ไปยังหน้า : |
ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและปรมัตถทีปนีรุ.๖๙๓ ได้แสดงถึงความดับของรูปทั้ง ๔ สมุฏฐานไว้ดังต่อไปนี้
คำว่า จุติจิตฺโตปริ สตฺตรสมจิตฺตสฺส [จิตดวงที่ ๑๗ ก่อนจุติจิต] คือ ภวังคจิตดวงที่ ๑๗ ก่อนจุติจิต
คำว่า กมฺมชรูปานิ น อุปฺปชฺชนฺติ [กัมมชรูปย่อมไม่เกิดขึ้น] มีความหมายว่า จิตดวงที่ ๑๗ ถัดจากภวังคจิต ชื่อว่า จุติจิต เพราะกัมมชรูปย่อมไม่เกิดขึ้นอีก ตั้งแต่ภวังคจิตดวงที่ ๑๗ มิใช่เป็นไปโดยประการอื่น
คำว่า ปุเรตรํ [กัมมชรูปที่เกิดก่อนหน้านั้น]หมายเอาขณะเกิดขึ้นของจิตดวงที่ ๑๗
คำว่า ตโต ปรํ [ถัดจากนั้น] คือ ในเวลาที่มีจำนวนขณะจิต ๑๖ ขณะถัดจากจุติจิต
คำที่ขึ้นต้นว่า จิตฺตชาหารชรูปญฺจ [จิตตชรูปและอาหารชรูปจะดับตามไป] มีความหมายว่า กระแสรูปที่เกิดจากจิตและอาหารจะดับตามไป เพราะรูปดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นในสิ่งที่ไม่มีใจครอง
ข้อความที่พึงกล่าวในที่นี้ ข้าพเจ้า [พระฎีกาจารย์] ได้กล่าวมาแล้วในสมุฏฐานของรูป
ถามว่า เหตุใด พระอนุรุทธาจารย์จึงไม่กล่าวลำดับการดับของรูปกลาปในรูปภูมิ เหมือนที่กล่าวไว้ในกามภูมิ ?
ตอบว่า เพราะเหมือนกันนั่นเอง ลำดับการดับในรูปภูมิเป็นต้นว่า “แต่ในเวลาเสียชีวิต กัมมชรูปย่อมไม่เกิดขึ้นตั้งแต่ฐีติกาลของจิตดวงที่ ๑๗ ก่อนจุติจิต” ก็เหมือนกันกับกามภูมิ แต่การดับของอาหารชรูปไม่มีในรูปภูมินี้ การทิ้งซากศพก็ไม่มีเหมือนกัน กระแสจิตตชรูปในรูปภูมินั้นขาดไปในขณะหนึ่งที่มีจำนวนขณะจิต ๑๖ ขณะ ภายหลังจุติจิต ถัดจากนั้น รูปที่มีอุตุเป็นสมุฏฐานที่สืบต่อกันมา ย่อมดำเนินไปชั่วขณะลัดนิ้วมือหนึ่งครั้ง หรือ ๒-๓ ครั้งแล้วดับไป ซากศพของกระแสรูปที่ดำเนินไปอยู่เพียงชั่วขณะนี้ ย่อมไม่มี เพราะผู้เห็นรู้สึกว่า สรีระอันตรธานไปเพียงชั่วขณะหนึ่ง สภาพดังกล่าวมีในรูปภูมิ ฉันใด ก็มีแก่เทวดาผู้อุบัติเกิดและโอปปาติกะเหล่าอื่นในกามภูมิฉันนั้น เพราะสรีระของพวกเขามีกัมมชรูปมากและเบา เนื่องจากมีสรีระที่เกิดจากกรรมอันบริบูรณ์โดยประการทั้งปวง ในขณะปฏิสนธิ ส่วนรูปอื่นที่ดำรงอยู่ในกัมมชรูปแล้วย่อมดำเนินต่อไป ดังนั้น เมื่อกัมมช รูปของพวกเขาดับไปในเวลาจุติ รูปดังกล่าวย่อมขาดที่พึ่ง จึงสืบต่อกระแสขันธ์นานไม่ได้ เมื่อดำเนินไปเล็กน้อยแล้วย่อมดับสิ้นไป การทิ้งซากศพของพวกเขาจึงไม่มี
ในคัมภีร์วิภาวินีกล่าวว่า “รูปที่มีสมุฏฐาน ๓ [คือกรรม จิต และอุตุ ในรูปพรหม] และรูปที่มีสมุฏฐาน ๒ [คือกรรมและอุตุในอสัญญสัตตพรหม] ของพรหมทั้งหมด ย่อมดับพร้อมกัน เพราะพรหมไม่มีที่ทิ้งซากศพ ในเวลาเสียชีวิต” ข้อความนั้นไม่งาม เพราะหากเป็นไปตามนี้ จิตที่ใกล้เสียชีวิตของรูปพรหมทั้งหมด ย่อมก่อให้เกิดรูปธรรมไม่ได้ ความจริงไม่ควรกล่าวว่า รูปที่เกิดจากจิตใกล้จะเสียชีวิตได้ดับร่วมกับกัมมชรูป
อนึ่ง จิตในเวลาใกล้เสียชีวิต ดำเนินไปเล็กน้อยแล้วดับลงหลังจากกัมมชรูปดับไป ฉันใด อุตุชรูปก็ดำเนินไปเล็กน้อยแล้วดับลงหลังจากจิตตชรูปดับไป ฉันนั้น เพราะฉะนั้น เมื่อรูปเหล่านั้นดำเนินไปอยู่ชั่วขณะเพียงนั้น การทิ้งซากศพย่อมมีไม่ได้
ความแปรปรวนมีความเบาและความหนักเป็นต้นของจิตตชรูปและอุตุชรูปที่คล้อยตามจิตตชรูป ย่อมมีแก่พรหมทั้งหลายตามสมควรแก่นิวรณ์ เพราะพรหมมีนิวรณ์คือถีนมิทธะเป็นต้นอยู่ เพราะฉะนั้น พระอนุรุทธาจารย์จึงถือเอาลหุตารูปเป็นต้น ๓ อย่าง แล้วกล่าวว่า เตวีส รูปิสุ [ในรูปภูมิมีรูป ๒๓]
พึงประกอบบทว่า รูป ๒๓ ที่ยกเว้นปสาทรูป ๓ มีฆานปสาทเป็นต้น และภาวรูป ๒ รูปเหล่านั้นที่ยกเว้นจักขุปสาท โสตปสาท สัททะ และวิญญัติรูป รวมเป็นรูป ๑๗ อย่าง [ที่เหลือ] ย่อมมีในอสัญญสัตตภูมิ
อาการหนักและอาการเบาเป็นต้นของอสัญญสัตตพรหม บัณฑิตพึงดำริ อีกนัยหนึ่ง บัณฑิตไม่พึงดำริ เพราะความแปรปรวนของรูปธรรมมีเหตุมาก
คำว่า อุปปตฺติยํ [ในปฏิสนธิกาล] มีความหมายว่า ในขณะเกิดปฏิสนธิจิตของเหล่าสัตว์ผู้เป็นกามาวจร รูปาวจร และอสัญญสัตว์ โดยแท้จริงแล้ว ขณะเกิดปฏิสนธิจิตนั่นแหละ ชื่อว่า ปฏิสนธิกาล
คำว่า ปวตฺเต ตุ [แต่ในปวัตติกาล] มีความหมายว่า แต่ในปวัตติกาลทั้งหมด เริ่มตั้งแต่ฐีติขณะของปฏิสนธิจิตเป็นต้นไป
คำว่า น กิญฺจิปิ น ลพฺภติ [ย่อมไม่มีรูปอะไร ๆ ไม่ปรากฏ] มีความหมายว่า รูปทุกอย่างย่อมปรากฏโดยแท้ เพราะไม่มีข้อที่รูปเช่นนี้จะไม่ปรากฏในปวัตติกาล แต่ปรากฏในปฏิสนธิกาลเท่านั้น
อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวี อดีตประธานมูลนิธิแนบ มหานีรานนท์รุ.๖๙๔ ได้แสดงเรื่องความดับของสมุฏฐานิกรูปทั้ง ๔ ไว้ดังต่อไปนี้
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงความดับของรูปธรรมที่เกิดจากสมุฏฐานทั้ง ๔ ไว้ดังต่อไปนี้
๑. มรณกาเล ปน จุติจิตฺโตปริ สตฺตรสมจิตฺตสฺส ติกาลมุปาทาย กมฺมช รูปานิ น อุปฺปชฺชนฺติ ปุเรตรมุปฺปนฺนานิ จ กมฺมชรูปานิ จุติจิตฺตสมกาลเมว ปวตฺติตฺวา นิรุชฺฌนฺติ แปลความว่า เมื่อเวลาใกล้จะตาย ตั้งแต่ฐีติขณะของจิตดวงที่ ๑๗ นับจากจุติจิตขึ้นไป กัมมชรูปใหม่ย่อมไม่เกิดขึ้นอีก และกัมมชรูปที่เกิดขึ้นที่อุปปาทักขณะของจิตดวงที่ ๑๗ นั้น ย่อมตั้งอยู่ได้จนถึงจุติจิต แล้วก็ดับลงพร้อมกับ [ภังคขณะของ] จุติจิตนั้น
๒. ตโต ปรํ จิตฺตชาหารชรูปญฺจ โวจฺฉิชฺชติ แปลความว่า ภายหลังที่กัมมชรูปดับลงแล้ว จิตตชรูปและอาหารชรูปก็ดับลง
๓. ตโต ปรํ อุตุสมุฏฺานรูปปรมฺปรา ยาวมตกเฬวรสงฺขาตา ปวตฺตนฺติ แปลความว่า หลังจากติชรูป คือ รูปที่เกิดจากสมุฏฐาน ๓ ได้แก่ กัมมชรูป จิตตชรูป และอาหารชรูปดับลงแล้ว การเกิดขึ้นติดต่อกันของอุตุชรูปก็ย่อมเป็นไปไม่ขาดสาย ตลอดจนถึงกลายเป็นซากศพ
คำอธิบายเพิ่มเติมของผู้เขียน :
ในบาลีข้อที่ ๑ แสดงว่า กัมมชรูปเริ่มเกิดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่อุปปาทักขณะของปฏิสนธิจิต แล้วย่อมเกิดขึ้นติดต่อกันเรื่อยไปทุกอนุขณะของจิต โดยไม่ขาดสายตลอดเวลาที่สัตว์นั้นยังมีชีวิตอยู่ จนกระทั่งถึงตาย และในเวลาที่ใกล้จะตาย กัมมชรูปย่อมเกิดเป็นครั้งสุดท้ายที่อุปปาทักขณะของจิตดวงที่ ๑๗ นับถอยหลังจากจุติจิตขึ้นไป แล้วจะไม่เกิดขึ้นอีกเลย ส่วนกัมมชรูปที่เกิดขึ้นเป็นครั้งสุดท้ายนั้นก็จะะดับลงพร้อมกับภังคขณะของจุติจิตพอดี
ในบาลีข้อที่ ๒ แสดงว่า นอกจากจุติจิตของพระอรหันต์แล้ว จุติจิตของปุถุชนและพระเสกขบุคคลทั้งหลาย ย่อมสามารถทำให้จิตตชรูปเกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้น การเกิดขึ้นเป็นครั้งสุดท้ายของจิตตชรูป จึงเกิดขึ้นที่อุปปาทักขณะของจุติจิต ส่วนพระอรหันต์ทั้งหลาย จิตตชรูปเกิดขึ้นเป็นครั้งสุดท้ายที่อุปปาทักขณะของจิตดวงที่ ๒ ที่นับถอยหลังจากจุติจิตขึ้นไป และจิตตชรูปที่เกิดขึ้นเป็นครั้งสุดท้ายนั้น ย่อมดับลงหลังจากจุติจิตดับไปแล้ว เท่ากับระยะเวลาของจิต ๑๕ ขณะ
ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงแสดงว่า แม้จุติจิตจะดับลงแล้ว กล่าวคือ ผู้นั้นตายไปแล้วก็ตาม แต่จิตตชรูปก็ยังตั้งอยู่ต่อไปได้อีกเล็กน้อย หมายความว่า ปุถุชนหรือพระเสกขบุคคลทั้งหลาย เมื่อตายลงแล้ว จิตตชรูปยังคงตั้งอยู่ต่อไปได้อีกเท่ากับระยะเวลาของจิต ๑๖ ขณะหรือ ๑๖ ดวง แล้วจึงดับลง ส่วนพระอรหันต์ทั้งหลายนั้น เมื่อปรินิพพานแล้ว จิตตชรูปยังคงตั้งอยู่ต่อไปได้อีกเท่ากับระยะเวลาของจิต ๑๕ ขณะหรือ ๑๕ ดวง แล้วจึงดับลง ตามที่กล่าวมานี้ เป็นการแสดงตามสภาวะความเป็นไปแห่งนามวิถีและรูปวิถีเท่านั้น แต่ถ้าแสดงตามโวหารของชาวโลกแล้ว ย่อมกล่าวได้ว่า เมื่อสัตว์ตายลงแล้ว จิตตชรูปย่อมดับไปพร้อมกันด้วย ทั้งนี้ เพราะความเกิดและความดับของจิตนั้นมีความรวดเร็วมาก ชั่วระยะเวลาเพียง ๑๕ หรือ ๑๖ ขณะจิตนั้น ย่งไม่เท่ากับหนึ่งในร้อยของวินาทีเลย
สำหรับอาหารชรูป แม้ในภังคขณะของจุติจิต อาหารชรูปก็ยังคงเกิดขึ้นได้เป็นครั้งสุดท้าย และเมื่อจุติจิตดับลง กล่าวคือ บุคคลนั้นตายลงแล้ว อาหารชรูปที่เกิดขึ้นเป็นครั้งสุดท้าย ก็ยังคงตั้งอยู่ได้อีกเท่ากับระยะเวลาของจิต ๑๗ ขณะหรือ ๑๗ ดวง [หรือ ๕๐ อนุขณะของจิต] ที่กล่าวมานี้ หมายเอากามบุคคลเท่านั้น ส่วนรูปพรหมทั้งหลายไม่มีอาหารชรูปเกิดขึ้นแล้ว จึงไม่ต้องกล่าวถึงเลย
ในบาลีข้อที่ ๓ แสดงว่า อุตุชรูปนั้นเกิดขึ้นได้ตลอดไป แม้สัตว์นั้นจะตายไปแล้ว จนเหลืออยู่แต่ซากศพที่กลายเป็นกระดูกหรือเถ้าถ่านไปแล้วก็ตาม อุตุชรูปก็ยังคงเกิดและดับติดต่อกันอยู่ได้เรื่อยไป จนกระทั่งถึงเวลาที่โลกถูกทำลายลง ที่กล่าวมานี้ หมายเอาอุตุชรูปของสัตว์ที่เป็นสังเสทชะกำเนิดและคัพภเสยยกะกำเนิด [ชลาพุชะกำเนิดและอัณฑชะกำเนิด] เท่านั้น ส่วนอุตุชรูปของพวกโอปปาติกะกำเนิด ได้แก่ สัตว์นรก เปรต อสุรกาย เทวดา [ยกเว้นภุมมัฏฐเทวดาบางจำพวก] และพรหมทั้งหลายนั้น เมื่อตายลงแล้ว อุตุชรูปย่อมดับลงพร้อมกันไปด้วย ทั้งนี้เป็นเพราะว่า เมื่อโอปปาติกะสัตว์นั้นตายลงแล้ว ย่อมไม่มีซากศพปรากฏเหลืออยู่เลย [ย่อมหายวับไปเลย] เหมือนกับดวงประทีปที่ดับวูบลง ฉันนั้น