| |
สรุปความเรื่องอาหารรูป   |  

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและปรมัตถทีปนีรุ.๓๓๕ ท่านได้แสดงสรุปความเรื่องอาหารรูปไว้ดังต่อไปนี้

อาหารรูปมีลักษณะ คือ อุปถัมภ์ร่างกายพร้อมทั้งอินทรีย์ [มีจักขุนทรีย์เป็นต้น ซึ่งเป็นรูปอินทรีย์ด้วยกัน] หรือมีลักษณะคือก่อให้เกิด [อาหารชรูปในร่างกายของสัตว์]

โอชา หมายถึง สภาพที่ก่อให้เกิดอาหารชรูป

อีกนัยหนึ่ง โอชา หมายถึง สภาพที่รักษา และเป็นสภาพที่ก่อให้เกิด ศัพท์ว่า อว เป็นไปในความหมายว่า รักษา, การรักษา [ศัพท์เดิมเป็น อุ แปลง อุ เป็น โอ แปลง โอ เป็น อว] ในที่นี้ ก็คือ การอุปถัมภ์ นั่นเอง

ถามว่า รักษาอะไร ?

ตอบว่า รักษาวัตถุรูปซึ่งเป็นที่อาศัยของตน

ถามว่า ก่อให้เกิดอะไร ?

ตอบว่า ก่อให้เกิดอาหารชรูป

อาจารย์ทั้งหลายกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า “โอชา หมายถึง สภาพที่ก่อให้เกิดรูปต่อจากการเกิดขึ้นแล้ว”

เพราะฉะนั้น เมื่อสรุปความแล้ว อาหารรูปหรือโอชารูปนี้ ย่อมมีความหมาย ๓ ประการ คือ

๑. สภาพที่ก่อให้เกิดอาหารชรูป ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “อุทยติ ปสวตีติ โอชา” แปลความว่า รูปใดที่ก่อให้เกิดขึ้น [ซึ่งอาหารชรูป] เพราะเหตุนั้น รูปนั้น จึงชื่อว่า โอชา

๒. สภาพที่รักษาวัตถุรูปและก่อให้เกิดอาหารชรูป ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “อวติ ชเนติ จาติ โอชา” แปลความว่า รูปใดย่อมรักษาและทำให้เกิดขึ้น [ซึ่งอาหารชรูป] เพราะเหตุนั้น รูปนั้น จึงชื่อว่า โอชา

๓. สภาพที่ก่อให้เกิดรูปต่อจากการเกิดขึ้น ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “อุทยานนฺตรํ รูปํ ชเนตีติ โอชา” แปลความว่า รูปใดย่อมยังรูปให้เกิดขึ้นในลำดับแห่งการเกิด เพราะเหตุนั้น รูปนั้น จึงชื่อว่า โอชา

พระอาจารย์สัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะและอาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวีรุ.๓๓๖ ได้แสดงสรุปความเรื่องอาหารรูปไว้ดังต่อไปนี้

โอชารูปนี้ เมื่อเข้าไปสู่ร่างกายของสัตว์ทั้งหลายแล้ว ย่อมทำให้อาหารชรูปเกิดขึ้น หมายความว่า เมื่อบุคคลบริโภคอาหารเข้าไปแล้ว ปาจกเตโชธาตุ ย่อมทำการย่อยอาหาร คั้นเอาแต่โอชาไปบำรุงร่างกาย ทำให้ร่างกายของสัตว์ทั้งหลาย มีกำลังและเจริญเติบโตขึ้นได้ ทำให้ร่างกายสมบูรณ์ มีชีวิตอยู่ได้


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |