| |
อาโปธาตุ มีธาตุ ๓ อย่างที่เหลือเป็นปัจจัย   |  

อาโปธาตุมีธาตุ ๓ อย่างที่เหลือเป็นปัจจัย กล่าวคือ

๑] มีปถวีธาตุ เป็นที่ตั้ง [เครื่องรองรับ

๒] มีเตโชธาตุ เป็นผู้ตามรักษา [อุณหภูมิ]

๓] มีวาโยธาตุ เป็นผู้กระพือพัด [ปรับอุณหภูมิ]

คำอธิบายเพิ่มเติมจากผู้เขียน :

อาโปธาตุมีธาตุ ๓ อย่างที่เหลือเป็นปัจจัยนั้น มีอธิบายดังต่อไปนี้

๑. มีปถวีธาตุเป็นที่ตั้ง หมายความว่า ธาตุน้ำย่อมมีสภาพเอิบอาบซึมซาบไปในปถวีธาตุ ถ้าอาโปธาตุมีปริมาณมาก ปถวีธาตุมีปริมาณน้อย ปรมาณูต่าง ๆ ที่รวมกันอยู่นั้นย่อมจะไหลไปได้ เช่น ที่เราพูดกันว่า น้ำไหลนั้น แท้ที่จริงแล้ว เป็นการไหลของปถวีธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ส่วนอาโปธาตุนั้นเพียงแต่ทำหน้าที่เกาะกุมธาตุทั้ง ๓ ให้รวมกันเป็นกลุ่มหรือทำให้เอิบอาบไหลไปได้เท่านั้น เพราะปถวีธาตุมีปริมาณน้อย จึงปรากฏลักษณะอ่อนเหลวและไหลไปได้ อาโปธาตุนั้นมีอยู่ทั่วไปในวัตถุสิ่งของต่าง ๆ ทั้งแข็งและเหลว ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต

๒. มีเตโชธาตุเป็นผู้ตามรักษา หมายความว่า เตุโชธาตุคือธาตุไฟนั้น มีลักษณะร้อนหรือเย็น ในบรรดาสรรพสิ่งทั้งปวง ทั้งคนและสัตว์ รวมทั้งวัตถุสิ่งของต่าง ๆ ด้วย ย่อมมีอุณหภูมิหล่อเลี้ยงประจำตนอยู่เสมอ ถ้าอุณหภูมิในบุคคลนั้นหรือในสิ่งนั้นไม่สมดุลกัน คนหรือสัตว์ ตลอดถึงวัตถุสิ่งของต่าง ๆ ย่อมมีความวิการคือผันแปรผิดปกติไป ธาตุน้ำก็เช่นเดียวกัน ถ้าไม่มีความสมดุลกันกับมหาภูตรูปอีก ๓ อย่างแล้ว ย่อมผันแปรเปลี่ยนแปลงสถานะไปต่าง ๆ นานา ไม่สามารถคงสภาพอยู่อย่างเดิมได้

๓. มีวาโยธาตุเป็นผู้กระพือพัด [ปรับอุณหภูมิ] หมายความว่า วาโยธาตุย่อมเป็นเครื่องกระพือพัดเพื่อปรับอุณหภูมิให้ธาตุน้ำเกิดความสมดุล ไม่ว่าจะเป็นธาตุน้ำในร่างกายของสัตว์ทั้งหลายก็ดี ย่อมมีธาตุลมช่วยพัดพาให้ไหลเวียนไปทั่วร่างกายและช่วยขับธาตุน้ำที่ไม่จำเป็นต่อร่างกายให้ออกไปจากร่างกาย เพื่อให้ร่างกายมีความสมดุลเป็นปกติ หรือธาตุน้ำในสรรพสิ่งที่ไม่มีชีวิตทั้งหลายก็ดี ต้องมีธาตุลมช่วยพัดพาให้ไหลเวียนไปสู่ที่ต่าง ๆ ถ้าขาดธาตุลมช่วยพัดพาแล้ว ธาตุน้ำก็จะนิ่งและกลายเป็นน้ำเสีย ทำให้วัตถุสิ่งนั้นเน่าเสียหรือเหี่ยวแห้งร่วงหล่นลง ดังเช่น ธาตุน้ำในต้นไม้เป็นต้น ถ้าไม่มีธาตุลมช่วยพัดพาให้ไหลไปหล่อเลี้ยงลำต้นและกิ่งก้านสาขาแล้ว ลำต้นหรือกิ่งก้านสาขาของต้นไม้นั้น ก็จะแคระแกร็นและเหี่ยวแห้งหรือเน่าเสียไป ดังนี้เป็นตัวอย่าง


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |