมดอายุขัยของรูปนั้น ๆ กล่าวคือ ประมาณเท่ากับ ๕๑ อนุขณะของจิต หรือเท่ากับ ๑๗ ขณะจิตเท่านั้น ฉันนั้นเหมือนกัน

ส่วนจิตตชรูป อุตุชรูป และอาหารชรูปทั้ง ๓ ประเภทนั้น ไม่ต้องมีรูปอีกอย่างหนึ่งโดยเฉพาะเป็นผู้อนุบาลรักษาไว้ เพื่อให้เกิดขึ้นติดต่อกันและให้ตั้งอยู่ได้จนสิ้นอายุของตน ๆ เหมือนกันกับกัมมชรูป เพราะรูปเหล่านี้ย่อมมีสมุฏฐานของตน ๆ นั้นเองเป็นผู้อนุบาลรักษา กล่าวคือ จิตตชรูป ย่อมมีจิตนั่นเองเป็นผู้อนุบาลรักษา อุตุชรูปย่อมมีอุณหภูมิหรือสภาพแวดล้อมนั่นเองเป็นผู้อนุบาลรักษา และอาหารชรูปย่อมมีโอชานั่นเองเป็นผู้อนุบาลรักษา


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |