ไปยังหน้า : |
บุคคลผู้เป็นติเหตุกบุคคลนั้น ย่อมเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติพิเศษเหนือกว่าอเหตุกบุคคลและทวิเหตุกบุคคล ทั้งในด้านประสิทธิภาพการรับรู้อารมณ์และโอกาสในการได้บรรลุฌาน อภิญญา มรรค ผล เนื่องจากติเหตุกบุคคลนั้น เป็นผู้ปฏิสนธิมาพร้อมด้วยไตรเหตุ คือ อโลภเหตุ อโทสเหตุ และอโมหเหตุ เป็นผู้มีปัญญาเกิดมาพร้อมกับปฏิสนธิจิต เรียกว่า สชาติกปัญญา ซึ่งเป็นผู้มีพื้นฐานทางด้านจิตใจสูง สามารถที่จะรองรับคุณวิเศษต่าง ๆ ได้ ส่วนบุคคลผู้เป็นอเหตุกบุคคล หรือ ทวิเหตุกบุคคลนั้น ถึงแม้จะมีการขวนขวายพยายามหรือมีความสามารถพิเศษในด้านต่าง ๆ มากมายขนาดไหนก็ตาม แต่ประสิทธิภาพในการรู้อารมณ์ย่อมมีน้อยกว่าติเหตุกบุคคล และโดยเฉพาะอย่างยิ่งโอกาสในด้านคุณวิเศษ ได้แก่ ฌาน อภิญญา มรรค ผลนั้น ไม่มีโอกาสเกิดได้เลยในภพชาตินั้น ฉะนั้น เมื่อสรุปแล้ว ความเป็นติเหตุกบุคคล จึงมีคุณสมบัติพิเศษ ๓ ประการ ได้แก่
๑. ถ้ามีบารมีในทางฌาน อภิญญา ย่อมสามารถทำฌานอภิญญาให้เกิดขึ้นได้
๒. ถ้ามีบารมีในทางมรรคผล ย่อมสามารถทำมรรคผลให้เกิดขึ้นได้
๓. สามารถคิดอ่านเหตุการณ์หรือตอบสนองต่ออารมณ์ต่าง ๆ ที่ตนเองมีความคุ้นเคยมานั้นได้อย่างละเอียดลึกซึ้งกว่าพวกอเหตุกบุคคลและทวิเหตุกบุคคล