| |
กัมมัญญตารูป   |  

ความหมายของกัมมัญญตารูป

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและปรมัตถทีปนีฎีการุ.๔๐๗ ได้แสดงสรุปเนื้อความของกัมมัญญตารูปไว้ดังต่อไปนี้

กัมมัญญะ หมายถึง รูปที่ควรแก่กิริยา หมายความว่า รูปที่เหมาะสมแก่กิริยา

กัมมัญญตา หมายถึง ความควรแก่กิริยา [คือการกระทำ] นั่นเอง

กัมมัญญตารูป หมายถึง รูปที่เหมาะที่พอดีแก่การงาน ได้แก่ อาการที่เหมาะควรแก่การทำกิจต่าง ๆ ของร่างกาย หรือการเปล่งวาจา ได้แก่ ภาวะที่เป็นความพอดีในการงานต่าง ๆ ของนิปผันนรูป

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีการุ.๔๐๘ ท่านได้แสดงความหมายของกัมมัญญตารูปไว้เพียงสั้น ๆ ดังต่อไปนี้

รูปวิการมีปัจจัยที่เป็นข้าศึกแก่ความกำเริบแห่งธาตุอันกระทำความไม่อนุกูลแก่สรีระกิริยาทั้งหลายเป็นสมุฏฐาน ชื่อว่า กัมมัญญตา

วจนัตถะ [คำจำกัดความ] ของกัมมัญญตารูป

พระอาจารย์สัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ และอาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวีรุ.๔๐๙ ได้แสดงความหมายและวจนัตถะของกัมมัญญตารูปไว้ดังต่อไปนี้

กัมมัญญตารูป เป็นรูปที่เป็นความเหมาะควรของนิปผันนรูปในการทำกิจต่าง ๆ ดังมีวจนัตถะแสดงว่า

กมฺมญฺสฺส ภาโว = กมฺมญฺตา” แปลความว่า ภาวะที่เป็นความพอดีในการงานต่าง ๆ ของนิปผันนรูป ชื่อว่า กัมมัญญตา

รูปสฺส กมฺมญฺตา = รูปกมฺมญฺตา” แปลความว่า ภาวะที่เป็นความพอดีในการงานต่าง ๆ ของนิปผันนรูป ชื่อว่า รูปกัมมัญญตา

คุณสมบัติพิเศษของกัมมัญญตารูป

อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวี อดีตประธานมูลนิธิแนบ มหานีรานนท์รุ.๔๑๐ ได้แสดงคุณลักษณะพิเศษของกัมมัญญตารูปไว้ดังต่อไปนี้

๑. กมฺมญฺตฺตลกฺขณา มีความเหมาะควรแก่การงาน เป็นลักษณะ

๒. อกมฺมญฺตาวิโนทนรสา มีการทำลายความไม่ควรแก่การงาน เป็นกิจ

๓. อทุพฺพลภาวปจฺจุปฏฺานา มีความไม่อ่อนแอ [ไม่ทุพพลภาพ] เป็นอาการปรากฏ

๔. กมฺมญฺรูปปทฏฺานา มีรูปที่ควรแก่การงาน เป็นเหตุใกล้ให้เกิด

คำอธิบายเพิ่มเติมของผู้เขียน :

จากคุณสมบัติพิเศษทั้ง ๔ ประการของลหุตารูปที่ท่านได้แสดงไปแล้วนั้น ผู้เขียนจักได้อธิบายขยายความหมายเพิ่มเติ่ม เพื่อความเข้าใจรายละเอียดของคุณสมบัติแต่ละอย่างเหล่านั้นให้ยิ่งขึ้น ดังต่อไปนี้

๑. กมฺมญฺตฺตลกฺขณา มีความเหมาะควรแก่การงานเป็นลักษณะ หมายความว่า กัมมัญญตารูปนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ย่อมทำให้รูปร่างกายอันเป็นนิปผันนรูปมีความเหมาะควรแก่การงาน กล่าวคือ ทำให้รูปร่างกาย ได้แก่ อวัยวะต่าง ๆ มีความพร้อมที่จะทำการงานของตน ๆ ให้เป็นไปโดยปกติ ตลอดทั้งการงานที่พึงกระทำทางกายและทางวาจา ให้สำเร็จเป็นกุศลและอกุศลได้โดยสะดวก

๒. อกมฺมญฺตาวิโนทนรสา มีการทำลายความไม่ควรแก่การงานเป็นกิจ หมายความว่า กัมมัญญตารูปนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมมีหน้าที่อันสำเร็จมาแต่คุณสมบัติที่เรียกว่า สัมปัตติรส กล่าวคือ การทำลายความไม่เหมาะควรแก่การงานของรูปร่างกายอันเป็นนิปผันนรูปให้บรรเทาเบาบางและหมดไป ทำให้ร่างกายเกิดความกระฉับกระเฉง คล่องแคล่วเหมาะควรพร้อมที่จะกระทำการงานนั้น ๆ ได้อย่างเต็มที่

๓. อทุพฺพลภาวปจฺจุปฏฺานา มีความไม่อ่อนแอ [ไม่ทุพพลภาพ] เป็นอาการปรากฏ หมายความว่า ในรูปร่างกายของบุคคลที่มีกัมมัญญตารูปเกิดร่วมอยู่ด้วยนั้น ย่อมปรากฏเป็นร่างกายที่พร้อมในการทำงานของตน ๆ ในแต่ละส่วน และมีความพร้อมในการทำงานทั้งที่เป็นทางกายและทางวาจา โดยไม่มีอาการอ่อนแอและเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าแต่ประการใด

๔. กมฺมญฺรูปปทฏฺานา มีรูปที่ควรแก่การงาน เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า กัมมัญญตารูปนี้จะปรากฏเกิดขึ้นได้ ต้องมีนิปผันนรูปที่ควรแก่การงาน กล่าวคือ ร่างกายมีสภาพปกติพร้อมที่จะแสดงบทบาทหน้าที่ของตนเองได้ โดยไม่มีความอาพาธป่วยไข้หรือทุพพลภาพแต่ประการใด แต่ถ้านิปผันนรูปทั้งหลายอันเป็นตัวสรีระร่างกายหรืออวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งนั้นมีสภาพไม่ปกติ คือ อาพาธป่วยไข้หรือทุพพลภาพอยู่ กัมมัญญตารูปนี้ย่อมไม่สามารถปรากฏเกิดขึ้นร่วมด้วยได้เลย


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |