| |
สรุปการจำแนกจิต ๗๕ ดวง โดยจิตตชรูป ๗ อย่าง   |  

๑. จิตที่ทำให้จิตตชรูปสามัญเกิดขึ้นได้นั้น ได้แก่ จิต ๗๕ ดวง [เว้นทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ และอรูปวิบากจิต ๔]

๒. จิตที่ทำให้จิตตชรูปที่เกี่ยวกับการหัวเราะเกิดขึ้นได้นั้น มี ๑๓ ดวง ได้แก่ โลภโสมนัส ๔ หสิตุปปาทจิต ๑ มหากุศลโสมนัส ๔ มหากิริยาโสมนัส ๔

๓. จิตที่ทำให้จิตตชรูปที่เกี่ยวกับการร้องไห้เกิดขึ้นได้นั้น มี ๒ ดวง ได้แก่ โทสมูลจิต ๒

๔. จิตที่ทำให้จิตตชรูปที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวอิริยาบถย่อยเกิดขึ้นได้นั้น มี ๓๒ ดวง ได้แก่ มโนทวาราวัชชนจิต ๑ กามชวนจิต ๒๙ อภิญญาจิต ๒

๕. จิตที่ทำให้จิตตชรูปที่เกี่ยวกับการพูดเกิดขึ้นได้นั้น มี ๓๒ ดวง เหมือนกันกับข้อ ๔

๖. จิตที่ทำให้จิตตชรูปที่เกี่ยวกับอิริยาบถใหญ่ทั้ง ๔ เกิดขึ้นได้นั้น มี ๓๒ ดวงเหมือนกันกับข้อ ๔

๗. จิตที่ทำให้จิตตชรูปที่เกี่ยวกับอิริยาบถใหญ่ทั้ง ๔ ตั้งมั่นเกิดขึ้นได้นั้น มี ๕๘ ดวง ได้แก่ มโนทวาราวัชชนจิต ๑ กามชวนจิต ๒๙ อภิญญาจิต ๒ อัปปนาชวนจิต ๒๖

หมายเหตุ.. ในจำนวนจิต ๕๘ ดวงที่อุดหนุนให้อิริยาบถใหญ่ทั้ง ๔ ตั้งมั่นได้นั้น นับเอาอภิญญาจิต ๒ โดยเฉพาะ [ต่างหาก] อีก ถ้าไม่นับอภิญญาจิต ๒ โดยเฉพาะอีก ก็คงมีเพียงจิต ๕๖ ดวงเท่านั้น คือ มโนทวาราวัชชนจิต ๑ กามชวนจิต ๒๙ อัปปนาชวนจิต ๒๖ ทั้งนี้เพราะว่า อภิญญาจิต ๒ ดวงนั้น อยู่ในกลุ่มอัปปนาชวนจิต ๒๖ ดวงแล้ว กล่าวคือ อภิญญากุศลจิต ได้แก่ รูปาวจรปัญจมฌานกุศลจิต ๑ อภิญญากิริยาจิต ได้แก่ รูปาวจร ปัญจมฌานกิริยาจิต ๑ นั่นเอง แต่ที่นับโดยเฉพาะอีกต่างหาก ก็เพราะรูปาวจรปัญจมฌานกุศลจิตและรูปาวจรปัญจมฌานกิริยาจิต ทั้ง ๒ ดวงนี้ ที่เป็นประเภทจิตชนิดสามัญ ไม่มีการรู้อารมณ์พิเศษก็มี ที่เป็นประเภทจิตชนิดพิเศษ มีการรู้อารมณ์พิเศษก็มี เพราะฉะนั้น จึงได้นับอภิญญาจิต ๒ ดวงโดยเฉพาะอีกต่างหาก

อนึ่ง ที่นับอภิญญาจิต ๒ ต่างหากโดยเฉพาะอีกนั้น ก็เพราะอภิญญาจิต ๒ ดวงมีการรู้อารมณ์เป็นพิเศษออกไปจากอารมณ์ที่รูปาวจรปัญจมฌานกุศลจิตและรูปาวจรปัญจมฌานกริยาจิตรู้อยู่แล้วนั้นเอง หมายความว่า รูปาวจรปัญจมฌานกุศลจิตและรูปาวจร ปัญจมฌานกิริยาจิตที่เป็นแบบสามัญนั้น ย่อมรู้อารมณ์ที่เป็นปฏิภาคนิมิตของบัญญัติอารมณ์ ๑๒ ประการ คือ กสิณ ๑๐ อานาปานสติ ๑ มัชฌัตตสัตวบัญญัติ ๑ ส่วนอภิญญาจิต ๒ ย่อมรู้ปฏิภาคนิมิตของอารมณ์เหล่านี้ด้วย และรู้สภาพของจิต เจตสิก รูป นิพพาน ตลอดถึงบัญญัติธรรมต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะถ้าเป็นอภิญญากิริยาจิตของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยแล้ว ย่อมรู้อารมณ์ได้ทั้งหมด ทั้งปรมัตถ์และบัญญัติ ทั้งอดีต อนาคต ปัจจุบัน และกาลวิมุตต์ ได้แก่ นิพพานและบัญญัติต่าง ๆ โดยไม่มียกเว้นเลย


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |