| |
บุคคลเปรียบด้วยผู้จมน้ำ ๗ ประเภท   |  

ในอุทกูปมาสูตร อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ได้แสดงถึงบุคคลผู้เปรียบด้วยบุคคลผู้จมน้ำ ๗ จำพวกรุ.๘๔ คือ

๑. บุคคลที่จมลงไปครั้งเดียว ก็จมลงไปเลย ไม่สามารถโผล่ขึ้นมาได้อีก หมายถึงบุคคลที่จมปลักอยู่ในการทำอกุศลกรรมอย่างเดียว

๒. บุคคลที่จมลงไปแล้ว โผล่ขึ้นมา แล้วก็จมลงไปอีก หมายถึง บุคคลที่ทำกุศลกรรมในตอนต้น แล้วกุศลกรรมเสื่อม เพราะหันเหไปทำอกุศลกรรม

๓. บุคคลที่จมลงไปแล้ว โผล่ขึ้นมา แล้วลอยตัวอยู่ได้ หมายถึง บุคคลที่เคยทำอกุศลกรรมมาแล้วเลิกเสีย หันมาบำเพ็ญคุณธรรมให้มีขึ้น และคุณธรรมนั้นไม่เสื่อม

๔. บุคคลที่จมลงไปแล้ว โผล่ขึ้นมา ลอยตัวอยู่ได้ และเห็นแจ้ง เหลียวเล็งแลดูสิ่งต่าง ๆ อยู่ หมายถึง พระโสดาบัน

๕. บุคคลที่โผล่ขึ้นมาแล้ว พยายามแวกว่ายหาฝั่ง หมายถึง พระสกิทาคามี

๖. บุคคลที่โผล่ขึ้นมาแล้ว แวกว่ายไปถึงที่ตื้นได้ หมายถึง พระอนาคามี

๗. บุคคลที่โผล่ขึ้นมาแล้ว ว่ายขึ้นฝั่งได้สำเร็จ ยืนอยู่บนบกโดยปลอดภัย หมายถึงพระอรหันต์

สมดังหลักฐานที่มาในอุทกูปมาสูตร อนุสยวรรค อังคุตตรนิกาย สุตตนิบาต สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลเปรียบด้วยคนตกน้ำ ๗ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก ๗ จำพวกเป็นไฉน ? คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ จมลงแล้วคราวเดียว ก็เป็นอันจมอยู่นั่นเอง ๑ บางคนโผล่ขึ้นมาแล้ว กลับจมลงไปอีก ๑ บางคนโผล่พ้นแล้วทรงตัวอยู่ได้ ๑ บางคนโผล่ขึ้นมาแล้วเหลียวมองไปมา [หาฝั่ง] ๑ บางคนโผล่ขึ้นมาแล้วเตรียมตัวจะว่ายข้าม ๑ บางคนโผล่ขึ้นมาแล้วได้ที่พึ่ง [มีแพเกาะ] ๑ บางคนโผล่ขึ้นมาได้แล้ว เป็นพราหมณ์ข้ามถึงฝั่งอยู่บนบก ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลที่จมลงแล้วคราวเดียวก็เป็นอันจมอยู่นั่นเอง เป็นอย่างไร? ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยอกุศลธรรมฝ่ายดำโดยส่วนเดียว ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลที่จมลงแล้วคราวเดียวก็เป็นอันจมอยู่นั่นเอง เป็นอย่างนี้แล

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลที่โผล่ขึ้นมาได้แล้วกลับจมลงไปอีกเป็นอย่างไร ? ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ โผล่ขึ้นมาได้ คือ เขามีธรรม กล่าวคือ ศรัทธา หิริ โอตตัปปะ วิริยะ ปัญญาชั้นดี ๆ ในกุศลธรรมทั้งหลาย แต่ศรัทธาของเขานั้นไม่คงที่ ไม่เจริญขึ้น เสื่อมไปฝ่ายเดียว หิริ โอตตัปปะ วิริยะ ปัญญาของเขานั้น ไม่คงที่ ไม่เจริญขึ้น เสื่อมไปฝ่ายเดียว ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลที่โผล่ขึ้นมาแล้วกลับจมลงไปอีกเป็นอย่างนี้แล

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลที่โผล่ขึ้นมาแล้วทรงตัวอยู่ได้เป็นอย่างไร ? ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ โผล่ขึ้นมาได้ คือ เขามีธรรมเหล่านี้ กล่าวคือ ศรัทธา หิริ โอตตัปปะ วิริยะ ปัญญาชั้นดี ๆ ในกุศลธรรมทั้งหลาย แต่ศรัทธาของเขานั้นไม่เสื่อมลง ไม่เจริญขึ้น คงที่อยู่อย่างเดิม ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลที่โผล่ขึ้นมาได้แล้วทรงตัวอยู่ได้ เป็นอย่างนี้แล

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลที่โผล่ขึ้นมาได้แล้วเหลียวไปมาเป็นอย่างไร ? ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ โผล่ขึ้นมาได้ คือ เขามีธรรมเหล่านี้ กล่าวคือ ศรัทธา หิริ โอตตัปปะ วิริยะ ปัญญาชั้นดี ๆ ในกุศลธรรมทั้งหลาย เพราะสังโยชน์ ๓ สิ้นไปแล้ว เขาเป็นพระโสดาบัน มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลที่โผล่ขึ้นมาได้แล้วเหลียวไปมา เป็นอย่างนี้แล

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลที่โผล่ขึ้นมาได้แล้วเตรียมตัวจะข้ามไป เป็นอย่างไร? ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ โผล่ขึ้นมาได้ คือ เขามีธรรมเหล่านี้ กล่าวคือ ศรัทธา หิริ โอตตัปปะ วิริยะ ปัญญาชั้นดี ๆ ในกุศลธรรมทั้งหลาย เพราะสังโยชน์ ๓ สิ้นไป และเพราะทำราคะ โทสะ โมหะ ให้เบาบางลง เขาเป็นพระสกิทาคามี มาสู่โลกนี้อีกเพียงครั้งเดียวเท่านั้น แล้วทำที่สุดทุกข์ได้ บุคคลที่โผล่ขึ้นมาได้แล้ว เตรียมตัวจะข้ามไป เป็นอย่างนี้แล

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลที่โผล่ขึ้นมาแล้วได้ที่พึ่ง เป็นอย่างไร? ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ โผล่ขึ้นมาได้ คือ เขามีธรรมเหล่านี้ กล่าวคือ ศรัทธา หิริ โอตตัปปะวิริยะ ปัญญาชั้นดี ๆ ในกุศลธรรมทั้งหลาย เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ สิ้นไป เขาเป็นพระอนาคามี จักปรินิพพานในภพนั้น มีอันไม่กลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา บุคคลที่โผล่ขึ้นมาแล้วได้ที่พึ่ง เป็นอย่างนี้แล

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลที่โผล่ขึ้นมาได้แล้วเป็นพราหมณ์ ข้ามถึงฝั่งอยู่บนบก เป็นอย่างไร ? บุคคลบางคนในโลกนี้ โผล่ขึ้นมาได้ คือ เขามีธรรมเหล่านี้ กล่าวคือ ศรัทธา หิริ โอตตัปปะ วิริยะ ปัญญาชั้นดี ๆ ในกุศลธรรมทั้งหลาย เขากระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ บุคคลที่โผล่ขึ้นมาได้แล้วเป็นพราหมณ์ข้ามถึงฝั่งอยู่บนบก เป็นอย่างนี้แล

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลเปรียบด้วยผู้จมน้ำ ๗ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |