| |
ปัญจทวาราวัชชนจิต   |  

ปัญจทวาราวัชชนจิต เป็นจิตที่เกิดขึ้นเพื่อทำหน้าที่พิจารณารับรู้ปัญจารมณ์ คือ อารมณ์ ๕ อย่าง [ได้แก่ รูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ และโผฏฐัพพารมณ์] ทางปัญจทวาร [ได้แก่ จักขุทวาร โสตทวาร ฆานทวาร ชิวหาทวาร และกายทวาร] อย่างใดอย่างหนึ่ง ตามสมควรแก่ทวารนั้น ๆ หมายความว่า เมื่อมีอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง มีรูปารมณ์ เป็นต้น มาปรากฏทางปัญจทวาร มีจักขุทวาร เป็นต้นแล้ว ภวังคจิตเริ่มตอบรับกับอารมณนั้น เรียกว่า อตีตภวังค์ แปลว่า ภวังค์ที่มีอารมณ์ผ่านเข้ามาแล้ว ต่อมาภวังคจิตก็ทำการสั่นไหวตอบสนองต่ออารมณ์นั้น เรียกว่า ภวังคจลนะ แปลว่า ภวังค์ไหว ต่อจากนั้น ภวังคจิตนั้นได้ตัดกระแสตนเองขาดลง คือ ทิ้งตัวเองเสีย หรือ เป็นการหลีกทางให้ เรียกว่า ภวังคุปัจเฉทะ แปลว่า ภวังค์ตัด ต่อจากนั้น ปัญจทวาราวัชชนจิต จึงเกิดขึ้นรับรู้พิจารณาอารมณ์ คือ นึกหน่วง หรือ ชักดึงอารมณ์นั้นมาสู่ทวารนั้น ๆ เรียกว่า อาวัชชนจิต แล้วจึงส่งให้ปัญจวิญญาณจิต ดวงใดดวงหนึ่ง ทางทวารนั้น ๆ รับรู้ต่อไป คือ เมื่อรับพิจารณา รูปารมณ์ทางจักขุทวารแล้วก็ส่งให้จักขุวิญญาณจิตรับรู้ต่อไป เมื่อรับพิจารณาสัททารมณ์ทางโสตทวารแล้วก็ส่งให้โสตวิญญาณจิตรับรู้ต่อไป ดังนี้เป็นต้น ฉะนั้น ปัญจทวาราวัชชนจิต จึงได้ชื่อว่า วิถีปฏิปาทกมนสิการ คือ ความใส่ใจให้วิถีจิตได้เกิดขึ้นทางปัญจทวารต่อไปได้ ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษ ๔ ประการ ที่เรียกว่า วิเสสลักษณะ หรือ ลักขณาทิจตุกกะ ดังต่อไปนี้

๑. ปัญจะท๎วาเรสุ ปัญจารัมมะณาวิชชานะนะลักขะณัง มีการรู้อารมณ์ทั้ง ๕ ที่ปรากฏทางปัญจทวาร เป็นลักษณะ หมายความว่า ปัญจทวาราวัชชนจิตนี้ สามารถรับอารมณ์ได้ ๕ อย่าง ทางทวารทั้ง ๕ อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วแต่อารมณ์ที่เกิดทางทวารนั้น ๆ คือ สามารถรับรูปารมณ์ทางจักขุทวารก็ได้ รับสัททารมณ์ทางโสตทวารก็ได้ รับคันธารมณ์ทางฆานทวารก็ได้ รับรสารมณ์ทางชิวหาทวารก็ได้ และรับโผฏฐัพพารมณ์ทางกายทวารก็ได้ อันเป็นความสามารถเฉพาะตัวของปัญจทวาราวัชชนจิตนี้

๒. รูปาทิอาวัชชะนะระสัง มีการพิจารณาปัญจารมณ์ มีรูปารมณ์ เป็นต้น เป็นกิจ หมายความว่า ปัญจทวาราวัชชนจิตนี้ ย่อมมีหน้าที่ในการหน่วงเหนี่ยว หรือพิจารณาอารมณ์ทางปัญจทวารอย่างใดอย่างหนึ่งตามสมควรแก่ทวารนั้น ๆ คือ เมื่อ รูปารมณ์ปรากฏทางจักขุทวาร ก็ทำการหน่วงเหนี่ยวรูปารมณ์นั้นมาสู่จักขุทวารวิถี หรือเมื่อสัททารมณ์ปรากฏทางโสตทวาร ก็ทำการหน่วงเหนี่ยวสัททารมณ์นั้นมาสู่โสตทวารวิถี ดังนี้เป็นต้น อันเป็นกิจรส คือ หน้าที่ที่ต้องกระทำของปัญจทวาราวัชชนจิตนี้จะให้จิตดวงอื่นมาทำหน้าที่แทนปัญจทวาราวัชชนจิตก็ไม่ได้ และจะให้ปัญจทวาราวัชชนจิต ไปทำหน้าที่อย่างอื่นที่นอกจากอาวัชชนกิจก็ไม่ได้เช่นกัน

๓. ตะถาภาวะปัจจุปปัฏฐานัง มีความเป็นอย่างเดียวกันกับอารมณ์นั้น เป็นอาการปรากฏ หมายความว่า ปัญจทวาราวัชชนจิตนี้ สามารถปรับสภาพให้ตรงกับอารมณ์ที่ตนรับอยู่นั้นได้อย่างกลมกลืน โดยไม่มีความขัดแย้งหรือเป็นปฏิปักษ์ต่ออารมณ์นั้นแต่อย่างใด หรือไม่มีความเกี่ยงงอนต่อการรับอารมณ์นั้น ๆ แต่อย่างใด ไม่ว่าอารมณ์นั้น จะเป็นรูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ หรือโผฏฐัพพารมณ์ก็ตาม ย่อมสามารถปรับสภาพยอมรับกับอารมณ์โดยดี และไม่มีความลำเอียงเกี่ยงงอนในทวารทั้ง ๕ ไม่ว่าจะเป็นจักขุทวาร โสตทวาร ฆานทวาร ชิวหาทวาร หรือกายทวารก็ตาม ย่อมสามารถเกิดได้ทั้งนั้น ด้วยเหตุนี้ ปัญจทวาราวัชชนจิต จึงสามารถรับอารมณ์ได้อย่างสม่ำเสมอกันทั้ง ๕ อารมณ์และทั้ง ๕ ทวาร

๔. ภะวังคัสสะ อะปะคะมะนะปะทัฏฐานัง มีการแผ่ออกไปแห่งภวังคจิต เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า ปัญจทวาราวัชชนจิตนี้ จะเกิดขึ้นได้ ต้องมีภวังคจิตทำหน้าที่ตอบสนองต่ออารมณ์นั้นเสียก่อน โดยเริ่มด้วยอดีตภวังค์ [ตี] คือ ภวังคจิตที่มีอารมณ์ปรากฏทางทวารนั้นแล้ว ภวังคจลนะ [น] คือ ภวังคจิตที่เริ่มสั่นไหวตอบสนองต่ออารมณ์นั้น และภวังคุปัจเฉทะ [ท] คือ ภวังคจิตที่ทำการตัดกระแสภวังค์ [ทิ้งตัวเองหรือหลีกทางให้] ต่อจากนั้น ปัญจทวาราวัชชนจิต จึงเกิดต่อไปได้ ถ้าภวังคจิตไม่ทำหน้าที่สั่นไหวตอบสนองต่ออารมณ์นั้นและไม่ทำการตัดกระภวังค์เสียแล้ว ปัญจทวาราวัชชนจิต ก็เกิดขึ้นไม่ได้เช่นเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ การแผ่ออกของภวังคจิต คือ การตอบสนองต่ออารมณ์นั้น จึงเป็นเหตุใกล้ให้ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้นได้


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |