| |
สามัญญลักษณะของจิต   |  

จิตนี้มีสภาพเป็นสังขตธรรม คือ ธรรมที่ถูกปัจจัยปรุงแต่งและปัจจัยที่เข้ามาปรุงแต่งจิตให้เกิดขึ้นและเป็นไปได้นั้น ย่อมมีสภาพเป็นสังขตธรรมด้วยเหมือนกัน ซึ่งล้วนแต่เป็นธรรมที่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของไตรลักษณ์ทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ จิตมีจึงลักษณะเป็นไปตามกฎเกณฑ์แห่งสามัญญลักษณะ ที่เรียกว่า ไตรลักษณ์ นั่นเอง คือ

๑. จิตนี้เป็น อนิจจัง คือ ไม่เที่ยง ไม่มั่นคง ไม่ตั้งอยู่นาน มีการเกิดดับอย่างรวดเร็ว อยู่ตลอดเวลา จิตดวงหนึ่งเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป ก็เป็นปัจจัยให้จิตอีกดวงหนึ่งเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป เป็นอยู่เช่นนี้เรื่อยไป จนกว่าจะปรินิพพาน จิตดวงใหม่จึงจะไม่เกิดขึ้นอีก เป็นการสิ้นสุดแห่งสังสารวัฏฏ์

๒. จิตนี้เป็น ทุกขัง คือ ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้นาน มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปเป็นธรรมดา ไม่ตั้งอยู่นาน มีการเกิดดับติดต่อกันอย่างรวดเร็ว แค่ระยะเวลาเพียงช้างกระดิกหู หรืองูแลบลิ้น เท่านั้น จิตก็เกิดดับติดต่อกันถึงแสนโกฏิขณะ ไม่มีการหยุดพัก แม้แต่ในเวลาที่สัตว์หลับสนิท ภวังคจิตย่อมเกิดดับติดต่อกันไป จนกว่าจะตื่นรับอารมณ์ใหม่อีก เป็นเช่นนี้เรื่อยไป ทั้งนี้ เป็นเพราะสภาพของจิตนั้นไม่สามารถทนนิ่งอยู่ในสภาพเดิมได้ อันเป็นสภาพของทุกข์นั่นเอง

๓. จิตนี้เป็น อนัตตา คือ เป็นสภาพที่ใคร ๆ ไม่สามารถบังคับบัญชาให้อยู่ในอำนาจ ไม่ให้เกิด ไม่ให้ดับ ก็ไม่ได้ หรือบังคับบัญชาให้เป็นสภาพมั่นคงเช่นนั้นตลอดไปก็ไม่ได้ ย่อมเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยของมันเอง เมื่อมีเหตุปัจจัยของจิตดวงนั้นพร้อมแล้ว จิตดวงนั้นก็เกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป เมื่อมีเหตุปัจจัยของจิตอีกดวงหนึ่ง จิตดวงนั้นก็เกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไป เป็นอยู่เช่นนี้เรื่อยไป ไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาให้เป็นไปตามที่ต้องการได้ว่า “ขอจิตดวงนั้นอย่าได้เกิดขึ้นเลย ขอให้จิตดวงนี้จงเกิดขึ้นอย่างเดียว” ดังนี้เป็นต้นนั้นไม่ได้เลย อนึ่ง จิตนี้เป็นนามธรรม ไม่มีรูปร่างสัณฐาน ไม่มีสีสันวรรณะแต่อย่างใด ไม่สามารถกระทบสัมผัสได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่รู้ได้เฉพาะทางใจเท่านั้น จึงชื่อว่า อนัตตา คือ ความไม่มีตัวตน อีกความหมายหนึ่งด้วย


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |