| |
จิตตสมุฏฐาน   |  

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและปรมัตถทีปนีรุ.๕๔๖ ได้แสดงความหมายของ จิตตสมุฏฐานไว้ ดังต่อไปนี้

คำว่า จิตฺตํ [จิต] หมายเอาจิตพร้อมทั้งเจตสิกที่เกิดร่วมกัน ดังในคัมภีร์ปัฏฐาน สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสเจตสิกไว้โดยความเป็นเหตุเกิดของรูป ดังพระพุทธวจนะว่า “เหตู เหตุสมฺปยุตฺตกานํ ธมฺมานํ ตํสมุฏฺานานญฺจ รูปานํ เหตุปจฺจเยน ปจฺจโยรุ.๕๔๗ แปลความว่า เหตุทั้งหลาย [โลภเหตุ โทสเหตุ โมหเหตุ อโลภเหตุ อโทสเหตุ และอโมหเหตุ] เป็นปัจจัยแก่ [นาม] ธรรมที่ประกอบกับเหตุและแก่รูปที่เกิดจากเหตุและธรรมที่ประกอบกับเหตุโดยความเป็นเหตุปัจจัย

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีการุ.๕๔๘ ท่านได้แสดงจิตตสมุฏฐานไว้ ดังต่อไปนี้

[อธิบายจิตที่ทำให้รูปเกิดและไม่ทำให้รูปเกิด]

จิต ๑๔ ดวง ที่ชื่อว่า อรูปาวจรวิบาก [อรูปาวจรวิบากจิต ๔] เพราะเหตุที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรูปนั้น เพราะเกิดจากภาวนาเป็นเครื่องสำรอกความพอใจในรูปด้วย [รูปวิราคภาวนา] เพราะรูปไม่มีโอกาสด้วย และที่ชื่อว่า ทวิปัญจวิญญาณ [ทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐] เพราะไม่มีความประกอบด้วยองค์ฌานอันเป็นเครื่องพิเศษในการทำให้รูปเกิดขึ้น ย่อมยังรูปให้เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะฉะนั้น ท่านอาจารย์จึงกล่าวว่า อรูเป ฯเปฯ วชฺชิตํ ดังนี้ ก็ปฏิสนธิจิตและจุติจิต ไม่ใช่เป็นจิตดวงอื่น เพราะรวมอยู่ภายในภวังคจิต ๑๙ นั่นเอง เพราะฉะนั้น ท่านอาจารย์จึงไม่ทำการยกเว้นจิตทั้ง ๒ ประเภทตามที่กล่าวแล้วนั้น [ปฏิสนธิจิตและจุติจิตนั้น] ท่านไม่กระทำการยกเว้นไว้ก็จริง ถึงอย่างนั้น ปฏิสนธิจิตย่อมไม่ยังรูปให้เกิดขึ้นได้ เพราะอาศัยวัตถุอันทุรพล ที่เว้นจากปัจฉาชาตปัจจัยและอันปัจจัยมีอาหารเป็นต้นไม่อุดหนุนเป็นไป เพราะตนเป็นผู้จรมา และเพราะถือเอาฐานะแห่งรูปที่มีจิตเป็นสมุฏฐานดำรงอยู่ได้ด้วยกัมมชรูปทั้งหลาย

ส่วนในจุติจิต พึงทราบวินิจฉัยว่า พระอรรถกถาจารย์กล่าวไว้ในอรรถกถาก่อนว่า จุติจิตของพระขีณาสพเท่านั้น ย่อมไม่ยังรูปให้เกิด เพราะท่านเป็นผู้มีความเป็นไปสงบดียิ่ง ในสันดานที่มีมูลแห่งวัฏฏะอันสงบระงับแล้ว แต่อาจารย์ทั้งหลายมีท่านอาจารย์อานันทาจารย์เป็นต้นกล่าวว่า จุติจิตของสัตว์แม้ทุกจำพวกย่อมยังรูปให้เกิดขึ้นไม่ได้ ก็บัณฑิตพึงทราบวินิจฉัยของท่านอาจารย์เหล่านั้นโดยสังเขปตามนัยที่ท่านกล่าวไว้ในมูลฎีกาเป็นต้น [และ] โดยพิสดารตามนัยที่ท่านกล่าวไว้ในอภิธัมมัตถปกาสินีฎีกา

คำว่า ปมภวงฺคมุปาทาย มีความว่า จิต ๗๕ ดวงเกิดขึ้นอยู่ จำเดิมแต่ภวังค์ดวงแรก กล่าวคือ เกิดขึ้นในลำดับแห่งปฏิสนธิจิตนั่นแล แล้วย่อมยังรูปให้เกิดขึ้นได้ แต่จิตที่ตั้งอยู่แล้วหรือกำลังแตกไป ย่อมไม่ยังรูปให้เกิดขึ้นได้ เพราะประกอบด้วยความสามารถในอันให้รูปเกิดขึ้นในอุปปาทขณะเท่านั้น โดยการได้ปัจจัยมีอนันตรปัจจัยเป็นต้น

กิริยาเดินเป็นต้น ชื่อว่า อิริยาบถ เพราะเป็นทางแห่งความเป็นไปของการเคลื่อนไหว คือ กิริยาทางร่างกาย โดยเนื้อความ ได้แก่ รูปปวัตติ ซึ่งมีการกำหนดด้วยการเดินเป็นต้นนั้น อัปปนาชวนะอุดหนุนอิริยาบถนั้น คือ ค้ำจุนตามที่เป็นไปแล้ว เหมือนอย่างว่า เมื่อภวังคจิตที่ไม่ถูกวิถีจิตปะปนเป็นไปอยู่ อวัยวะทั้งหลายย่อมนิ่งเฉยอยู่ ฉันใด เมื่อจิต ๓๒ ดวงเหล่านี้ที่อาจารย์กำลังจะกล่าว และชาครณจิตรุ.๕๔๙ ๒๖ [อัปปนาชวนจิต ๒๖] กำลังเป็นไปอยู่ อวัยวะทั้งหลายจะสงบนิ่งเฉยอยู่ ฉันนั้นหามิได้ ก็ในกาลนั้น อวัยวะทั้งหลายที่ยกขึ้นแล้วและยกขึ้นแล้ว จะเป็นไปโดยความเป็นอิริยาบถตามที่เคลื่อนไหวไปแล้วนั่นแล คือ ย่อมยังวิญญัติให้ตั้งขึ้น มิใช่ยังรูปและอิริยาบถอย่างเดียวเท่านั้นให้เกิดขึ้น แต่บัณฑิตพึงทราบสันนิษฐานในคำว่า โวฏฺพฺพน ฯเปฯ ชเนนฺติ นี้ แม้โดยคำอันไม่แปลกกันว่า โวฏฐัพพนจิตและชวนจิตที่เป็นไปในมโนทวารเท่านั้น ให้เกิดวิญญัติได้ ฉันใด โสมนัสสชวนะเฉพาะที่ถึงมโนทวารให้เกิดความร่าเริงได้ ฉันนั้น เพราะชวนะทั้งหลายที่เป็นไปทางทวาร ๕ หย่อนกำลังโดยรอบ ก็บรรดารูปอิริยาบถและวิญญัตินี้ อิริยาบถหรือวิญญัติที่พ้นไปจากรูป ย่อมไม่มีก็จริง ถึงอย่างนั้นก็ตาม จิตที่ยังรูปให้เกิดขึ้นทั้งหมด ย่อมช่วยค้ำจุนอิริยาบถและให้วิญญัติเกิดขึ้นไม่ได้ แต่จิตที่ให้วิญญัติเกิดขึ้นเป็นผู้ช่วยค้ำจุนอิริยาบถโดยแท้ เพราะอิริยาบถกับวิญญัติไม่มีการเว้นจากกัน [พรากจากกันไม่ได้] เพื่อแสดงความพิเศษแห่งคำว่า “จิตที่ช่วยค้ำจุนอิริยาบถและยังรูปให้เกิดขึ้น” นี้ ท่านอาจารย์ [พระอนุรุทธาจารย์] จึงทำการถือเอาอิริยาบถและวิญญัติต่างหากจากรูป

คำว่า เตรส มีความว่า โสมนัสสชวนจิต ๑๓ ดวง คือ จากกุศลจิต ๔ [มหากุศลโสมนัส ๔] จากอกุศลจิต ๔ [โลภโสมนัส ๔] จากกิริยา ๕ [หสิตุปปาทจิต ๑ มหากิริยาโสมนัส ๔] ปุถุชนย่อมหัวเราะด้วยกุศลจิตและอกุศลจิต ๘ ดวง [โลภโสมนัส ๔ มหากุศลโสมนัส ๔] พระเสกขบุคคลย่อมหัวเราะด้วยจิต ๖ ดวง เว้นจิตที่สหรคตด้วยทิฏฐิ [โลภมูลจิตดวงที่ ๑ และดวงที่ ๒] ส่วนพระอเสกขบุคคล ย่อมยิ้มแย้มด้วยกิริยาจิต ๕ ดวง [หสิตุปปาทจิต ๑ มหากิริยาโสมนัส ๔] แม้บรรดากิริยาจิตที่สหรคตด้วยโสมนัสทั้ง ๕ ดวงนั้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมทรงแย้มพระโอษฐ์ด้วยกิริยาจิตที่เป็น สเหตุกะ ๔ ดวง [มหากิริยาโสมนัส ๔] เท่านั้น หาได้ทรงยิ้มแย้มด้วยอเหตุกกิริยาจิต [หสิตุปปาทจิต] ไม่ อาจารย์ทั้งหลายกล่าวว่า ก็เพราะพระบาลีว่า สมเด็จพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ผู้ทรงบรรลุพระญาณอันไม่ติดขัดในส่วนแห่งกาลมีอดีตกาลเป็นต้น ทรงประกอบด้วยธรรม ๓ ประการเหล่านี้ ทรงมีกายกรรมทุกอย่างมีพระญาณเป็นหัวหน้า เป็นไปตามพระญาณ ดังนี้ ความเป็นไปแห่งหสิตุปปาทจิตที่เว้นจากปัญญาเครื่องพิจารณา ไม่สมควรแก่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายเลย ก็เหตุแห่งการทรงแย้มของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่านั้น แม้อันหสิตุปปาทจิตให้ทรงเป็นไปอยู่ ชื่อว่า เป็นไปตามพระญาณทั้งนั้น เพราะเป็นไปตามปุพเพนิวาสญาณ [รู้อดีตชาติ] อนาคตังสญาณ [รู้กาลในอนาคต] และสัพพัญญุตญาณ [รู้สรรพสิ่งทั้งปวง] ฉะนี้ ก็เพราะกระทำอธิบายไว้อย่างนี้ พระอรรถกถาจารย์จึงกล่าวไว้ในอรรถกถาว่า “จิตนี้ย่อมบังเกิดในกาลที่สุดแห่งญาณทั้งหลายเหล่านั้นที่ทรงประพฤติมาแล้ว” เพราะฉะนั้น ใคร ๆ ไม่อาจเพื่อจะห้ามความเป็นไปแห่งหสิตุปปาทจิตนั้นแก่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายได้

อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวี อดีตประธานมูลนิธิแนบ มหานีรานนท์รุ.๕๕๐ ได้แสดงความหมายของจิตตสมุฏฐานไว้ ดังต่อไปนี้

จิตตชรูป หมายถึง รูปที่แสดงอาการต่าง ๆ ของสัตว์ทั้งหลาย มีการยืน เดิน นั่ง นอน ตลอดจนการพูดจาหรือการหายใจเข้า-ออก เหล่านี้เป็นต้น จะสำเร็จอาการต่าง ๆ เหล่านั้นได้ ก็ต้องอาศัยจิตเป็นผู้กระทำรูปที่เกี่ยวกับอาการเหล่านั้นให้ปรากฏขึ้น จิตที่มีกำลังเป็นปัจจัยให้เกิดรูปอิริยาบถ รูปถ้อยคำที่พูด หรือรูปที่หายใจเข้า-ออกได้นั้น ได้แก่ จิต ๗๕ ดวง [เว้นทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ อรูปวิบากจิต ๔] และเจตสิก ๕๒ ที่ในปัจจุบันภพนี้เอง ทำให้รูปเกิดขึ้นเป็นอาการกิริยาของสัตว์ รูปที่เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐานนี้ เรียกว่า จิตตชรูป และย่อมเกิดขึ้นทุกอุปปาทขณะของจิต นับตั้งแต่ปฐมภวังค์ คือ ภวังคจิตดวงแรก ที่เกิดต่อจากปฏิสนธิจิตเป็นต้นไป

จิตเป็นสมุฏฐานอันหนึ่ง ซึ่งทำให้รูปเกิดได้ เช่น การนั่ง การนอน การยืน การเดิน และการพูดจาต่าง ๆ เป็นต้นเหล่านี้ มีจิตเป็นสมุฏฐานให้เกิดรูปนั้น ๆ ขึ้น จิตทั้งหมด [โดยย่อ] มีจำนวน ๘๙ ดวง แต่จิตที่จะเป็นสมุฏฐานให้รูปเกิดขึ้นได้นั้น ได้แก่ จิต ๗๕ ดวง โดยเว้นทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ และอรูปาวจรวิบากจิต ๔ นอกจากนั้น ก็ยังมีปฏิสนธิจิตของสัตว์ทั้งหลายในปัญจโวการภูมิ และจุติจิตของพระอรหันต์ทั้งหลาย ก็ไม่สามารถเป็นสมุฏฐานให้รูปเกิดขึ้นได้ เพราะทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ ดวงนั้น เป็นจิตที่มีกำลังอ่อน ไม่สามารถทำให้จิตตชรูปเกิดขึ้นได้ อรูปาวจรวิบากจิต ๔ ดวง เป็นจิตที่เป็นผลของอรูปาวจรกุศลจิต ซึ่งปรารถนาภพที่ปราศจากรูปอยู่แล้ว ฉะนั้น จึงไม่สามารถทำให้รูปเกิดขึ้นได้

ส่วนปฏิสนธิจิตของสัตว์ทั้งหลายในปัญจโวการภูมิและจุติจิตของพระอรหันต์นั้นไม่สามารถทำให้รูปเกิดขึ้นได้ เพราะปฏิสนธิจิตเป็นจิตที่เพิ่งเกิดขึ้นเป็นขณะแรกในภพชาตินั้น จึงยังมีกำลังอ่อนอยู่ และจุติจิตของพระอรหันต์ก็ไม่เป็นปัจจัยแก่ปฏิสนธิจิตอีกต่อไป เมื่อจิตไม่เกิดขึ้นอีกต่อไปแล้ว รูปที่เกิดจากจิต ก็มีไม่ได้เช่นเดียวกัน

ปฏิสนธิจิตของสัตว์ในปัญจโวการภูมิและจุติจิตของพระอรหันต์นั้น ไม่มีจำนวนจิตที่ยกเว้นไว้โดยเฉพาะ ถือเอาขณะทำหน้าที่ปฏิสนธิและจุติเท่านั้น และจิตที่ทำหน้าที่ปฏิสนธิของสัตว์ในปัญจโวการภูมิ ได้แก่ ปฏิสนธิจิต ๑๕ ดวง คือ อุเบกขาสันตีรณจิต ๒ มหาวิบากจิต ๘ และรูปาวจรวิบากจิต ๕

สำหรับอรูปาวจรวิบากจิต ๔ ได้กล่าวแล้วว่า ไม่ทำให้รูปเกิดขึ้น เพราะเป็นผล ของอรูปาวจรกุศลจิต ซึ่งเกิดขึ้นโดยการเจริญรูปวิราคภาวนา คือ ปรารถนาจะไม่ให้มีรูป จึงได้รับผลเป็นอรูปาวจรปฏิสนธิในอรูปภูมิ อันเป็นภูมิที่ไม่มีรูปใด ๆ เกิดขึ้นเลย ส่วน ปัญจโวการปฏิสนธิจิต ๑๕ ดวงนั้น ก็น่าจะมีความสำคัญ ทำให้รูปเกิดขึ้นจากจิตเหล่านั้นได้ แต่เนื่องจากในขณะปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นเป็นขณะแรกในภพใหม่นั้น ยังมีกำลังอ่อนอยู่ จึงไม่สามารถทำให้จิตตชรูปเกิดขึ้นได้ ด้วยเหตุนี้ ในจิต ๗๕ ดวงนั้น ก็คงยกเว้นเฉพาะขณะปฏิสนธิของสัตว์และจุติของพระอรหันต์เท่านั้น โดยทั่วไปในกาลอื่นแล้ว ย่อมเป็นสมุฏฐานให้จิตตชรูปเกิดขึ้นได้

รูปที่เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน มี ๑๕ อย่าง คือ มหาภูตรูป ๔ โคจรรูป ๔ อาหารรูป ๑ ปริจเฉทรูป ๑ วิญญัติรูป ๒ วิการรูป ๓

บทสรุปของผู้เขียน.

จากข้อมูลในเรื่องจิตตสมุฏฐานที่ท่านได้แสดงไปแล้วนั้น ผู้เขียนจะได้ประมวลมาแสดงอธิบายขยายความและสรุปเนื้อหาโดยสังเขป ดังต่อไปนี้

จิตตสมุฏฐาน หมายถึง จิตที่เป็นสมุฏฐานทำให้รูปเกิดขึ้น ในบรรดาจิตทั้งหมดมี ๘๙ หรือ ๑๒๑ ดวงนั้น จิตที่เป็นสมุฏฐานทำให้รูปเกิดขึ้นได้ มีเฉพาะจิต ๗๕ หรือ ๑๐๗ ดวงเท่านั้น ที่สามารถเป็นปัจจัยทำให้ปฏิกิริยาของรูปธรรม ที่เรียกว่า จิตตชรูป [คือปฏิกิริยาของรูปที่เกิดจากจิต] เกิดขึ้นได้ เว้นจิต ๑๔ ดวง คือ ทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ และอรูปาวจรวิปากจิต ๔ รวมทั้งปฏิสนธิจิตของสัตว์ทั้งหลาย และจุติจิตของพระอรหันต์ ที่ไม่สามารถเป็นปัจจัยทำให้ปฏิกิริยาของรูปเกิดขึ้นได้

ในการที่เว้นทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ ดวงนั้น เพราะทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ เป็นจิตที่มีกำลังอ่อน เนื่องจากต้องอาศัยการประชุมพร้อมกันแห่งเหตุปัจจัยในขณะนั้น ที่เรียกว่า อุปัตติเหตุ จึงจะเกิดขึ้นได้ เป็นจิตที่ไม่ต้องมีความขวนขวาย ขาดวิริยะและไม่มีกำลังแห่งองค์ฌานเข้าประกอบร่วมด้วย ที่เรียกว่า อวิริยจิต และ อฌานจิต จึงไม่สามารถเป็นปัจจัยทำให้จิตตชรูปเกิดขึ้นได้

ในการที่เว้นอรูปาวจรวิบากจิต ๔ นั้น เพราะอรูปาวจรวิบากจิต ๔ เป็นจิตที่เป็นผลของอรูปาวจรกุศลจิต ๔ โดยเฉพาะ ๆ ตามสภาพของตน กล่าวคือ อากาสานัญจายตนวิบากจิต เป็นผลของอากาสานัญจายตนกุศลจิต ดังนี้เป็นต้น ซึ่งเป็นกุศลจิตที่เกิดขึ้นด้วยการทำความเบื่อหน่ายในรูป ที่เรียกว่า รูปวิราคภาวนา คือ ภาวนาที่ตัดความเยื่อใยในรูปโดยสิ้นเชิงแล้ว และอรูปาวจรวิบากจิต ๔ นี้ ก็เป็นจิตที่เกิดขึ้นในอรูปภูมิ ๔ โดยเฉพาะ ๆ ตามสภาพแห่งฌานของตน กล่าวคือ อากาสานัญจายตนวิบากจิต ย่อมเกิดขึ้นเฉพาะใน อากาสานัญจายตนภูมิเท่านั้น ดังนี้เป็นต้น ซึ่งเป็นภพภูมิที่ไม่มีรูปอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นเลย โดยทำหน้าที่ปฏิสนธิ ภวังค์ และจุติ ในอรูปภูมิ ๔ ดวงละ ๑ ภูมิเท่านั้น อนึ่ง อรูปาวจรวิบากจิต ๔ พร้อมด้วยเจตสิกที่ประกอบ ๓๐ ดวงนั้น ก็เป็นตัวอรูปภพ ซึ่งเป็นภาวะที่ปราศจากรูปทั้งปวงอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น อรูปาวจรวิบากจิต ๔ จึงไม่เป็นปัจจัยทำให้จิตตชรูปเกิดขึ้นได้

ในการที่เว้นปฏิสนธิจิตของสัตว์ทั้งหลายในปัญจโวการภูมินั้น เพราะปฏิสนธิจิตเป็นจิตที่เพิ่งเกิดขึ้นเป็นขณะแรกในภพชาตินั้น จึงเป็นจิตที่ยังมีกำลังอ่อนอยู่ เนื่องจากไม่มีปัจจัยสนับสนุนจากจิตดวงก่อน ๆ และจิตดวงหลัง ๆ ที่เรียกว่า ปุเรชาตปัจจัย และ ปัจฉาชาตปัจจัย เหมือนจิตดวงอื่น ๆ นั่นเอง เพราะฉะนั้น ปฏิสนธิจิตของสัตว์ทั้งหลายที่เกิดในปัญจโวการภูมิ ๒๖ จึงไม่สามารถเป็นปัจจัยทำให้จิตตชรูปเกิดขึ้นได้

ส่วนที่เว้นจุติจิตของพระอรหันต์นั้น เพราะพระอรหันต์ทั้งหลายท่านเป็นผู้มีความเป็นไปสงบระงับดียิ่ง ในสันดานของท่านเหล่านั้นมีมูลแห่งวัฏฏะถูกตัดขาดแล้ว ย่อมไม่เป็นปัจจัยทำให้เกิดปฏิสนธิจิตอีกต่อไป เพราะฉะนั้น จุติจิตของพระอรหันต์ทั้งหลายจึงไม่สามารถเป็นปัจจัยทำให้จิตตชรูปเกิดขึ้นได้

อนึ่ง ปฏิสนธิจิตของสัตว์ทั้งหลายและจุติจิตของพระอรหันต์ในปัญจโวการภูมินั้น ไม่มีจำนวนจิตที่ยกเว้นโดยเฉพาะ มุ่งหมายเอาเฉพาะขณะทำหน้าที่ปฏิสนธิและจุติเท่านั้น หมายความว่า ปฏิสนธิจิต ๑๕ [เว้นอรูปาวจรวิบากจิต ๔ ที่อธิบายไปแล้ว] ได้แก่ อุเบกขาสันตีรณจิต ๒ มหาวิบากจิต ๘ รูปาวจรวิบากจิต ๕ ที่เรียกว่า ปัญจโวการปฏิสนธิจิต ๑๕ คือ ปฏิสนธิจิตของสัตว์ที่เกิดในปัญจโวการภูมิ ซึ่งเป็นภูมิที่มีขันธ์ ๕ ครบบริบูรณ์ ได้แก่ กามภูมิ ๑๑ และรูปภูมิ ๑๕ [เว้นอสัญญสัตตภูมิ] ปัญจโวการปฏิสนธจิต ๑๕ ดวงเหล่านี้ในขณะที่เกิดขึ้นครั้งแรกในภพใหม่นั้น ยังมีกำลังอ่อนอยู่ จึงไม่สามารถเป็นปัจจัยทำให้จิตตชรูปเกิดขึ้นได้

ส่วนจุติจิตของพระอรหันต์ในปัญจโวการภูมินั้น มี ๙ ดวงคือ มหาวิบากญาณสัมปยุตตจิต ๔ รูปาวจรวิบากจิต ๕ ที่เรียกว่า ปัญจโวการติเหตุกจุติจิต ๙ ซึ่งเป็นปฏิสนธิจิตและภวังคจิตของพระอรหันต์ที่มีรูปเกิดพร้อมด้วย แต่พระอรหันต์ทั้งหลายท่านเป็นผู้มีความเป็นไปสงบดียิ่ง ในสันดานที่มีมูลแห่งวัฏฏะถูกตัดขาดแล้ว ในขณะที่ท่านปรินิพพานนั้น ย่อมมีอาการสงบระงับทั้งกายวาจาและใจเป็นพิเศษกว่าบุคคลทั่วไป เพราะฉะนั้น จุติจิตของพระอรหันต์ทั้งหลายที่เกิดอยู่ในปัญจโวการสุคติภูมิ ๒๒ [เว้นอบายภูมิ ๔] จึงไม่สามารถเป็นปัจจัยทำให้จิตตชรูปเกิดขึ้นได้

ส่วนจุติจิตของพระอรหันต์ที่เกิดอยู่ในอรูปภูมิ ที่เรียกว่า จตุโวการจุติจิต ๔ ได้แก่ อรูปาวจรวิบากจิต ๔ ดวงนั้น เป็นจิตที่เป็นผลของอรูปาวจรกุศลจิต ซึ่งเป็นกุศลกรรมที่เกิดขึ้นด้วยการเจริญรูปวิราคภาวนา คือ ภาวนาที่ปราศจากความยินดีในรูป ปรารถนาความไม่มีรูปทั้งปวง จึงได้รับผลเป็นอรูปาวจรวิบากปฏิสนธิจิตในอรูปภูมิ ๔ ซึ่งเป็นภูมิที่ไม่มีรูปใด ๆ เกิดขึ้นเลย เพราะฉะนั้น จตุโวการจุติจิต ๔ ดวงของพระอรหันต์ในอรูปภูมิ ๔ นั้น จึงไม่สามารถเป็นปัจจัยทำให้จิตตชรูปเกิดขึ้นได้เลย โดยประการทั้งปวง

ด้วยเหตุผลดังกล่าวมานี้ จึงสรุปได้ว่า ในปัญจโวการปฏิสนธิจิต ๑๕ ดวงนั้น คงยกเว้นเฉพาะในขณะทำหน้าที่ปฏิสนธิจิตของสัตว์ทั้งหลายและในขณะทำหน้าที่จุติจิตของพระอรหันต์ทั้งหลายเท่านั้น ที่ไม่สามารถเป็นปัจจัยทำให้จิตตชรูปเกิดขึ้นได้ ส่วนในเวลาอื่น คือ ขณะทำหน้าที่ภวังค์ [รักษาภพชาติ] สันตีรณะ [ไต่สวนปัญจารมณ์ทางปัญจทวาร เฉพาะอุเบกขาสันตีรณจิต ๒] และตทาลัมพนะ [หน่วงเหนี่ยวอารมณ์ต่อจากชวนะทางทวาร ๖ เฉพาะอุเบกขาสันตีรณจิต ๒ มหาวิบากจิต ๘] ในขณะเหล่านี้ ย่อมสามารถเป็นปัจจัยทำให้จิตตชรูปเกิดขึ้นได้

อนึ่ง ในบรรดาจิต ๗๕ หรือ ๑๐๗ ดวงที่ทำให้จิตตชรูปเกิดขึ้นได้นั้น ย่อมเป็นปัจจัยได้เฉพาะตรงอุปปาทขณะของตน ๆ เท่านั้น ส่วนในฐีติขณะและภังคขณะนั้น ไม่สามารถเป็นปัจจัยทำให้จิตตชรูปเกิดขึ้นได้ เพราะว่า นามธรรมทั้งหลายย่อมมีกำลังแรงกล้าเฉพาะที่อุปปาทขณะเพียงขณะเดียวเท่านั้น แต่เมื่อถึงฐีติขณะและภังคขณะแล้ว กำลังย่อมอ่อนลง ด้วยเหตุนี้ ฐีติขณะและภังคขณะของจิต จึงไม่สามารถเป็นปัจจัยทำให้จิตตชรูปเกิดขึ้นได้

อาการต่าง ๆ ของสัตว์ทั้งหลาย มีการยืน การเดิน การนั่ง การนอน การคู้ การเหยียด ตลอดจนการพูด การร้อง หรือการหายใจเข้า-ออก เหล่านี้เป็นต้น จะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องอาศัยจิตเป็นปัจจัยทำให้รูปที่เกี่ยวกับอาการเหล่านี้ปรากฏเกิดขึ้น จิตที่มีกำลังสามารถเป็นปัจจัยทำให้เกิดรูปอิริยาบถ รูปการพูดจา หรืออาการหายใจเข้า-ออก เป็นต้นได้นั้น ได้แก่ จิต ๗๕ [หรือ ๑๐๗] ดวง คือ อกุศลจิต ๑๒ อเหตุกจิต ๘ [เว้นทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐] กามาวจรโสภณจิต ๒๔ รูปาวจรจิต ๑๕ อรูปาวจรกุศลจิต ๔ อรูปาวจรกิริยาจิต ๔ โลกุตตรจิต ๘ [หรือ ๔๐] ที่เกิดกับบุคคลที่เกิดอยู่ในปัญจโวการภูมิ ๒๖ ตามสมควร [ยกเว้นขณะปฏิสนธิของสัตว์ทั้งหลายและขณะจุติจิตของพระอรหันต์ในปัญจโวการภูมิ] พร้อมด้วยเจตสิกที่ประกอบ ๕๒ ดวง ตามสมควรที่จะประกอบได้ และต้องเป็นจิตที่ปรากฏเกิดขึ้นในขณะปัจจุบันเท่านั้น จึงจะสามารถเป็นปัจจัยทำให้รูปเกิดขึ้นในอาการของสัตว์ทั้งหลายได้ รูปที่เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐานนี้ ท่านเรียกว่า จิตตชรูป และเป็นรูปที่เกิดขึ้นทุกอุปปาทขณะของจิต นับตั้งแต่ปฐมภวังค์ คือ ภวังคจิตดวงแรกที่เกิดต่อจากปฏิสนธิจิตเป็นต้นไป ยกเว้นในขณะแห่งทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ ปฏิสนธิจิตของสัตว์ทั้งหลาย และขณะแห่งจุติจิตของพระอรหันต์ทั้งหลายเกิดขึ้น ดังกล่าวแล้ว


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |