ไปยังหน้า : |
ในมหาหัตถิปโทปมสูตร มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์รุ.๖๘ ได้แสดงถึงปถวีธาตุในร่างกายของสัตว์ทั้งหลาย ดังนี้
พระสารีบุตรเถระได้แสดงว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ปถวีธาตุเป็นไฉน? คือ ปถวีธาตุที่เป็นไปภายในก็มี ปถวีธาตุที่เป็นไปภายนอกก็มี ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ปถวีธาตุที่เป็นไปภายในเป็นไฉน? คือ สิ่งที่เป็นอุปาทินนกรูปอันเป็นภายใน เป็นของเฉพาะตน เป็นของแข้นแข็ง เป็นของหยาบ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ก็หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นอุปาทินนกรูป อันเป็นภายใน เป็นของเฉพาะตน เป็นของแข้นแข็ง เป็นของหยาบอย่างอื่น นี้เรียกว่า ปถวีธาตุ ที่เป็นไปภายใน ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ปถวีธาตุอันใดแล เป็นไปภายใน และปถวีธาตุอันใดเป็นไปภายนอก นั่นเป็นปถวีธาตุแล บัณฑิตพึงเห็นปถวีธาตุนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่เป็นตัวตนของเรา บัณฑิตครั้นเห็นปถวีธาตุนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในปถวีธาตุ ย่อมยังจิตให้คลายกำหนัดในปถวีธาตุ ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยใด ปถวีธาตุที่เป็นไปภายนอกกำเริบ ย่อมจะมีได้แล ในสมัยนั้น ปถวีธาตุอันเป็นภายนอกจะเป็นของอันตรธานไป ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ชื่อว่า ความที่แห่งปถวีธาตุอันเป็นไปภายนอกนั้น ซึ่งใหญ่ถึงเพียงนั้น เป็นของไม่เที่ยง จักปรากฏได้ ความเป็นของสิ้นไปเป็นธรรมดา จักปรากฏได้ ความเป็นของเสื่อมไปเป็นธรรมดา จักปรากฏได้ ความเป็นของแปรปรวนไปเป็นธรรมดา จักปรากฏได้ ก็ไฉนความที่แห่งกายอันตัณหาเข้าไปถือเอาแล้ว ว่าเรา ว่าของเรา ว่าเรามีอยู่ อันตั้งอยู่ตลอดกาลนิดหน่อยนี้ เป็นของไม่เที่ยง เป็นของมีความสิ้นไปเป็นธรรมดา เป็นของมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เป็นของมีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา จักไม่ปรากฏเล่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ความยึดถือด้วยสามารถตัณหา มานะ และทิฏฐิ ในปถวีธาตุ อันเป็นภายในนั้น จะไม่มีแก่ผู้นั้นเลย
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า ชนเหล่าอื่นจะด่า จะตัดพ้อกระทบกระเทียบ จะเบียดเบียน ภิกษุนั้นไซร้ ภิกษุนั้นย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า ทุกขเวทนาอันเกิดแต่โสตสัมผัสนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็แต่ว่า ทุกขเวทนานั้นแล อาศัยเหตุจึงมีได้ ไม่อาศัยเหตุจะมีไม่ได้ ทุกขเวทนานี้อาศัยอะไรจึงมีได้ ทุกขเวทนานี้อาศัยผัสสะจึงมีได้ ภิกษุนั้นย่อมเห็นว่าผัสสะเป็นของไม่เที่ยง ย่อมเห็นว่าเวทนาเป็นของไม่เที่ยง ย่อมเห็นว่า สัญญาเป็นของไม่เที่ยง ย่อมเห็นว่า สังขารทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง ย่อมเห็นว่า วิญญาณเป็นของไม่เที่ยง จิตอันมีธาตุเป็นอารมณ์นั่นเทียวของภิกษุนั้น ย่อมแล่นไป ย่อมเลื่อมใส ย่อมตั้งอยู่ด้วยดี ย่อมหลุดพ้น ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า ชนเหล่าอื่นจะพยายามทำร้ายภิกษุนั้น ด้วยอาการที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าชอบใจ คือ ด้วยการประหารด้วยฝ่ามือบ้าง ด้วยการประหารด้วยก้อนดินบ้าง ด้วยการประหารด้วยท่อนไม้บ้าง ด้วยการประหารด้วยศัสตราบ้าง ภิกษุนั้นย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า กายนี้เป็นสภาพที่เป็นไปแห่งการประหารด้วยฝ่ามือบ้าง เป็นสภาพที่เป็นไปแห่งการประหารด้วยก้อนดินบ้าง เป็นสภาพที่เป็นไปแห่งการประหารด้วยท่อนไม้บ้าง เป็นสภาพที่เป็นไปแห่งการประหารด้วยศัสตราบ้าง
อนึ่ง สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ในพระโอวาทอันเปรียบด้วยเลื่อย ดังต่อไปนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้หากว่า พวกโจรผู้มีความประพฤติต่ำช้า พึงตัดทอนอวัยวะใหญ่น้อยทั้งหลายด้วยเลื่อยอันมีด้าม ๒ ข้างไซร้ ภิกษุผู้ที่ยังใจให้ประทุษร้ายในพวกโจรแม้นั้น ย่อมไม่เป็นผู้ชื่อว่า ทำตามคำสั่งสอนของเราด้วยเหตุนั้นรุ.๖๙ ดังนี้ อนึ่ง ความเพียรอันเราปรารภแล้ว จักเป็นคุณชาติไม่ย่อหย่อน สติอันเราเข้าไปตั้งไว้แล้ว จักเป็นคุณชาติไม่หลงลืม กายอันเราให้สงบแล้ว จักเป็นสภาพไม่กระวนกระวาย จิตอันเราให้ตั้งมั่นแล้ว จักเป็นธรรมชาติมีอารมณ์เป็นอย่างเดียว คราวนี้ การประหารด้วยฝ่ามือทั้งหลาย จงเป็นไปในกายนี้ก็ดี การประหารด้วยก้อนดินทั้งหลายจงเป็นไปในกายนี้ก็ดี การประหารด้วยท่อนไม้ทั้งหลาย จงเป็นไปในกายนี้ก็ดี การประหารด้วยศัสตราทั้งหลาย จงเป็นไปในกายนี้ก็ดี ก็ตามทีเถิด คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายนี้ เราจะทำให้จงได้ ดังนี้ ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า เมื่อภิกษุนั้นระลึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระธรรมอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรม ย่อมไม่ตั้งอยู่พร้อมได้ ภิกษุนั้นย่อมสลดใจ ย่อมถึงความสลดใจ เพราะเหตุนั้นว่า ไม่เป็นลาภของเราหนอ ลาภไม่มีแก่เราหนอ เราได้ไม่ดีแล้วหนอ การได้ด้วยดีไม่มีแก่เราหนอ ที่เราระลึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระธรรมอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรมไม่ตั้งอยู่ได้ด้วยดี ดังนี้ ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หญิงสะใภ้เห็นพ่อผัวแล้ว ย่อมสลดใจ ย่อมถึงความสลดใจ แม้ฉันใด ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า เมื่อภิกษุนั้นระลึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระธรรมอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรม ไม่ตั้งอยู่ได้ด้วยดี ภิกษุนั้นย่อมสลดใจ ย่อมถึงความสลดใจ เพราะเหตุนั้นว่า ไม่เป็นลาภของเราหนอ ลาภของเราไม่มีหนอ เราได้ไม่ดีแล้วหนอ การได้ด้วยดีไม่มีแก่เราหนอ ที่เราระลึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระธรรมอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรม ย่อมไม่ตั้งอยู่ได้ด้วยดี ดังนี้ ฉันนั้นเหมือนกันแล ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า เมื่อภิกษุนั้นระลึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระธรรมอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรม ย่อมตั้งอยู่ได้ด้วยดีไซร้ ภิกษุนั้น ย่อมเป็นผู้ปลื้มใจ เพราะเหตุนั้น ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ด้วยเหตุแม้มีประมาณเท่านี้แล คำสอนของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นอันภิกษุนั้นทำให้มากแล้ว