| |
ความต่างกันแห่งการรับรู้อารมณ์ของเจตสิก ๔ ดวง   |  

๑. ผัสสเจตสิก มีการเสวยอารมณ์ชั่วขณะที่กระทบถูกต้อง แล้วก็หมดหน้าที่ไป ไม่มีหน้าที่ตามไปรับรู้รสชาติของอารมณ์นั้น ๆ แต่อย่างใด

๒. สัญญาเจตสิก มีหน้าที่รับรู้อารมณ์ เพียงเก็บจำลักษณะของอารมณ์นั้นไว้เท่านั้น ไม่มีหน้าที่ตามไปรับรู้รสชาติของอารมณ์นั้น ๆ เหมือนกัน

๓. เจตนาเจตสิก มีหน้าที่รับรู้อารมณ์ เพียงการตั้งใจมุ่งมั่นต่ออารมณ์เท่านั้น ไม่ได้มีการเสวยรสของอารมณ์นั้นโดยตรง

๔. เวทนาเจตสิก มีหน้าที่ในการเสวย โดยการลิ้มชิมรสแห่งอารมณ์โดยตรง

เพราะฉะนั้น เวทนาเจตสิก จึงนับว่า เป็นเจ้าของ เป็นใหญ่ และมีอำนาจในการเสวยรสชาติของอารมณ์โดยตรง ในอัฏฐสาลินีอรรถกถา ท่านเปรียบเวทนาเหมือนพระราชา ส่วนสัมปยุตตธรรมนอกจากนี้ เปรียบเหมือนพ่อครัวผู้ปรุงโภชนะที่มีรสดีต่าง ๆ เมื่อพ่อครัวปรุงโภชนะเสร็จเรียบร้อยแล้วก็เก็บใส่ภาชนะประทับตรา นำเข้าถวายพระราชา พระองค์ทรงเป็นเจ้าของ เป็นใหญ่ มีอำนาจในการเสวยพระกระยาหารนั้นได้ตามพระราชประสงค์ ส่วนพวกพ่อครัว หรือ ต้นเครื่อง ก็เพียงแต่สูดดมกลิ่น หรืออย่างมากก็เพียงแต่ชิมทดลองพระกระยาหาร เพื่อให้ได้รสชาติที่ถูกพระทัยของพระราชา จึงได้ลิ้มชิมแต่เพียงบางส่วนเท่านั้น สัมปยุตตธรรมทั้งหลายที่เกิดพร้อมเวทนาเจตสิกก็เช่นเดียวกัน ย่อมมีขอบเขตในการรับรู้อารมณ์ได้เพียงบางส่วน ไม่มีหน้าที่ในการเสวยรสชาติของอารมณ์อย่างเต็มที่ ส่วนหน้าที่ในการเสวยรสชาติของอารมณ์โดยตรง เป็นของเวทนาเจตสิก จึงกล่าวได้ว่า เวทนา เป็นธรรมชาติที่เสวยรสชาติแห่งอารมณ์ทั้งหมด โดยตรงและแน่นอน จึงได้ชื่อว่า เป็นอินทรีย์ เรียกว่า เวทนินทรีย์ แปลว่า มีความเป็นใหญ่เป็นผู้ปกครอง มีอำนาจในการเสวยรสชาติของอารมณ์


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |