| |
อธิบายความของนานากทาจิเจตสิก   |  

อิสสาเจตสิก ประกอบกับโทสมูลจิต ๒ ดวง แต่ประกอบได้เป็นบางครั้งบางคราว ในขณะที่โทสมูลจิต ดวงใดดวงหนึ่งเกิดขึ้น โดยมีทรัพย์สมบัติ หรือ คุณความดีของบุคคลอื่นเป็นอารมณ์ คือ เกิดความอิจฉาริษยา เมื่อเห็นบุคคลอื่นได้ดี มีความสุขแล้ว ทนอยู่ไม่ได้ เกิดความไม่พอใจ ต้องการให้บุคคลนั้นวิบัติฉิบหาย หรือคลาดแคล้วจากสมบัติหรือคุณความดีนั้นโดยเร็วพลัน ด้วยคิดว่า บุคคลนั้นไม่ควรจะได้ ไม่ควรจะมี ไม่ควรจะเป็นเช่นนั้น แต่ถ้าไม่มีความรู้สึกเกี่ยวกับความอิจฉาริษยา อันปรารภทรัพย์สมบัติหรือคุณงามดีของบุคคลอื่นเป็นอารมณ์แล้ว อิสสาเจตสิกไม่เข้าประกอบร่วมด้วยกับโทสมูลจิตนั้น

มัจฉริยเจตสิก ประกอบกับโทสมูลจิต ๒ ดวง แต่ประกอบได้เป็นบางครั้งบางคราว ในขณะที่โทสมูลจิต ดวงใดดวงหนึ่งเกิดขึ้น โดยมีทรัพย์สมบัติ หรือ คุณความดีของตนเป็นอารมณ์ คือ เกิดความหวงแหนในทรัพย์สมบัติหรือคุณความดีของตน ไม่ต้องการเห็นบุคคลอื่น ได้เหมือนตน ดีเหมือนตน เป็นเหมือนตน หรือดีกว่าตนเอง ในด้านทรัพย์สมบัติ หรือคุณความดี ในอารมณ์ ๕ ประการ คือ

๑. อาวาสมัจฉริยะ ตระหนี่ที่อยู่

๒. กุลมัจฉริยะ ตระหนี่ตระกูล

๓. ลาภมัจฉริยะ ตระหนี่ลาภ

๔. วัณณมัจฉริยะ ตระหนี่วรรณะ

๕. ธัมมมัจฉริยะ ตระหนี่ธรรม [ความรู้]

เมื่อเกิดความตระหนี่หวงแหนในทรัพย์สมบัติหรือคุณความดีของตนอย่างใดอย่างหนึ่ง ในขอบข่ายของมัจฉริยะ ๕ ประการนี้แล้ว มัจฉริยเจตสิกย่อมเข้าประกอบร่วมด้วย แต่ถ้าไม่มีความรู้สึกเกี่ยวกับความตระหนี่หวงแหน อันปรารภทรัพย์สมบัติหรือคุณงามความดีของตนเป็นอารมณ์แล้ว มัจฉริยเจตสิกย่อมไม่เข้าประกอบร่วมกับโทสมูลจิต ๒ ดวงนั้น

กุกกุจจเจตสิก ประกอบกับโทสมูลจิต ๒ ดวง แต่ประกอบได้เป็นบางครั้งบางคราว ในขณะที่โทสมูลจิต ดวงใดดวงหนึ่งเกิดขึ้น โดยมีความไม่ดีที่ได้ทำไปแล้ว หรือ ความดีที่ยังไม่ได้ทำเป็นอารมณ์ คือ นึกถึงความไม่ดี หรือ ความเสียหายต่าง ๆ ที่ตนเองหรือบริวารชนของตนเองได้ทำไปแล้ว หรือ นึกถึงคุณงามความดีที่ตนเองหรือบริวารชนของตนเองยังไม่ได้ทำ แล้วเกิดความเดือดเนื้อร้อนใจ เมื่อคิดถึงความหลังที่ผ่านมา อันมีความสำคัญผิดคิดว่า ควรในของที่ไม่ควร และคิดว่า ไม่ควรในของที่ควร เป็นสมุฏฐานให้เกิดขึ้น เมื่อนั้น กุกกุจจเจตสิกย่อมเข้าประกอบกับโทสมูลจิตดวงนั้น แต่ถ้าไม่มีความรู้สึกเกี่ยวกับความเดือดร้อนใจในความไม่ดีที่ได้ทำไปแล้ว หรือคุณความดีที่ยังไม่ได้ทำเป็นอารมณ์แล้ว กุกกุจจเจตสิกย่อมไม่เข้าประกอบร่วมกับโทสมูลจิตนั้น

เพราะฉะนั้น อิสสา มัจฉริยะ กุกกุจจะเจตสิกทั้ง ๓ ดวงนี้ มีอารมณ์ที่เป็นไปโดยเฉพาะ ๆ ของตน ไม่เหมือนกัน ด้วยเหตุนี้ เจตสิก ๓ ดวงนี้ จึงชื่อว่า เป็นนานา กทาจิของกันและกัน หมายความว่า เจตสิก ๓ ดวงนี้เกิดเป็นบางครั้งบางคราวกับโทสมูลจิต และเกิดคนละครั้ง ไม่พร้อมกัน คือ เมื่อมีอารมณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับอิสสาเจตสิก อิสสาเจตสิกย่อมเข้าประกอบร่วมกับโทสมูลจิต แต่มัจฉริยะและกุกกุจจะไม่เข้าประกอบ หรือถ้ามีอารมณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับมัจฉริยเจตสิก มัจฉริยเจตสิก ย่อมเข้าประกอบร่วมด้วยกับโทสมูลจิตดวงนั้น แต่อิสสาและกุกกุจจะไม่เข้าประกอบ หรือถ้ามีอารมณ์ที่เกี่ยวเนื่องด้วยกุกกุจจเจตสิก กุกกุจจเจตสิกย่อมเข้าประกอบร่วมกับโทสมูลจิตดวงนั้น แต่อิสสาและมัจฉริยะไม่เข้าประกอบ

วิรตีเจตสิก ๓ ดวง ประกอบได้กับจิต ๑๖ หรือ ๔๘ ดวง คือ มหากุศลจิต ๘ และ โลกุตตรจิต ๘ หรือ ๔๐ ถ้าประกอบกับมหากุศลจิต ๘ ดวงใดดวงหนึ่ง ซึ่งรับอารมณ์ที่เป็นกามปรมัตถ์ คือ กุศลกรรมบถ ๑๐ หรือสุจริต ๑๐ เมื่อนั้น วิรตีเจตสิกเหล่านี้ย่อมทำหน้าที่ตามปกติธรรมดา ในการงดเว้นจาก วิรมิตัพพวัตถุ คือ วัตถุที่ควรงดเว้น ตามหน้าที่ของตน โดยเป็นเพียงการประหาณวีติกกมกิเลส คือ กิเลสอย่างหยาบ ที่ล่วงออกมาทางกาย และทางวาจา เป็นกายทุจริต ๓ และวจีทุจริต ๔ เพียงชั่วครั้งชั่วคราว เพราะฉะนั้น วิรตีเจตสิก ๓ ดวง ที่ประกอบกับมหากุศลจิตนี้ จึงมีสภาพหน้าที่และอารมณ์ในการงดเว้นแตกต่างกัน คือ

สัมมาวาจาเจตสิก มีหน้าที่ในการงดเว้นจากวจีทุจริต ๔ ที่ไม่เกี่ยวกับอาชีพ คือ เมื่อใดที่มหากุศลจิตดวงใดดวงหนึ่ง ที่เกี่ยวกับการงดเว้นจากวจีทุจริตที่ไม่เกี่ยวกับการทำมาหาเลี้ยงชีพเกิดขึ้น เช่น ในขณะที่จะพูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ อย่างใดอย่างหนึ่ง ด้วยอำนาจความโกรธ ความไม่พอใจ หรือ พูดเล่นเพื่อความสนุกสนานรื่นเริง เป็นต้น แต่เกิดสติสัมปชัญญะระลึกรู้สึกตนได้ว่า ปฏิกิริยาเช่นนั้น เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม ไม่คู่ควรแก่ตนเอง จึงเกิดการงดเว้นเสียได้ ไม่พูดคำเหล่านั้นออกมา ในขณะนั้น สัมมาวาจาเจตสิก ย่อมเข้าประกอบร่วมด้วยกับมหากุศลจิตดวงนั้น แต่ถ้าอารมณ์นั้น ไม่เกี่ยวกับการงดเว้นจากวจีทุจริต ๔ อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น เวลาให้ทาน เป็นต้น สัมมาวาจาเจตสิกย่อมไม่เข้าประกอบร่วมด้วย

สัมมากัมมันตเจตสิก มีหน้าที่ในการงดเว้นจากกายทุจริต ๓ ที่ไม่เกี่ยวกับอาชีพ คือ เมื่อใดที่มหากุศลจิตดวงใดดวงหนึ่ง ที่เกี่ยวกับการงดเว้นจากกายทุจริตที่ไม่เกี่ยวกับการทำมาหาเลี้ยงชีพเกิดขึ้น เช่น ในขณะที่จะฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ หรือประพฤติผิดในกาม อย่างใดอย่างหนึ่ง ด้วยอำนาจความโกรธ ความไม่พอใจ หรือ ทำเล่นเพื่อความสนุกสนานรื่นเริง เป็นต้น แต่เกิดสติสัมปชัญญะระลึกรู้สึกตนได้ว่า การกระทำเช่นนั้น เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม ไม่คู่ควรแก่ตนเอง จึงเกิดการงดเว้นเสีย ไม่ทำสิ่งเหล่านั้นลงไป ในขณะนั้น สัมมาวาจาเจตสิกย่อมเข้าประกอบกับมหากุศลจิตดวงนั้น แต่ถ้าอารมณ์นั้น ไม่เกี่ยวกับการงดเว้นจากกายทุจริต เช่น เวลาฟังธรรม เป็นต้น สัมมากัมมันตเจตสิก ย่อมไม่เข้าประกอบร่วมด้วย

สัมมาอาชีวเจตสิก มีหน้าที่ในการงดเว้นจากกายทุจริต ๓ และวจีทุจริต ๔ ที่เกี่ยวกับอาชีพ คือ เมื่อใดที่มหากุศลจิต ดวงใดดวงหนึ่ง ที่เกี่ยวกับการงดเว้นจากกายทุจริต ๓ หรือวจีทุจริต ๔ อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เกี่ยวกับการทำมาหาเลี้ยงชีพ หรือเป็นการประกอบอาชีพเกิดขึ้น เมื่อนั้น สัมมาอาชีวเจตสิกย่อมเข้าประกอบร่วมด้วย แต่ถ้าอารมณ์นั้น ไม่เกี่ยวกับการงดเว้นจากกายทุจริต และวจีทุริต ที่เกี่ยวกับอาชีพ เช่น เวลาเจริญภาวนา เป็นต้น สัมมาอาชีวเจตสิก ย่อมไม่เข้าประกอบร่วมด้วย

เพราะฉะนั้น การเข้าประกอบของวีรตีเจตสิก ๓ ในมหากุศลจิต ๘ ดวงนั้น เป็นการประกอบตามหน้าที่ธรรมดาของตน ซึ่งมีสภาพอารมณ์ในการงดเว้นที่แตกต่างกัน จึงทำให้ไม่สามารถเข้าประกอบร่วมกันในขณะจิตเดียวกันได้ ต้องเข้าประกอบได้ทีละดวง ตามแต่อารมณ์ของเจตสิกนั้น ๆ จึงได้ชื่อว่า เป็นนานากทาจิของกันและกัน หมายความว่า เจตสิก ๓ ดวงนี้เกิดเป็นบางครั้งบางคราวกับมหากุศลจิต และเกิดคนละครั้ง ไม่พร้อมกัน คือ เมื่อมีอารมณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับสัมมาวาจาเจตสิก สัมมาวาจาเจตสิกก็เข้าประกอบร่วมด้วยกับมหากุศลจิตนั้น แต่สัมมากัมมันตะและสัมมาอาชีวะไม่เข้าประกอบ หรือถ้ามีอารมณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับสัมมากัมมันตเจตสิก สัมมากัมมันตเจตสิก ก็เข้าประกอบร่วมด้วยกับมหากุศลจิตดวงนั้น แต่สัมมาวาจาและสัมมาอาชีวะไม่เข้าประกอบ หรือถ้ามีอารมณ์ที่เกี่ยวเนื่องด้วยสัมมาอาชีวเจตสิก สัมมาอาชีวเจตสิกย่อมเข้าประกอบร่วมด้วยกับมหากุศลจิตดวงนั้น แต่สัมมาวาจาและสัมมาอาชีวะไม่เข้าประกอบ

ส่วนวิรตีเจตสิก ที่ประกอบในโลกุตตรจิต ๘ หรือ ๔๐ ดวงนั้น เป็นการเข้าประกอบในฐานะเป็นองค์ของมรรค เรียกว่า มัคคสมังคี เพื่อประสานพลังในการทำหน้าที่พิเศษร่วมกัน ได้แก่ การประหาณอนุสัยกิเลส ที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดาน ให้ขาดลงเป็นสมุจเฉทปหาน ซึ่งต้องอาศัยกำลังที่เข้มแข็ง หนักแน่น และพร้อมเพรียงกัน จึงจะสามารถประหาณอนุสัยกิเลสให้ขาดลงได้ และอารมณ์ที่เข้าไปรับอยู่นั้น ก็ไม่มีความต่างกัน คือ มี พระนิพพาน เป็นอารมณ์เหมือนกัน อนึ่ง สภาพของพระนิพานนั้น เป็นสภาพอันประณีต ละเอียดอ่อน และประเสริฐสูงสุด ไม่มีการทำให้จิตเจตสิกที่รับอยู่นั้น มีความเลื่อมล้ำกัน แต่ประการใด เพราะฉะนั้น จิตเจตสิกที่เข้าไปรับพระนิพพานเป็นอารมณ์อย่างแนบแน่นนั้น จึงมีสภาพที่เป็นไปสม่ำเสมอกัน เรียกว่า ธรรมสมังคี ด้วยเหตุนี้ วิรตีเจตสิก ๓ ที่เข้าประกอบในโลกุตตรจิต ๘ หรือ ๔๐ ดวงนั้น จึงต้องเข้าประกอบอย่างพร้อมเพรียงกัน และประกอบอย่างแน่นอนเสมอ ขาดเสียไม่ได้เลย จึงเรียกอาการที่วิรตีเจตสิกประกอบในโลกุตตรจิตว่า นิยตเอกโตโยคีเจตสิก แปลว่า เจตสิกที่เข้าประกอบกับจิตโดยแน่นอนและพร้อมเพรียงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |