| |
เตโช มี ๔ อย่าง   |  

อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวีรุ.๙๒ ได้แสดงประเภทและความหมายของเตโชธาตุไว้ ๔ ประการ ดังต่อไปนี้

เตโชธาตุ คือ ธาตุไฟนี้ มีความหมายแบ่งออกเป็น ๔ อย่าง คือ

๑. ปรมัตถเตโช หรือ ลักขณเตโช หมายถึง ธาตุไฟที่มีสภาวะลักษณะให้พิสูจน์ได้จากการสัมผัสถูกต้องได้ด้วยกาย โดยแสดงลักษณะร้อนหรือลักษณะเย็นออกมาให้ปรากฏ หมายความว่า ปรมัตถเตโชนี้ เป็นการแสดงถึงสภาพของเตโชธาตุที่มีลักษณะ ๒ อย่างคือ มีลักษณะร้อน เรียกว่า อุณหเตโช และมีลักษณะเย็น เรียกว่า สีตเตโช ให้พิสูจน์ได้ด้วยการสัมผัสถูกต้องทางกายทวารวิถีเท่านั้น ปรมัตถเตโชนี้เป็นธาตุชนิดหนึ่ง เรียกว่า ธาตุไฟ และธาตุไฟในที่นี้ หมายถึง ธาตุไฟที่เป็นปรมัตถ์ ซึ่งมีลักษณะร้อนหรือเย็นอันให้สัมผัสรู้ได้ด้วยกายทวารวิถี ไม่ใช่ไฟที่มองเห็นกันโดยทั่วไป หรือมิใช่ไฟที่ใช้หุงต้มกันอยู่ทุกวันนี้เท่านั้น ส่วนไฟที่เรามองเห็นกันอยู่นั้น เป็นไฟโดยสมมุติ ไมใช่ธาตุไฟโดยปรมัตถ์ เพราะธาตุไฟโดยปรมัตถ์นั้น ต้องหมายถึง ลักษณะที่ปรากฏทางกายทวารเท่านั้น เมื่อมีการกระทบสัมผัสแล้ว ความร้อนหรือความเย็นที่ปรากฏนั่นแหละ คือ ธาตุไฟ ที่เรียกว่า เตโชธาตุ หรือ ปรมัตถเตโชหรือลักขณเตโชนี้ เป็นเตโชธาตุซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้โดยจักขุทวารวิถี แต่เป็นสภาวะที่สามารถกระทบสัมผัสรับรู้ได้โดยกายทวารวิถีเท่านั้น การที่เรามองเห็นไฟนั้น เป็นการเห็นสีต่าง ๆ ซึ่งเป็นวัณณรูปคือรูปารมณ์ที่รวมอยู่กับปรมาณู ที่เรียกว่า กลาปรูป แปลว่า กลุ่มหรือกองแห่งรูป ซึ่งประกอบด้วยรูปที่เป็นส่วนประกอบหลัก ๘ รูป ได้แก่ มหาภูตรูป ๔ วัณณรูป คันธรูป รสรูป และอาหารรูป เรียกว่า อวินิพโภครูป ๘ แปลว่า รูปที่แยกกันไม่ได้ ๘ ประการ ในบรรดากลาปรูปทั้งหลายนั้น ย่อมมีอวินิพโภครูปทั้ง ๘ นี้เป็นส่วนประกอบพื้นฐานรวมอยู่ด้วยทุกกลาปโดยไม่มียกเว้น เมื่อทุกกลาปรูปมีวัณณรูปคือรูปารมณ์เป็นองค์ประกอบรวมอยู่ด้วยทุกกลาปหรือปรมาณูแล้ว วัณณรูปหรือรูปารมณ์นั่นแหละย่อมปรากฏเป็นความวิโรจน์คือสีและแสงออกมา และด้วยอำนาจแห่งเตโชธาตุที่เป็นองค์ประกอบรวมอยู่ในทุกปรมาณูหรือทุกกลาปรูปนั้น เมื่อรวมกันอยู่เป็นจำนวนมาก จึงปรากฏเป็นเปลวไฟลุกลามขึ้น ซึ่งเปลวไฟที่เห็นนั้นไม่ใช่ธาตุไฟ แต่เป็นรูปารมณ์หรือวัณณรูป อันได้แก่ สีและแสงที่สามารถเห็นได้ด้วยจักขุทวารวิถีนั่นเอง ด้วยเหตุผลดังกล่าวมานี้ จึงสรุปความหมายของปรมัตถเตโชหรือลักขณเตโชได้ว่า สภาพปรากฏของปรมัตถเตโชหรือลักขณเตโชนั้น ได้แก่ ไออุ่นหรือไอเย็น ที่สามารถรับรู้ได้ด้วยกายทวารวิถีโดยอาศัยกายปสาทรูป และปรมัตถเตโชหรือลักขณเตโชนี้ย่อมมีหน้าที่เผาผลาญทำให้วัตถุต่าง ๆ สุกงอม และทำให้ละเอียดอ่อนนุ่ม เพราะฉะนั้น ธรรมชาติที่ทำให้สุกงอมและอ่อนนุ่มนั่นแหละ เรียกว่า เตโชธาตุ

๒. สสัมภารเตโช หรือ สุตตันตเตโช หมายถึง ธาตุไฟอันเป็นส่วนประกอบของร่างกายหรือไฟธาตุที่แสดงไว้ตามนัยแห่งพระสูตร ซึ่งแบ่งออกเป็น ๒ จำพวกคือ

[ก.] อัชฌัตติกเตโช คือ เตโชธาตุภายใน หมายถึง ธาตุไฟอันเป็นส่วนประกอบที่มีอยู่ภายในสิ่งมีชีวิต กล่าวคือ ธาตุไฟในร่างกายของสัตว์ทั้งหลายนั่นเอง ในธาตุวิภังคสูตรรุ.๙๓ แสดงธาตุไฟประเภทนี้ไว้ ๔ ประการ ได้แก่

[๑] อุสมาเตโช คือ ไฟธาตุที่มีประจำอยู่ในร่างกายของสัตว์ทั้งหลาย ที่เรียกว่า ไออุ่นหรือไอเย็นภายในร่างกาย

[๒] ปาจกเตโช คือ ไฟธาตุที่ทำหน้าที่ย่อยอาหาร

[๓] ชิรณเตโช คือ ไฟธาตุที่ทำให้ร่างกายแก่ชราทรุดโทรม เช่น ทำให้ผมหงอก ฟันหัก หนังเหี่ยวย่น เป็นต้น

[๔] สันตาปนเตโช คือ ไฟธาตุที่มีความร้อนมาก ได้แก่ ไฟธาตุที่ทำให้ร้อนจัดจนถึงกับเป็นไข้

[ข.] พาหิรเตโช หรือ พหิทธเตโช คือ เตโชธาตุภายนอก หมายถึง เตโชธาตุที่อยู่ภายนอกร่างกายของสัตว์ทั้งหลาย ได้แก่ ธาตุไฟที่มีอยู่ในสิ่งต่าง ๆ ซึ่งเป็นอุณหภูมิของสิ่งที่ไม่มีชีวิตทั้งหลายนั่นเอง ในธาตุวิภังคสูตรมีแสดงไว้มากมาย แต่ในที่นี้ จะขอนำมาแสดงไว้เพียง ๕ ประการ ได้แก่

[๑] กัฏฐัคคิ ไฟไหม้ฟืน

[๒] ติณัคคิ ไฟไหม้หญ้า

[๓] โคมยัคคิ ไฟไหม้ขี้วัวขี้ควายแห้ง

[๔] ถูสัคคิ ไฟไหม้แกลบ

[๕] สังการัคคิ ไฟไหม้ขยะ

๓. กสิณเตโช หรือ อารัมมณเตโช คือ ไฟที่เป็นนิมิตอารมณ์ ซึ่งพระโยคาวจรใช้เพ่งบริกรรม เรียกว่า เตโชกสิณ แปลว่า การเพ่งไฟ หรือเรียกว่า อารัมมณเตโช แปลว่า ไฟที่เป็นอารมณ์ สำหรับพระโยคาวจรที่เจริญสมถกัมมัฏฐานโดยใช้ไฟเป็นอารมณ์หรือนิมิต โดยก่อกองไฟขึ้น ให้ลุกโชติช่วงเป็นเปลวไฟ ใช้แผ่นผ้าหรือวัสดุอย่างใดอย่างหนึ่ง ตัดช่องให้เป็นรูปวงกลมมีขนาด ๑ คืบ ๔ นิ้ว โดยประมาณคืบและนิ้วของพระสุคตศาสดา ตั้งปิดบังกองไฟไว้ แล้วเพ่งมองทางช่องทะลุที่เป็นรูปวงกลมนั้น ให้เห็นแต่เปลวไฟที่มีสีสดใสปรากฏที่ช่องนั้นเท่านั้น พร้อมกับบริกรรมว่า เตโช เตโช หรือ ไฟ ไฟ ดังนี้เรื่อยไป ไฟนั้น เรียกว่า บริกรรมนิมิต เมื่อบริกรรมนิมิตนั้นปรากฏชัดเจนติดตาติดใจแล้ว ก็ไม่ต้องเพ่งบริกรรมเปลวไฟที่ช่องนั้นอีกต่อไป ไปนั่งหรือยืนอยู่ในสถานที่ที่เป็นสัปปายะ แล้วเพ่งภาวนาเปลวไฟที่ปรากฏอยู่ในใจต่อไป เปลวไฟที่ปรากฏอยู่ในใจนั้น เรียกว่า อุคคหนิมิต แปลว่า นิมิตติดตา ซึ่งได้แก่ นิมิตติดใจ นั่นเอง เมื่อเพ่งบริกรรมอุคคหนิมิตนั้นเรื่อยไป อุคคหนิมิตย่อมปรากฏสภาพที่ผ่องใสสะอาดบริสุทธิ์ขึ้นเรื่อย ๆ จนความหยาบของไฟนั้นหมดไปในที่สุด เหลือแต่สภาพไฟที่ละเอียดและสะอาดบริสุทธิ์ผ่องใส ในขณะนั้น เรียกว่า ปฏิภาคนิมิต แปลว่า นิมิตที่มีส่วนเปรียบหรือมีส่วนคล้าย หมายความว่า มีส่วนคล้ายกับไฟที่ใช้เป็นบริกรรมนิมิต และเทียบเท่ากับขนาดของไฟที่ใช้เป็นบริกรรมนิมิตนั้น ต่างกันแต่ว่า สภาพของไฟนั้นสะอาดบริสุทธิ์ผ่องใสยิ่งนัก และสามารถย่อให้เล็กลงได้ ขยายให้กว้างใหญ่ขึ้นได้ตามความต้องการ ถ้าบุคคลนั้นมีบุญญาธิการได้สั่งสมมาในเรื่องฌานสมาบัติ เต็มเปี่ยมแล้ว ย่อมได้บรรลุถึงปฐมฌานในขณะแห่งปฏิภาคนิมิตนั้น นี้เป็นการกล่าวโดยสังเขปในเรื่องของกสิณเตโชหรืออารัมมณเตโช

๔. สมมุติเตโช หรือ ปกติเตโช คือ ไฟปกติธรรมดาทั่วไปที่เป็นสมมุติโวหารของชาวโลก ได้แก่ ไฟที่ใช้เผาผลาญให้ความร้อนหรือให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย ใช้ในการหุงต้ม อาหาร หรือใช้ในการเผาผลาญทำลายสิ่งที่ไม่ต้องการต่าง ๆ เช่น ไฟถ่าน ไฟฟืน หรือไฟแก๊ส ไฟฟ้า เป็นต้น ที่เป็นสมมุติโวหารของชาวโลก


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |