| |
สามัญญลักษณะ

สามัญญลักษณะ หมายถึง ลักษณะที่มีทั่วไปกับสังขารธรรมทั้งปวง เป็นลักษณะตามธรรมดาทั่วไปที่ปรมัตถธรรมทั้งหลายจะต้องมีจะต้องเป็นเหมือน ๆ กันอยู่ ๓ ประการ [ยกเว้นพระนิพพาน มีไม่ครบ] คือ

๑. อนิจจลักษณะ ลักษณะแห่งความไม่เที่ยงแท้แน่นอน เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเปลี่ยนแปลงไป ตามเหตุตามปัจจัย หรือเรียกว่า อนิจจัง

๒. ทุกขลักษณะ ลักษณะแห่งความเป็นทุกข์ คือ ภาวะที่ทนอยู่ในสภาพเดิมของตนไม่ได้ ต้องแตกดับสลายไป เปลี่ยนแปลงไป หรือแปรสภาพกลายเป็นอย่างอื่นไปอยู่เสมอ หรือเรียกว่า ทุกขัง

๓. อนัตตลักษณะ ลักษณะแห่งความเป็นสภาพไม่ใช่ตัวตน หรือ บังคับบัญชาให้อยู่ในอำนาจของใครไม่ได้ ย่อมเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยของสิ่งนั้น ๆ หรือเรียกว่า อนัตตา

สามัญญลักษณะทั้ง ๓ นี้ เรียกว่า ไตรลักษณ์ จิต เจตสิก รูปทั้ง ๓ ย่อมมีครบทั้ง ๓ ลักษณะ ส่วนพระนิพพานนั้น มีสามัญญลักษณะเพียงอย่างเดียว คือ อนัตตา เพราะพระนิพพานนั้นเป็นสภาพที่เที่ยง ไม่มีการเกิดดับเปลี่ยนแปรไปเป็นอย่างอื่นแต่ประการใด เมื่อไม่มีความเกิดดับเปลี่ยนแปร ก็ไม่มีทุกข์ที่จะต้องทนยาก แต่พระนิพพานนั้นเป็นสภาพนามธรรม และเป็นอารมณ์ของจิต ไม่ใช่ที่ตั้งหรือสถานที่อยู่ และไม่ใช่ภพภูมิใดภพภูมิหนึ่ง ที่จะพึงไปโดยยานพาหนะอย่างใดอย่างหนึ่งได้ ฉะนั้น พระนิพพาน จึงชื่อว่า อนัตตา คือ ไม่มีรูปร่างสัณฐาน ไม่มีสีสันวรรณะ ไม่สามารถสัมผัสโดยประสาทสัมผัสทั้ง ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กายได้ เป็นเพียงสภาพแห่งธรรมารมณ์ที่จิตซึ่งฝึกฝนพัฒนาดีแล้วสามารถรับรู้ได้ทางมโนทวารเท่านั้น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |