| |
บุญกิริยาวัตถุ ๑๐   |  

บุญกิริยาวัตถุ หมายถึง เรื่องราวหรือสิ่งที่ใช้ในการทำความดีให้เต็มบริบูรณ์ มี ๑๐ ประการ คือ

๑. ทานะ การให้สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่าง ๆ เมื่อสรุปแล้ว ได้แก่ ปัจจัย ๔ คือ เครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค

๒. สีละ การสำรวมรักษาศีลด้วยกายและวาจา ไม่ให้ล่วงละเมิดเกิดวีติกกมโทษทางกายและทางวาจาขึ้น

๓. ภาวนา การเจริญภาวนา เพื่อทำให้จิตสงบ ให้มีกำลังหนักแน่น มีความมั่นคง และทำให้เกิดปัญญารู้เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง

๔. อปจายนะ การประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่โดยชาติก็ดี โดยวัยก็ดี หรือโดยคุณก็ดี ไม่มีความเย่อหยิ่งจองหอง

๕. เวยยาวัจจะ การช่วยขวนขวายในกิจที่ชอบ ที่เป็นประโยชน์เฉพาะตนก็ดี ที่เป็นประโยชน์แก่พวกพ้องก็ดี ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมก็ดี ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและศาสนาก็ดี

๖. ปัตติทานะ การให้ส่วนบุญ ได้แก่ การบอกบุญให้ผู้อื่นอนุโมทนาร่วมด้วยก็ดี การแผ่ส่วนบุญไปให้แก่สัตว์ที่สามารถจะรับส่วนบุญได้ก็ดี

๗. ปัตตานุโมทนา การอนุโมทนาส่วนบุญที่บุคคลอื่นกระทำก็ดี ที่บุคคลอื่นนำมาบอกก็ดี หรือเหล่าเทวดา เปรต อสุรกาย อนุโมทนาส่วนบุญที่บุคคลอื่นกระทำแล้วอุทิศให้ก็ดี

๘. ธัมมัสสวนะ การตั้งใจฟังพระสัทธรรม ด้วยเจตนาอันบริสุทธิ์ หรือฟังข้อมูลข่าวสารที่เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขในโลกนี้และโลกหน้า อันนับเนื่องเข้าในพระสัทธรรมก็ดี

๙. ธัมมเทสนา การตั้งใจแสดงธรรมเทศนาให้แก่บุคคลอื่นได้รับรู้และเข้าใจ โดยถูกต้อง หรือการชี้แจงแสดงเหตุผลความผิดชอบชั่วดี ให้บุคคลอื่นได้รู้ได้เข้าใจ โดยถูกต้อง สามารถนำไปประพฤติปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ทั้งในชาตินี้และชาติหน้าได้ อันนับเนื่องเข้าในพระสัทธรรมก็ดี

๑๐. ทิฏฐุชุกัมมะ การทำความเห็นให้ตรงและถูกต้องตามทำนองคลองธรรม เพื่อบรรเทาความเห็นผิดให้เบาบาง และทำลายให้หมดไปในที่สุด

ในกุศลวัตถุทั้ง ๒๐ ประการนี้ สามารถทำให้เกิดมหากุศลจิตได้ทั้งที่เป็นโสมนัสสเวทนาและอุเบกขาเวทนา หมายความว่า ถ้าบุคคลใด กระทำกุศลอย่างใดอย่างหนึ่ง ด้วยความปลาบปลื้มยินดี มีศรัทธาที่เต็มเปี่ยมบริบูรณ์แล้ว มหากุศลจิตที่เกิดขึ้นแก่บุคคลนั้น เรียกว่า มหากุศลโสมนัสสสหคตจิต แปลว่า มหากุศลจิตที่เกิดพร้อมด้วยความดีใจ แต่ถ้าบุคคลใด กระทำกุศลอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น ด้วยความรู้สึกเฉย ๆ มหากุศลจิตที่เกิดแก่บุคคลนั้น เรียกว่า มหากุศลอุเบกขาสหคตจิต แปลว่า มหากุศลจิตที่เกิดพร้อมด้วยความเฉย ๆ

ในกุศลวัตถุทั้ง ๒๐ ประการนี้ บุคคลทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมสามารถทำให้เกิดมหากุศลจิตทั้งที่เป็นทวิเหตุกกุศลจิตและติเหตุกกุศลจิตได้ หมายความว่า ถ้าบุคคลใด กระทำโดยใช้ปัญญาในการพิจารณาทั้งโดยกัมมัสสกตาปัญญาก็ดี สุตมยปัญญาก็ดี จินตามยปัญญาก็ดี หรือโดยภาวนามยปัญญาก็ดี มหากุศลจิตที่เกิดขึ้นแก่บุคคลนั้น เรียกว่า ติเหตุกกุศล แปลว่า มหากุศลจิตที่เกิดพร้อมด้วยเหตุ ๓ ได้แก่ อโลภเหตุ อโทสเหตุ และอโมหเหตุ แต่ถ้าบุคคลใด กระทำโดยไม่ได้ใช้ปัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังกล่าวแล้ว แต่กระทำโดยมีศรัทธาเป็นใหญ่เป็นประธานแล้ว มหากุศลจิตที่เกิดขึ้นแก่บุคคลนั้น เรียกว่า ทวิเหตุกกุศล แปลว่า มหากุศลจิตที่เกิดพร้อมด้วยเหตุ ๒ ได้แก่ อโลภเหตุ อโทสเหตุ ไม่มีอโมหเหตุ คือไม่มีปัญญามาเกิดร่วมด้วย

ในกุศลวัตถุทั้ง ๒๐ ประการนี้ บุคคลทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมสามารถทำให้เกิดมหากุศลจิตทั้งที่เป็นอสังขาริกจิตและสสังขาริกจิตได้ หมายความว่า ถ้าบุคคลใด กระทำกุศลโดยการปรารภขึ้นมาด้วยตนเอง มหากุศลจิตที่เกิดขึ้นแก่บุคคลนั้น เรียกว่า มหากุศลอสังขาริกจิต แปลว่า มหากุศลจิตที่เกิดขึ้นโดยไม่มีการชักชวน แต่ถ้าบุคคลใด กระทำโดยอาศัยการชักชวนอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ทางกาย ทางวาจา หรือทางใจ ทั้งโดยการกระตุ้นเตือนตนเองก็ดี หรือโดยการชักชวนจากบุคคลอื่นก็ดี มหากุศลจิตที่เกิดขึ้นแก่บุคคลนั้น เรียกว่า มหากุศลสสังขาริกจิต แปลว่า มหากุศลจิตที่เกิดขึ้นโดยมีการชักชวน

อนึ่ง ในกุศลวัตถุทั้ง ๒๐ ประการนี้ บุคคลทำอย่างใดอย่างหนึ่งย่อมสามารถทำให้เกิดมหากุศลจิตทั้งที่เป็นอุกกัฏฐกุศลและโอมกกุศลได้ หมายความว่า ถ้าบุคคลใด กระทำกุศลอย่างใดอย่างหนึ่ง ด้วยเจตนาที่บริสุทธิ์ มีศรัทธาที่เต็มเปี่ยมบริบูรณ์แล้ว มหากุศลจิตที่เกิดขึ้นแก่บุคคลนั้น เรียกว่า อุกกัฏฐกุศล แปลว่า กุศลชั้นสูง แต่ถ้าบุคคลใด กระทำกุศลอย่างใดอย่างหนึ่ง ด้วยเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์ มีอกุศลเจตนาเข้ามาแปดเปื้อนหรือเบียนเบียดทำให้กุศลเจตนาอ่อนกำลังลงแล้ว มหากุศลจิตที่เกิดแก่บุคคลนั้น เรียกว่า โอมกกุศล แปลว่า กุศลชั้นต่ำ


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |