| |
พระพุทธวจนะเกี่ยวกับหิริ   |  

หิริสูตร [๑]

[ว่าด้วยการป้องกันอกุศลธรรมด้วยหิริ]

บุรุษที่ป้องกันอกุศลธรรมด้วยหิริได้ มีอยู่น้อยคนในโลก ภิกษุใด บรรเทาความหลับ เปรียบเหมือนม้าดีพยายามหลบแซ่มิให้กระทบร่างกายของตน ภิกษุนั้นมีอยู่น้อยรูปในโลก ฯ ขีณาสวภิกษุพวกใด เป็นผู้ป้องกันอกุศลธรรมด้วยหิริ มีสติประพฤติอยู่ในกาลทั้งปวง ขีณาสวภิกษุพวกนั้นมีน้อย ขีณาสวภิกษุทั้งหลายบรรลุนิพพานเป็นส่วนสุดแห่งทุกข์แล้ว เมื่อสัตตนิกายประพฤติไม่เรียบร้อย ย่อมประพฤติเรียบร้อยได้

หิริสูตร [๒]

[ว่าด้วยเรื่องโทษของการขาดหิริโอตตัปปะ]

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อไม่มีหิริและโอตตัปปะ อินทรียสังวรของบุคคลผู้มีหิริและโอตตัปปะวิบัติ ย่อมมีนิสัยถูกกำจัด เมื่อไม่มีอินทรียสังวร ศีลของบุคคลผู้มีอินทรียสังวรวิบัติแล้ว ย่อมมีอุปนิสัยถูกกำจัด เมื่อไม่มีศีล สัมมาสมาธิของบุคคลผู้มีศีลวิบัติ ย่อมมีอุปนิสัยถูกกำจัด เมื่อไม่มีสัมมาสมาธิ ยถาภูตญาณทัสสนะของบุคคลผู้มีสัมมาสมาธิวิบัติ ย่อมมีอุปนิสัยถูกกำจัด เมื่อไม่มียถาภูตญาณทัสสนะ นิพพิทาและวิราคะ ของบุคคลผู้มียถาภูตญาณทัสสนะวิบัติ ย่อมมีอุปนิสัยถูกกำจัด เมื่อไม่มีนิพพิทาและวิราคะ วิมุตติญาณทัสสนะของบุคคลผู้มีนิพพิทาและวิราคะวิบัติ ย่อมมีอุปนิสัยถูกกำจัด ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนต้นไม้มีกิ่งและใบวิบัติ กระเทาะก็ดี เปลือกก็ดี กระพี้ก็ดี แก่นก็ดี ของต้นไม้นั้นย่อมไม่ถึงความบริบูรณ์ ฉะนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อมีหิริและโอตตัปปะ อินทรียสังวรของบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยหิริและโอตตัปปะ ย่อมสมบูรณ์ด้วยอุปนิสัย เมื่อมีอินทรียสังวร ศีลของบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยอินทรียสังวร ย่อมสมบูรณ์ด้วยอุปนิสัย เมื่อมีศีล สัมมาสมาธิของบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ย่อมสมบูรณ์ด้วยอุปนิสัย เมื่อมีสัมมาสมาธิ ยถาภูตญาณทัสสนะของบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยสัมมาสมาธิย่อมสมบูรณ์ด้วยอุปนิสัย เมื่อมียถาภูตญาณทัสสนะ นิพพิทาและวิราคะของบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยยถาภูตญาณทัสสนะ ย่อมสมบูรณ์ด้วยอุปนิสัย เมื่อมีนิพพิทาและวิราคะ วิมุตติญาณทัสสนะของบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยนิพพิทาและวิราคะ ย่อมสมบูรณ์ด้วยอุปนิสัย ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนต้นไม้ สมบูรณ์ด้วยกิ่งและใบ กะเทาะก็ดี เปลือกก็ดี กระพี้ก็ดี แก่นก็ดี ของต้นไม้นั้น ย่อมถึงความสมบูรณ์ ฉันนั้น ฯ

หิริสูตร [๓]

[ว่าด้วยผู้มีหิริไม่มีบาป]

บุคคลผู้ไม่มีหิริ เกลียดหิริ กล่าวอยู่ว่า เราเป็นเพื่อนของท่าน ไม่เอื้อเฟื้อการงานแห่งมิตรของตน พึงรู้ว่า นั่นไม่ใช่มิตรของเรา มิตรใดพูดวาจาน่ารัก แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ในมิตรทั้งหลาย บัณฑิตย่อมกำหนดรู้ผู้นั้นว่า ไม่ทำตามคำพูด มิตรใดหวังความแตกกัน ไม่ประมาท คอยหาความผิดเท่านั้น มิตรนั้นไม่ควรเสพ ส่วนมิตรที่วางใจได้ เหมือนบุตรที่เกิดแต่อก ซึ่งผู้อื่นกล่าวเหตุตั้งร้อยอย่างพันอย่าง ก็ให้แตกกันไม่ได้ มิตรนั้นแหละ ควรเสพ ความเพียรอันเป็นเหตุกระทำความปราโมทย์ นำความสรรเสริญมาให้ นำสุขมาให้ ผลานิสงส์อันนำธุระสมควรแก่บุรุษไปอยู่ ย่อมเจริญ

บุคคลดื่มรสแห่งความอิ่มเอิบในธรรม ดื่มรสอันเกิดแต่ความสงัดกิเลส และรสแห่งความสงบแล้ว ย่อมเป็นผู้ไม่มีความกระวนกระวาย ไม่มีบาป

เมื่อพระพุทธเจ้าของเราทั้งหลายยังไม่ทรงอุบัติขึ้น พราหมณ์มหาศาลคนหนึ่ง ในเมืองสาวัตถี เป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์สมบัติถึง ๘๐ โกฏิ พราหมณ์นั้นมีบุตรอยู่คนหนึ่ง ซึ่งเป็นที่รักเป็นที่พอใจ พราหมณ์นั้นเลี้ยงบุตรชายนั้นให้เจริญขึ้นด้วยอุปกรณ์ที่จะอำนวยความสุขนานัปประการ ดุจเลี้ยงดูเทวกุมาร ฉันนั้น ยังไม่ทันมอบทรัพย์สมบัติให้บุตรเลย ก็ได้ถึงแก่กรรมไปพร้อมกับนางพราหมณี

ต่อจากนั้น โดยกาลล่วงไปแห่งมารดาบิดาของมาณพผู้รักษาเรือนคลัง ก็เปิดห้องทรัพย์สมบัติ เมื่อจะมอบทรัพย์สมบัติให้ ก็พูดว่า ท่านครับทรัพย์นี้เป็นส่วนที่มีอยู่ของมารดาบิดาของท่าน ทรัพย์นี้เป็นส่วนที่มีอยู่ของปู่ย่า [ตายาย] ทรัพย์นี้ตกมาถึงชั่ว ๗ ตระกูลดังนี้ มาณพเห็นทรัพย์แล้ว ก็ดำริว่า ทรัพย์นี้เท่านั้นยังปรากฏอยู่ ส่วนชนทั้งหลายผู้สั่งสมทรัพย์นี้ไว้หาปรากฏอยู่ไม่ [เขาเหล่านั้น] ทั้งหมดได้ตกไปสู่อำนาจของพระยามัจจุราช และเมื่อเวลาจะไป ก็หาได้นำอะไรจากโลกนี้ไปไม่ ทุกคนจำต้องละโภคสมบัติทั้งหลายไปสู่ปรโลกกันอย่างนี้ เว้นจากสุจริตเสียแล้วใคร ๆ ก็ไม่อาจนำอะไรติดตัวไปได้ ไฉนหนอข้าพเจ้าจะพึงบริจาคทรัพย์นี้แล้ว ถือเอาทรัพย์คือสุจริตที่เราจะสามารถนำติดตัวไปได้ เขาเมื่อสละอยู่ซึ่งทรัพย์วันละแสนกหาปณะ ดำริอีกว่า ทรัพย์นี้ก็ยังเพียงพอ ประโยชน์อะไรด้วยการบริจาคอันมีประมาณน้อยอย่างนี้ ไฉนหนอ เราพึงให้มหาทาน พราหมณ์นั้นกราบทูลแด่พระราชาว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ข้าพระองค์มีทรัพย์ในเรือนอยู่จำนวนเท่านี้ ข้าพระองค์ปรารถนาจะให้มหาทานด้วยทรัพย์นั้น ดังข้าพระองค์ขอวโรกาส ข้าแต่มหาราชเจ้า ขอพระองค์จงรับสั่งให้ป่าวประกาศในพระนคร พระราชารับสั่งให้กระทำอย่างนั้น พราหมณ์นั้นได้บรรจุภาชนะทั้งหลายของเหล่าชนที่มาแล้วให้เต็ม แล้วได้บริจาคทรัพย์ทั้งสิ้นโดยเวลา ๗ วัน ครั้นบริจาคแล้วจึงดำริว่า การกระทำการบริจาคใหญ่อย่างนี้ แล้วอยู่ครองเรือน ไม่สมควร ไฉนหนอเราพึงบวช ต่อจากนั้นเขาจึงได้บอกเรื่องนี้แก่บริวารชน บริวารชนเหล่านั้น กล่าวว่า ข้าแต่นาย ท่านอย่าได้คิดว่า ทรัพย์หมดสิ้นไปแล้ว พวกข้าพเจ้าจะทำการสั่งสมทรัพย์ ด้วยอุบายต่าง ๆ โดยใช้เวลาเล็กน้อยเท่านั้น แล้วก็ขอร้องพราหมณ์นั้นโดยประการต่างๆ พราหมณ์นั้นไม่สนใจการขอร้องของพวกบริวารชนเหล่านั้นแล้ว ได้ออกบวชเป็นดาบส

ครั้งเมื่อพระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้วในโลก ทรงแสดงพระธรรมจักรอันประเสริฐ แล้วเสด็จไปยังกรุงสาวัตถีโดยลำดับ ประทับอยู่ในพระเชตวันอารามของอนาถปิณฑิกะในกรุงสาวัตถี

ก็โดยสมัยนั้นแล บุรุษชาวเมืองสาวัตถีคนหนึ่ง เสาะแสวงหาแก่นจันทน์เป็นต้นอยู่ที่ภูเขา ได้ไปถึงอาศรมของดาบสนั้น ไหว้ดาบสแล้วก็ยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง ดาบสนั้นเห็นเขาแล้ว ถามว่าท่านมาจากไหน เขาตอบว่าผมมาจากกรุงสาวัตถี ขอรับ ดาบสถามว่า ในกรุงสาวัตถีนั้นเหตุการณ์เป็นอย่างไร เขาตอบว่า ท่านขอรับ พวกคนในกรุงสาวัตถีนั้นไม่ประมาท พากันทำบุญทั้งหลายมีการให้ทาน เป็นต้น ดาบสถามว่า พวกเขาได้ฟังโอวาทของใคร เขาตอบว่า ของพระพุทธเจ้า

ดาบสรู้สึกงงงวยด้วยการฟังเสียงว่า พุทธะ จึงถามว่า ดูกรบุรุษผู้เจริญ ท่านพูดว่า พระพุทธเจ้าดังนี้หรือ ดาบสได้ถามถึง ๓ ครั้ง โดยนัยที่ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้แล้วในอามคันธสูตรนั้นแล จึงดีใจว่า แม้เสียงนั้นแลก็หาได้ยาก ดังนี้ เป็นผู้ปรารถนาจะไปสู่สำนักของพระผู้ผู้พระภาคเจ้า จึงดำริว่า การไปสู่สำนักของพระพุทธเจ้าอย่างเปล่า ๆ หาควรไม่ เราพึงนำอะไรหนอแลไป ดาบสนั้นจึงดำริอีกว่า ธรรมดาว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายหาทรงหนักในอามิสไม่ เอาเถิด เราจะนำธรรมบรรณาการไป ดังนี้แล้วจึงได้แต่งปัญหา ๔ ข้อคือ

๑. มิตรเช่นไรไม่ควรคบ ๒. มิตรเช่นไรควรคบ

๓. ความพยายามเช่นไรควรประกอบ ๔. รสอะไรเลิศกว่ารสทั้งหลาย

ดาบสนั้นได้นำปัญหามุ่งหน้าไปยังมัชฌิมประเทศ เดินไปถึงเมืองสาวัตถีโดยลำดับแล้ว เข้าไปยังพระเชตวัน พระพุทธเจ้าประทับนั่งบนอาสนะ เพื่อแสดงพระธรรมเทศนา ในขณะนั้นอยู่ทีเดียว เขาเห็นพระพุทธเจ้าแล้วไม่ยอมไหว้ ได้ยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง พระพุทธเจ้าตรัสคำที่บันเทิงใจ โดยนัยว่า ท่านฤาษี ท่านสบายดีหรือดังนี้เป็นต้น ดาบสนั้นก็แสดงความชื่นชม


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |