| |
วิจาร ๖ อย่าง   |  

วิจาร เป็นสภาวะแห่งการเคล้าคลึงอารมณ์ ย่อมมีลักษณะเป็นไปในอารมณ์พร้อมกับสัมปยุตตธรรมทั้งหลาย คล้ายกับวิตก หมายความว่า ต้องทำหน้าที่เคียงคู่ไปกับวิตกเจตสิกนั่นเอง เพราะฉะนั้น วิจารเจตสิกจึงมีลักษณะเป็นไปในอารมณ์ตามหลังวิตกเจตสิก ดังนี้

๑. รูปวิจาร หมายถึง อาการที่เคล้าคลึงแนบสนิทในรูป คือ การประคับ ประคองสัมปยุตตธรรมไว้ในรูปารมณ์ หมายความว่า การที่จักขุวิญญาณจิตจะสามารถรับรู้รูปารมณ์ คือ รูปต่าง ๆ ได้นั้น เพราะปัญจทวาราวัชชนจิต ซึ่งเป็นจิตที่เกิดก่อนจักขุวิญญาณจิตในจักขุทวารวิถีนั่นแหละ เป็นผู้ทำหน้าที่นึกหน่วงถึงรูปารมณ์แล้วประคับประคองรูปารมณ์นั้นมาทำการพิจารณา เสร็จเรียบร้อยแล้วจึงส่งต่อให้จักขุวิญญาณจิต จักขุวิญญาณจิตจึงสามารถรับรู้รูปารมณ์ได้ เพราะฉะนั้น วิจารเจตสิกที่ประกอบในปัญจทวาราวัชชนจิตนั่นเอง เป็นผู้ประคับประคองสัมปยุตตธรรมไว้ในรูปารมณ์เป็นเบื้องต้นต่อจากวิตกเจตสิก จึงทำให้สัมปยุตตธรรมที่เกิดพร้อมกันในปัญจทวาราวัชชนจิตสามารถรับรู้พิจารณารูปารมณ์ได้ แต่จักขุวิญญาณจิตนั้นไม่มีวิจารเจตสิกประกอบร่วมด้วย เพราะจักขุวิญญาณจิต เพียงแต่ทำการรับรู้รูปารมณ์ที่ปัญจทวาราวัชชนจิตรับพิจารณาเสร็จเรียบร้อยแล้วส่งต่อให้เท่านั้น โดยจักขุวิญญาณจิตไม่ต้องขวนขวายในการประคับประคองรูปารมณ์นั้น แต่อย่างใด

๒. สัททวิจาร หมายถึง อาการที่เคล้าคลึงแนบสนิทในเสียง คือ การประคับ ประคองสัมปยุตตธรรมไว้ในสัททารมณ์ หมายความว่า การที่โสตวิญญาณจิตจะสามารถรับรู้สัททารมณ์ คือ เสียงต่าง ๆ ได้นั้น เพราะปัญจทวาราวัชชนจิต ซึ่งเป็นจิตที่เกิดก่อนโสตวิญญาณจิตในโสตทวารวิถีนั่นแหละ เป็นผู้ทำหน้าที่นึกหน่วงถึงสัททารมณ์แล้วประคับประคองสัททารมณ์นั้นมาทำการพิจารณา เสร็จเรียบร้อยแล้วจึงส่งต่อให้โสตวิญญาณจิต โสตวิญญาณจิตจึงสามารถรับรู้สัททารมณ์นั้นได้ เพราะฉะนั้น วิจารเจตสิกที่ประกอบในปัญจทวาราวัชชนจิตนั่นเอง เป็นผู้ประคับประคองสัมปยุตตธรรมไว้ในสัททารมณ์เป็นเบื้องต้นต่อจากวิตกเจตสิก จึงทำให้สัมปยุตตธรรมที่เกิดพร้อมกันในปัญจทวาราวัชชนจิตสามารถรับรู้พิจารณาสัททารมณ์ได้ แต่โสตวิญญาณจิตไม่มีวิจารเจตสิกประกอบร่วมด้วย เพราะโสตวิญญาณจิตเพียงแต่ทำการรับรู้สัททารมณ์ที่ปัญจทวาราวัชชนจิตรับพิจารณาเสร็จเรียบร้อยแล้วส่งให้เท่านั้น โดยโสตวิญญาณจิตไม่ต้องขวนขวายในการประคับประคองสัททารมณ์ แต่ประการใด

๓. คันธวิจาร หมายถึง อาการที่เคล้าคลึงแนบสนิทในกลิ่น คือ การประคับประคองสัมปยุตตธรรมไว้ในคันธารมณ์ หมายความว่า การที่ฆานวิญญาณจิตจะสามารถรับรู้คันธารมณ์ คือ กลิ่นต่าง ๆ ได้นั้น เพราะปัญจทวาราวัชชนจิตซึ่งเป็นจิตที่เกิดก่อนฆานวิญญาณจิตในฆานทวารวิถีนั่นแหละ เป็นผู้ทำหน้าที่นึกหน่วงถึงคันธารมณ์แล้วประคับประคองคันธารมณ์มาทำการพิจารณา เสร็จเรียบร้อยแล้วจึงส่งต่อให้ฆานวิญญาณจิต ฆานวิญญาณจิตจึงสามารถรับรู้คันธารมณ์ได้ เพราะฉะนั้น วิจารเจตสิกที่ประกอบในปัญจทวาราวัชชนจิตนั่นเอง เป็นผู้ประคับประคองสัมปยุตตธรรมไว้ในคันธารมณ์เป็นเบื้องต้นต่อจากวิตกเจตสิก จึงทำให้สัมปยุตตธรรมที่เกิดพร้อมกันในปัญจทวาราวัชชนจิตนั้นสามารถรับรู้พิจารณาคันธารมณ์ได้ แต่ฆานวิญญาณจิตไม่มีวิจารเจตสิกประกอบร่วมด้วย เพราะฆานวิญญาณจิต เพียงแต่ทำการรับรู้คันธารมณ์ที่ปัญจทวาราวัชชนจิตรับพิจารณาเสร็จเรียบร้อยแล้วส่งต่อให้เท่านั้นเอง โดยฆานวิญญาณจิตไม่ต้องขวนขวายประคับประคองคันธารมณ์ แต่อย่างใด

๔. รสวิจาร หมายถึง อาการที่เคล้าคลึงแนบสนิทในรส คือ การประคับ ประคองสัมปยุตตธรรมไว้ในรสารมณ์ หมายความว่า การที่ชิวหาวิญญาณจิตจะสามารถรับรู้ รสารมณ์ คือ รสต่าง ๆ ได้นั้น เพราะปัญจทวาราวัชชนจิต ซึ่งเป็นจิตที่เกิดก่อนชิวหาวิญญาณจิตในชิวหาทวารวิถีนั่นแหละ เป็นผู้ทำหน้าที่นึกหน่วงถึงรสารมณ์แล้วประคับประคองรสารมณ์นั้นมาทำการพิจารณา เสร็จเรียบร้อยแล้วจึงส่งต่อให้ชิวหาวิญญาณจิต ชิวหาวิญญาณจิตจึงสามารถรับรู้รสารมณ์ได้ เพราะฉะนั้น วิจารเจตสิกที่ประกอบในปัญจทวาราวัชชนจิตนั่นเอง เป็นผู้ประคับประคองสัมปยุตตธรรมไว้ในรสารมณ์เป็นเบื้องต้นต่อจากวิตกเจตสิก จึงทำให้สัมปยุตตธรรมที่เกิดพร้อมกันในปัญจทวาราวัชชนจิตนั้นสามารถรับรู้พิจารณา รสารมณ์ได้ แต่ชิวหาวิญญาณจิตไม่มีวิจารเจตสิกประกอบร่วมด้วย เพราะชิวหาวิญญาณจิตนั้น เพียงแต่ทำการรับรู้รสารมณ์ที่ปัญจทวาราวัชชนจิตรับพิจารณาเสร็จเรียบร้อยแล้วส่งมาให้เท่านั้น โดยชิวหาวิญญาณจิตไม่ต้องขวนขวายในการประคับประคองรสารมณ์ แต่ประการใด

๕. โผฎฐัพพวิจาร หมายถึง อาการที่เคล้าคลึงแนบสนิทในโผฏฐัพพะ คือ การประคับประคองสัมปยุตตธรรมไว้ในโผฏฐัพพารมณ์ หมายความว่า การที่กายวิญญาณจิตจะสามารถรับรู้โผฏฐัพพารมณ์ คือ อาการสัมผัสต่าง ๆ ได้นั้น เพราะปัญจทวาราวัชชนจิต ซึ่งเป็นจิตที่เกิดก่อนกายวิญญาณจิตในกายทวารวิถีนั่นแหละ เป็นผู้ทำหน้าที่นึกหน่วงถึงโผฏฐัพพารมณ์แล้วประคับประคองโผฏฐัพพารมณ์มาทำการพิจารณา เสร็จเรียบร้อยแล้วจึงส่งต่อให้กายวิญญาณจิต กายวิญญาณจิตจึงสามารถรับรู้โผฏฐัพพารมณ์ได้ เพราะฉะนั้น วิจารเจตสิกที่ประกอบในปัญจทวาราวัชชนจิตนั้นเอง เป็นผู้ประคับประคองสัมปยุตตธรรมไว้ในโผฏฐัพพารมณ์เป็นเบื้องต้นต่อจากวิตกเจตสิก จึงทำให้สัมปยุตตธรรมที่เกิดพร้อมกันในปัญจทวาราวัชชนจิตสามารถรับรู้พิจารณาโผฏฐัพพารมณ์ได้ แต่กายวิญญาณจิตไม่มีวิจารเจตสิกประกอบร่วมด้วย เพราะกายวิญญาณจิตเพียงแต่ทำการรับรู้โผฏฐัพพารมณ์ที่ปัญจทวาราวัชชนจิตรับพิจารณาเสร็จเรียบร้อยแล้วส่งมาให้เท่านั้น โดยกายวิญญาณจิตไม่ต้องขวนขวายประคับประคองโผฏฐัพพารมณ์ แต่ประการใด

๖. ธัมมวิจาร หมายถึง อาการที่เคล้าคลึงแนบสนิทอยู่ในอารมณ์ ๖ ที่ปรากฏทางใจโดยสภาพที่เป็นธัมมารมณ์ คือ การประคับประคองสัมปยุตตธรรมที่เกิดพร้อมกับตนไว้ในธัมมารมณ์ หมายความว่า การที่มโนวิญญาณจิตแต่ละดวงจะสามารถรับรู้ธัมมารมณ์ คือ ความรู้สึกนึกคิดและสภาพของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะต่าง ๆ ที่ปรากฏทางใจได้นั้น เพราะมโนทวาราวัชชนจิต ซึ่งเป็นจิตที่เกิดก่อนชวนจิตในมโนทวารวิถีนั่นแหละ เป็นผู้ทำหน้าที่หน่วงนึกถึงธัมมารมณ์แล้วประคับประคองธัมมารมณ์มาพิจารณา เสร็จเรียบร้อยแล้วจึงส่งต่อให้ชวนจิต ชวนจิตจึงสามารถรับรู้ธัมมารมณ์ได้ เพราะฉะนั้น วิจารเจตสิกที่ประกอบในมโนทวาราวัชชนจิตนั้นเอง เป็นผู้เคล้าคลึงประคับประคองธัมมารมณ์เป็นเบื้องต้นต่อจากวิตกเจตสิก ทำให้สัมปยุตตธรรมที่เกิดพร้อมกันในมโนทวาราวัชชนจิตสามารถรับพิจารณาธัมมารมณ์ได้ และทำให้วิถีจิตดวงอื่น ๆ คือ ชวนจิตและตทาลัมพนจิตสามารถเกิดติดต่อกันตามลำดับไปได้ อนึ่ง วิจารเจตสิกที่ประกอบกับชวนจิตและ ตทาลัมพนจิต ย่อมทำการชักชวนสัมปยุตตธรรมเหล่านั้นให้เคล้าคลึงอยู่ในธัมมารมณ์ที่ปรากฏตามลำดับเรื่อยไป จนกระทั่งถึงภวังคจิต วิจารเจตสิกที่ประกอบกับภวังคจิตย่อมทำการชักชวนและเจตสิกอื่น ๆ ไว้ในอารมณ์เก่าของตนเองตามเดิมต่อไป

ด้วยเหตุนี้ วิจารเจตสิกจึงมีบทบาทในการรับรู้อารมณ์ของสัมปยุตตธรรมที่เกิดพร้อมกับตน ถ้าขาดวิจารเจตสิกเสียแล้ว ก็ไม่มีสภาวธรรมที่จะชักชวนสัมปยุตตธรรมไว้ในอารมณ์ที่วิตกเจตสิกได้ตรึกนึกถึงแล้ว ยกเว้นจิตที่ไม่ต้องมีการประคับประคองอารมณ์เพียงแต่รับรู้อารมณ์ที่จิตดวงอื่นรับพิจารณาเสร็จเรียบร้อยแล้วส่งต่อให้เท่านั้น ได้แก่ ทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ หรือ สภาพจิตนั้นได้ล่วงเลยภาวะที่ไม่ต้องมีวิจารเจตสิกแล้ว ได้แก่ ฌานจิต ๔๕ ดวง [เว้นปฐมฌานจิต ๑๑ ทุติยฌานจิต ๑๑] เพราะได้ละวิจารองค์ฌานไปแล้วนั่นเอง ในเรื่องสภาวะของวิจารเจตสิกนี้ พระโยคีบุคคลผู้เจริญสมถกรรมฐานย่อมเห็นได้ชัดเจนในทุติยฌาน เพราะทุติยฌานนั้น สภาพของวิจารจะปรากฏเด่นชัด เนื่องจากได้ละวิตกไปแล้ว และทุติยฌาน วิจารจะเป็นสภาพที่หยาบกว่าองค์อื่น คือ มีสภาพเด่นชัดกว่านั่นเอง


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |