| |
วิธีการประหาณกามฉันทะ ๖ ประการ   |  

กามฉันทะ เป็นกิเลสนิวรณ์อย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นเครื่องขวางกั้นจิตมิให้พัฒนาไปสู่ความดีงาม หรือทำให้เสื่อมถอยจากความดีงามที่มีอยู่แล้ว การที่จะประหาณกามฉันทะได้ บุคคลต้องปฏิบัติในคุณธรรม ๖ ประการ คือ

๑. อะสุภะนิมิตตัสสะ อุคคะโห เรียนรู้ในอสุภนิมิต หมายความว่า บุคคลผู้มากไปด้วยกามฉันทะ คือ ความกำหนัดยินดีในสิ่งที่สวยงาม หรือในเรื่องทางเพศ วิธีการที่จะบรรเทาให้เบาบางอาการเหล่านั้นได้ ต้องหมั่นพิจารณาสภาพของสิ่งที่ไม่สวยงามอันเป็นสิ่งตรงกันข้าม ได้แก่ อสุภกรรมฐาน ๑๐ ประการ คือ ซากศพ ๑๐ ชนิด มีศพที่ขึ้นอืด ศพที่พองอืดจนมีสีเขียวคล้ำ ซากศพที่ถูกสัตว์กัดกิน ซากศพที่มีหนอนชอนไช เป็นต้น ตลอดถึงพิจารณาอัตภาพร่างกายของตนเอง ซึ่งเต็มไปด้วยสภาพที่เป็นอสุภะโดยประการต่าง ๆ ด้วยการศึกษาให้รู้วิธีการพิจารณาตามนัยที่ท่านได้แสดงไว้แล้ว ให้เกิดความรู้ความเข้าใจในรายละเอียดของสภาพอสุภะต่าง ๆ ตลอดถึงวิธีการกำหนดพิจารณาสภาพของอสุภะเหล่านั้นโดยถูกต้อง ไม่ให้เกิดผลกระทบข้างเคียงในทางที่ไม่ดีแก่จิตใจต่อไป

๒. อะสุภะภาวะนานุโยโค หมั่นเจริญในอสุภะเนือง ๆ หมายความว่า การที่บุคคลหมั่นพิจารณาสภาพของอสุภะทั้งหลายเหล่านี้อยู่เสมอ ๆ อสุภนิมิตย่อมปรากฏแก่ปัญญา เมื่อเป็นเช่นนี้ บุคคลนั้นย่อมสามารถบรรเทาสภาพของกามฉันทะให้อ่อนลงและขจัดให้หมดไปได้ในที่สุด

๓. อินท๎ริเยสุ คุตตะท๎วาระตา สำรวมทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย หมายความว่า กิเลสทั้งหลายมีโลภะเป็นต้น ย่อมเข้าไปประทุษร้ายจิตใจของบุคคลได้เสมอ ถ้าบุคคลนั้นตกอยู่ในอำนาจความประมาท ความหลงลืมสติ เนื่องจากไม่ได้สำรวมอินทรีย์ ๖ คือ การไม่ระวังทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจให้ดี ในเวลาที่กระทบกับอารมณ์ทางทวารนั้น ๆ คือ ย่อมเกิดความยินดี ที่เรียกว่า กามฉันทะ เพราะได้กระทบกับอิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่น่ายินดีน่าปรารถนาน่าชอบใจ เมื่อกระทบอนิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์อันไม่น่าปรารถนา ไม่น่าชอบใจแล้ว ย่อมเกิดความยินร้าย ที่เรียกว่า ปฏิฆะ เพราะฉะนั้น เพื่อป้องกันความยินดีและความยินร้ายมิให้ครอบงำจิตได้ จึงต้องสำรวมอินทรีย์ทั้ง ๖ ระวังใจกำหนดรู้เท่าทันอารมณ์ที่มากระทบทางทวารนั้น ๆ อยู่ตลอดเวลา

๔. โภชะเน มัตตัญญุตา รู้จักประมาณในโภชนะ หมายความว่า การบริโภคอาหารตามใจตนเองนั้น ย่อมเป็นปัจจัยให้กามฉันทะ คือ ความกำหนัดยินดีหรือความติดใจหลงใหลในรสของอาหารปรากฏเกิดขึ้น และทำให้บุคคลนั้นสั่งสมตัณหาในรสของอาหารให้พอกพูนยิ่งขึ้น อนึ่ง การบริโภคเกินประมาณความต้องการของร่างกาย ย่อมทำให้ร่างกายสั่งสมฮอร์โมนทางเพศไว้มาก เมื่อเป็นเช่นนี้ บุคคลนั้นย่อมเกิดความกำหนัดในอารมณ์ต่าง ๆ ยิ่งขึ้น จนกลายเป็นความหมักหมมพอกพูนให้หนาแน่น หนทางที่จะแก้ไขพฤติกรรมเหล่านั้นได้ ต้องรู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร คือ บริโภคอาหารที่เป็นสัปปายะแก่สุขภาพร่างกาย และบริโภคพอประมาณ ไม่มากเกินไปและไม่น้อยเกินไป ไม่ทำให้ต้องอึดอัดหรืออิดโรยเพราะอาหารเป็นเหตุ ดังที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้พิจารณาก่อนบริโภคอาหารว่า เราย่อมพิจารณาโดยแยบคายแล้วจึงบริโภคอาหาร ไม่ใช่เป็นไปเพื่อความเพลิดเพลินสนุกสนาน ไม่ใช่เป็นไปเพื่อความเมามันเกิดกำลังพลังทางกาย ไม่ใช่เป็นไปเพื่อประดับ ไม่ใช่เป็นไปเพื่อตกแต่ง แต่ให้เป็นไปเพียงเพื่อความตั้งอยู่ได้แห่งกายนี้ เพื่อความเป็นไปได้แห่งอัตภาพ เพื่อความไม่ลำบากทางกาย เพื่ออนุเคราะห์แก่การประพฤติพรหมจรรย์ ด้วยการทำอย่างนี้เราย่อมระงับเสียได้ซึ่งทุกขเวทนาเก่าคือความหิว และไม่ยังทุกขเวทนาใหม่ให้เกิดขึ้น เพื่อความไม่มีโทษและเพื่อการอยู่ผาสุก

๕. กัล๎ยาณะมิตตะตา เลือกคบแต่มิตรที่ดีงาม หมายความว่า การคบบุคคลต่าง ๆ ย่อมเป็นปัจจัยให้เกิดความดีและความชั่วขึ้นมาได้ เพราะอาศัยการคบหาสมาคมนั้นเป็นเหตุ คือ ถ้าคบบุคคลที่หมกมุ่นอยู่ในกาม หมกมุ่นอยู่ในความสนุกสนานรื่นเริงในกาม แสวงหาแต่อารมณ์ที่เกี่ยวเนื่องด้วยกามมาส้องเสพอยู่เสมอ โดยไม่คิดจะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้แก่ชีวิตของตนเอง หรือไม่คิดจะทำให้ตนเองหลุดพ้นไปจากภาวะแห่งกามฉันทะหรือกามตัณหาเลย เมื่อคบบุคคลเช่นนี้แล้ว ย่อมได้พบได้เห็นแต่พฤติกรรมที่ไม่ดี หรือได้ส้องเสพแต่กามอารมณ์อันเป็นการสั่งสมความหมกมุ่นในกามให้พอกพูนยิ่งขึ้น จิตใจย่อมถูกกามฉันทะครอบงำอยู่เสมอ แต่ถ้าคบกับบุคคลดี มีความเป็นกัลยาณชน ย่อมได้พบเห็นสิ่งที่ดี ได้ฟังสิ่งที่ดี ได้เรียนรู้สิ่งที่ดี และได้ทำในสิ่งที่ดี เมื่อเป็นเช่นนี้ จิตใจย่อมเสพคุ้นสิ่งที่ดีอยู่เสมอ และน้อมเข้าไปหาสิ่งที่ดีได้ง่าย จิตใจของบุคคลนั้นย่อมเหินห่างจากกามอารมณ์ และไม่ถูกกามฉันทะเข้าครอบงำ

๖. เมตตากะถา การกล่าวหรือการฟังแต่ถ้อยคำที่ประกอบด้วยเมตตา หมายความว่า เมื่อบุคคลมีเมตตาคือมีความรักใคร่ปรารถนาดีต่อบุคคลอื่นด้วยจิตที่บริสุทธิ์ จิตใจย่อมละคลายจากอำนาจของตัณหาเปมะ คือ ความรักใคร่ด้วยอำนาจตัณหา เพราะปกติบุคคลผู้มากด้วยกามนั้น เมื่อได้พบได้เห็นบุคคลที่มีรูปร่างหน้าตางดงาม มักเกิดความรักใคร่ด้วยอำนาจกามตัณหาขึ้นมาทันที และเกิดความหลงใหลในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสของบุคคลนั้น ปรารถนาที่จะได้เสพสัมผัสบุคคลนั้น ถ้าถูกกามฉันทะครอบงำอย่างหนาแน่น ย่อมคิดหาทางกระทำสิ่งที่เป็นอกุศลกรรมบถหรือทุจริตขึ้นมา แต่ถ้าอำนาจของกามฉันทะยังเบาบางอยู่ ก็เพียงแต่คิดอยู่ในจิตเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ แนวทางในการแก้ไขสภาพของกามฉันทะให้บรรเทาเบาบางลงไป ก็คือ การเจริญเมตตาภาวนา ได้แก่ การหันเหความใคร่ให้กลายเป็นความรักความปรารถนาดีแบบมิตรสหาย หรือความรักแบบพ่อแม่ แบบญาติพี่น้อง ซึ่งเป็นความรักที่ไม่หวังผลตอบแทน หรือไม่หวังจะเชยชมในทางกามอารมณ์ เมื่อบุคคลปลูกความรักด้วยเมตตาให้เกิดขึ้นอย่างนี้แล้ว อำนาจแห่งกามฉันทะย่อมเบาบางและแปรสภาพเป็นเมตตาจิตได้


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |