| |
ประเภทของวัณณรูป   |  

ในคัมภีร์ต่าง ๆ ทางพระพุทธศาสนาได้แสดงสภาวธรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับรูปไว้มากมาย แต่เมื่อกล่าวถึงรูปที่เป็นอารมณ์ของจิตและเจตสิกแล้ว ย่อมมี ๓ ประเภท หรือ ๓ ความหมาย กล่าวคือ

๑. ปิยรูป หมายถึง สภาพธรรมอันเป็นที่น่ารักน่าชอบใจของตัณหา ซึ่งตามความหมายนี้ ได้แก่ โลกียจิต ๘๑ เจตสิก ๕๒ รูป ๒๘ ที่รวมกันอยู่ เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นหญิง เป็นชาย เป็นวัตถุสิ่งของต่าง ๆ เป็นต้น อันเป็นที่น่ารักน่าพอใจและเป็นอารมณ์ของตัณหา โดยไม่ได้แยกออกเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ชื่อว่า รูป เพราะมีสภาพเป็นกลุ่มเป็นกอง ซึ่งจิตและเจตสิกอันมีโมหะหรืออวิชชาครอบงำอยู่ ย่อมเข้าไปยึดถือว่า เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ชาย หญิง หรือวัตถุสิ่งของ สวยงาม หรือไม่สวยงาม เป็นต้นได้

๒. สาตรูป หมายถึง สภาวธรรมอันเป็นที่น่ายินดีติดใจของตัณหา ซึ่งมีสภาพเป็นไปเหมือนกันกับปิยรูปนั่นเอง ต่างกันเพียงความหมาย กล่าวคือ ในขณะที่เป็นที่น่ายินดีของตัณหานั้น ก็เรียกว่า สาตรูป เพราะฉะนั้น รูป ๒ ประเภทนี้จึงมักถูกยกมาคู่กันเสมอว่า ปิยรูป สาตรูป

๓. รูปารมณ์ หมายถึง วัณณรูป คือ สีต่าง ๆ ที่ปรากฏแก่จักขุทวารวิถี หรือเป็นอารมณ์แก่จักขุทวาริกจิต ๔๖ ดวง ได้แก่ กามาวจรจิต ๔๖ [เว้นโสตวิญญาณจิต ๒ ฆานวิญญาณจิต ๒ ชิวหาวิญญาณจิต ๒ กายวิญญาณจิต ๒] ถ้าเป็นปัจจุบันอารมณ์ ย่อมปรากฏทางจักขุทวารอย่างเดียวเท่านั้น แต่ถ้าเป็นอดีตหรืออนาคตรูปารมณ์แล้ว ย่อมปรากฏแก่มโนทวารวิถีจิต ทางมโนทวาร ซึ่งมีสภาพเป็นธัมมารมณ์ คือ อารมณ์ที่สามารถรับรู้ได้ทางมโนทวารเท่านั้น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |