| |
ลักขณาทิจตุกะของสัมมากัมมันตเจตสิก   |  

บัณฑิตผู้มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายแล้ว ย่อมสามารถกำหนดพิจารณาเรียนรู้สภาวะของสัมมากัมมันตเจตสิก อันเป็นปรมัตถธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งนับเนื่องในสังขารขันธ์ เพราะเป็นสภาวธรรมที่ปรุงแต่งจิตให้เกิดการรับรู้อารมณ์เป็นพิเศษออกไปจากเวทนาขันธ์และสัญญาขันธ์ โดยอาศัยคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตน ที่ไม่มีเหมือนกับสภาวธรรมเหล่าอื่น ๔ ประการ ที่เรียกว่า วิเสสลักษณะ หรือ ลักขณาทิจตุกะ ดังต่อไปนี้

๑. สะมุฏฐาปะนะลักขะโณ มีการยังกิจการงานให้ตั้งขึ้นด้วยดี เป็นลักษณะ หมายความว่า เมื่อสัมมากัมมันตเจตสิกบังเกิดขึ้นแล้ว ย่อมชักนำให้จิตเจตสิกที่เกิดพร้อมกับตนตั้งมั่นอยู่ในกิจการงานที่ดี ทำให้บุคคลนั้นมุ่งกระทำแต่การงานที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ไม่ผิดวัฒนธรรมประเพณี ไม่ผิดกฎกติกาอันดีงามของสังคม ไม่ผิดต่อกฎหมายบ้านเมืองที่บัญญัติขึ้นโดยชอบธรรม ไม่ผิดหลักศีลธรรมของศาสนาที่ดีงาม ย่อมเป็นการงานอันปราศจากโทษภัยทั้งปวง

๒. วิระมะณะระโส มีเจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการงานที่ผิด เป็นกิจ หมายความว่า สัมมากัมมันตเจตสิกนี้ย่อมกระทำกิจในการงดเว้นจากการงานอันเป็นทุจริตทั้งปวง ได้แก่ เว้นจากการฆ่าสัตว์เบียดเบียนสัตว์ เว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ด้วยอาการแห่งขโมย เว้นจากการประพฤติผิดในกาม ทำให้บุคคลนั้นกระทำแต่การงานที่ดีงาม

๓. มิจฉากัมมันตัปปะหานะปัจจุปปัฏฐาโน มีการกำจัดการงานที่ผิด เป็นอาการปรากฏ หมายความว่า สัมมากัมมันตเจตสิกนี้เมื่อประกอบกับจิตแล้ว ย่อมชักนำจิตและเจตสิกทั้งหลายที่เกิดพร้อมกับตนในขณะนั้นให้งดเว้นจากงานอันเป็นทุจริตและมีโทษ ที่เคยประพฤติมาเสีย และป้องกันไม่ให้กระทำการงานอันเป็นทุจริตและมีโทษที่ยังไม่เคยทำด้วย

๔. โยนิโสมะนะสิการะปะทัฏฐาโน มีการพิจารณาโดยแยบคาย เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า สัมมากัมมันตเจตสิกนี้จะเกิดขึ้นได้ต้องมีโยนิโสมนสิการ คือ ปัญญาที่ใคร่ครวญพิจารณาโดยแยบคายรอบคอบแล้วว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ อะไรมีโทษ อะไรมีประโยชน์ เป็นต้น เมื่อพิจารณารู้โดยถูกต้องแล้ว จึงเกิดความสำรวมระวังและทำการงดเว้นจากทุจริตต่าง ๆ ทางกายเสียได้ ถ้าขาดโยนิโสมนสิการเสียแล้ว สัมมากัมมันตเจตสิกนี้ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ย่อมไม่รู้ว่า อะไรควร อะไรไม่ควร อะไรถูก อะไรผิด เป็นต้น เมื่อเป็นเช่นนั้น สัมมากัมมันตเจตสิกย่อมไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะไม่มีเจตนาที่จะคิดงดเว้นจากกายทุจริตเหล่านั้น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |