ไปยังหน้า : |
ปีติเจตสิก เป็นธรรมชาติที่มีความปลาบปลื้มยินดีในอารมณ์ หมายความว่า ปีติเจตสิกนี้เป็นสภาวธรรมที่มีความแช่มชื่นอิ่มเอิบใจในขณะที่ได้รับอารมณ์อันน่าปรารถนาน่าชอบใจ เมื่อประกอบกับจิตแล้ว ย่อมทำให้สัมปยุตตธรรมคือจิตและเจตสิกที่เกิดพร้อมกับตนมีความปลาบปลื้มยินดีพอใจในอารมณ์ที่รับรู้ ด้วยเหตุนี้ ปีติเจตสิกจึงประกอบกับจิตที่เกิดพร้อมโดยโสมนัสสเวทนาอย่างเดียวเท่านั้น ไม่สามารถประกอบกับจิตที่เกิดพร้อมด้วยเวทนาอย่างอื่นได้ เพราะมีสภาวะที่ขัดกันกับเวทนาเหล่านั้นโดยสิ้นเชิง อนึ่ง ในบรรดาโสมนัสสสหคตจิต คือ จิตที่เกิดพร้อมด้วยโสมนัสสเวทนา ๖๒ ดวงนั้น ปีติเจตสิกย่อมเกิดร่วมด้วยได้เพียง ๕๑ ดวงเท่านั้น ได้แก่ โลภโสมนัส ๔ โสมนัสสันตีรณจิต ๑ หสิตุปปาทจิต ๑ มหากุศลโสมนัส ๔ มหาวิบากโสมนัส ๔ มหากิริยาโสมนัส ๔ ปฐมฌานจิต ๑๑ ทุติยฌานจิต ๑๑ และตติยฌานจิต ๑๑ ส่วนโสมนัสสสหคตจิตที่เหลือ ๑๑ ดวง ได้แก่ จตุตถฌานจิต ๑๑ นั้น ปีติเจตสิกเกิดร่วมด้วยไม่ได้ เพราะพระโยคีบุคคลผู้ปรารถนาจะได้จตุตถฌานนั้น ต้องทำความเบื่อหน่ายในสภาวะของปีติ ซึ่งมีสภาพที่เอิบอาบเฟื่องฟู อันทำให้สมาธิจิตไม่แนบแน่นประณีตยิ่งขึ้นไปอีก จึงต้องกำหนดละความพอใจในปีติเสีย เมื่อละความพอใจในปีติได้แล้ว จตุตถฌานย่อมปรากฏขึ้นแก่พระโยคีบุคคล ด้วยเหตุนี้ จตุตถฌานจิต ๑๑ จึงเกิดขึ้นโดยไม่มีปีติเจตสิกเกิดร่วมด้วยเลย แต่เนื่องจากจตุตถฌานจิตเหล่านั้นยังประกอบด้วยสุขที่เป็นองค์ฌานอยู่ ด้วยเหตุนี้ จตุตถฌานจิต ๑๑ ดวง จึงชื่อว่า เป็นโสมนัสสสหคตจิต คือ จิตที่เกิดพร้อมด้วยโสมนัสสเวทนา