| |
กุศลจิต   |  

กุศลจิต มีคำจำกัดความหรือวจนัตถะว่า “กุจฉิเต ปาปะธัมเม สะละยะติ กัมเปติ วิทธังเสตีติ = กุสะลัง” แปลความว่า ธรรมชาติใด ย่อมทำบาปธรรมให้หวั่นไหว หรือย่อมทำลายซึ่งบาปธรรม อันบัณฑิตทั้งหลายพึงรังเกียจ ฉะนั้น ธรรมชาตินั้น จึงชื่อว่า กุศล สรุปแล้ว กุศลมีอรรถอยู่ ๕ ประการ คือ

๑. อโรค๎ยัตถะ มีอรรถว่า เป็นสภาพไม่มีโรคคือกิเลสเสียดแทง หมายความว่า สภาพของกุศลนั้น ไม่มีราคกิเลสเป็นต้นที่จะเสียดแทงกายและใจให้เร่าร้อนแต่อย่างใด กิเลส คือ ราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้น เหล่านี้ ชื่อว่า โรค เพราะอรรถว่า ย่อมเสียดแทงประทุษร้ายจิตใจและร่างกายของสัตว์ทั้งหลายให้ได้รับความเดือดร้อน ความกระวนกระวาย หรือ ความทุกข์ยากลำบากต่าง ๆ จึงเปรียบเสมือนโรค ที่เสียดแทงให้ได้รับความทุกข์ทรมานทางกาย นั่นเอง แต่เมื่อบุคคลมีกุศลจิตเกิดขึ้นแล้ว กิเลสทั้งหลายก็ต้องสงบระงับไปหรือดับหายไป ตามสมควรแก่กำลังของกุศลจิตนั้น ๆ

๒. สุนทรัตถะ มีอรรถว่า เป็นสิ่งที่ดีงาม คือ เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งหลาย หมายความว่า เมื่อสัตว์ทั้งหลาย มีจิตใจที่เป็นกุศลแล้ว ก็จะทำให้เกิดความผ่องใส มีความสุขสบาย มีแสงสว่างแห่งชีวิต ย่อมสามารถดำเนินไปสู่หนทางที่ดีงามได้ และรักษาตนเองให้รอดพ้นจากโทษภัยทั้งปวงได้

๓. เฉกัตถะ มีอรรถว่า เป็นสิ่งที่ฉลาด เรียบร้อย หมายความว่า เมื่อบุคคลมีจิตใจเป็นกุศลแล้ว ย่อมจะมีกิริยาวาจาสุภาพอ่อนโยน มีความฉลาด รู้ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร อะไรถูก อะไรผิด เป็นต้น ย่อมสามารถเลือกทำแต่สิ่งที่มีประโยชน์ เว้นจากสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์และเป็นโทษเสียได้

๔. อนวัชชัตถะ มีอรรถว่า ไม่มีโทษอันบัณฑิตจะพึงติเตียนได้ หมายความว่า บัณฑิตทั้งหลาย เป็นผู้นิยมชมชอบในการกระทำความดี เมื่อบุคคลทำความดีที่เป็นกุศลแล้ว ย่อมเป็นที่ยกย่องสรรเสริญของเหล่าบัณฑิต บัณฑิตทั้งหลายย่อมคบหาสมาคมกับบุคคลนั้น ไม่มีการตำหนิติเตียนบุคคลนั้นแต่อย่างใด ซึ่งต่างจากคนพาลทั้งหลาย ที่นิยมชมชอบในการกระทำความชั่ว เมื่อเห็นบุคคลอื่นทำดีก็ตาม [หรือบางครั้งทำความไม่ดี แต่ไม่ถูกใจตนก็ตาม] ก็เที่ยวแสวงหาช่องทางความผิดพลาด แล้วกระหน่ำซ้ำเติม และมักตำหนิติเตียนบุคคลอื่นโดยไร้เหตุผลอยู่เสมอ

๕. สุขวิปากัตถะ มีอรรถว่า ให้ผลเป็นความสุขสมปรารถนา หมายความว่า ผลของกุศลนั้นย่อมให้สมบัติอันเป็นอิฏฐผล อันน่าใคร่ น่าปรารถนา น่าพอใจเสมอ ได้แก่ ให้รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และความรู้สึกต่ออารมณ์ทางใจที่ดี นำให้เกิดในสุคติภูมิ ได้เสวยมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ เป็นเสบียงเครื่องดำเนินไปในทางกันดารคือสังสารวัฏฏ์และอำนวยส่งให้ได้นิพพานสมบัติ เป็นจุดหมายสูงสุด ต่อไป


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |