| |
รูปร่างลักษณะของปสาทรูป ๕   |  

ในวิสุทธิมรรค ขันธนิทเทสรุ.๑๓๒ ได้แสดงถึงรูปร่างลักษณะของปสาทรูป ๕ แต่ละอย่างไว้ ดังต่อไปนี้

๑. จักขุปสาทรูป ได้แก่ รูปที่มีความใส ตั้งอยู่ในก้อนเนื้อที่มีสัณฐานประมาณเท่าหัวเหา ตั้งอยู่ในแก้วตา ตรงกลางดวงตาดำทั้ง ๒ ข้าง เป็นวัตถุคือสถานที่อาศัยเกิดของจักขุวิญญาณจิต ๒ ดวง และเป็นทวารคือเป็นประตูหรือช่องทางการรับรู้รูปารมณ์ของจักขุทวาริกจิต ๔๖ ดวง คือ กามจิต ๔๖ [เว้นโสตวิญญาณจิต ๒ ฆานวิญญาณจิต ๒ ชิวหาวิญญาณจิต ๒ และกายวิญญาณจิต ๒]

๒. โสตปสาทรูป ได้แก่ รูปที่มีความใส ตั้งอยู่ในก้อนเนื้อที่มีสัณฐานคล้ายวงแหวน เต็มรอบด้วยเส้นขนที่ละเอียดอ่อนมีสีแดงอ่อน ๆ ภายในช่องหูทั้ง ๒ ข้าง เป็นวัตถุคือสถานที่อาศัยเกิดของโสตวิญญาณจิต ๒ ดวง และเป็นทวารคือเป็นประตูหรือช่องทางการรับรู้สัททารมณ์ของโสตทวาริกจิต ๔๖ ดวง คือ กามจิต ๔๖ [เว้นจักขุวิญญาณจิต ๒ ฆานวิญญาณจิต ๒ ชิวหาวิญญาณจิต ๒ และกายวิญญาณจิต ๒]

๓. ฆานปสาทรูป ได้แก่ รูปที่มีความใส ตั้งอยู่ในก้อนเนื้อที่มีสัณฐานเหมือนกีบเท้าแพะ ตั้งอยู่ตรงกลางช่องจมูกภายในทั้ง ๒ ข้าง เป็นวัตถุคือสถานที่อาศัยเกิดของฆานวิญญาณจิต ๒ ดวง และเป็นทวารคือเป็นประตูหรือช่องทางการรับรู้คันธารมณ์ของฆานทวาริกจิต ๔๖ ดวง คือ กามจิต ๔๖ [เว้นจักขุวิญญาณจิต ๒ โสตวิญญาณจิต ๒ ชิวหาวิญญาณจิต ๒ และกายวิญญาณจิต ๒]

๔. ชิวหาปสาทรูป ได้แก่ รูปที่มีความใส ตั้งอยู่ในก้อนเนื้อที่มีสัณฐานดังปลายกลีบดอกบัว ท่ามกลางลิ้นเบื้องบน เป็นวัตถุคือเป็นสถานที่อาศัยเกิดของชิวหาวิญญาณจิต ๒ ดวง และเป็นทวารคือเป็นประตูหรือช่องทางการรับรู้รสารมณ์ของชิวหาทวาริกจิต ๔๖ ดวง คือ กามจิต ๔๖ [เว้นจักขุวิญญาณจิต ๒ โสตวิญญาณจิต ๒ ฆานวิญญาณจิต ๒ และกายวิญญาณจิต ๒]

๕. กายปสาทรูป ได้แก่ รูปที่มีความใส ดารดาษอยู่ทั่วไปในอุปาทินนกรูป [รูปที่เกิดจากกรรม] คือ ในร่างกายของสัตว์มีชีวิตทั้งหลายที่เกิดอยู่ในกามภูมิ ๑๑ มีสภาพเหมือนน้ำมันที่ชุ่มอยู่ทั่วไปในปุยฝ้าย เป็นวัตถุคือเป็นสถานที่อาศัยเกิดของกายวิญญาณจิต ๒ ดวง และเป็นทวารคือเป็นประตูหรือช่องทางการรับรู้โผฏฐัพพารมณ์ของกายทวาริกจิต ๔๖ ดวง คือ กามจิต ๔๖ [เว้นจักขุวิญญาณจิต ๒ โสตวิญญาณจิต ๒ ฆานวิญญาณจิต ๒ และชิวหาวิญญาณจิต ๒]รุ.๑๓๓


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |