ไปยังหน้า : |
บัณฑิตผู้มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายแล้ว ย่อมสามารถกำหนดพิจารณาเรียนรู้สภาพของอโนตตัปปเจตสิก อันเป็นปรมัตถธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งนับเนื่องในสังขารขันธ์ เพราะเป็นสภาวธรรมที่ปรุงแต่งจิตให้รู้อารมณ์เป็นพิเศษออกไปจากเวทนาขันธ์และสัญญาขันธ์ โดยอาศัยคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตนที่ไม่เหมือนกับสภาวธรรมเหล่าอื่น ๔ ประการ ที่เรียกว่า วิเสสลักษณะ หรือ ลักขณาทิจตุกะ ดังต่อไปนี้
๑. อะนุตตาสะนะลักขะณัง วา ปาปะโต สารัชชะลักขะณัง มีความไม่สะดุ้งต่อความชั่ว เป็นลักษณะ หรือ มีความไม่สะทกสะท้านต่อบาป เป็นลักษณะ เหมือนแมลงเม่า ที่บินเข้ากองไฟ ไม่มีความสะทกสะท้านหวั่นกลัวต่อกองไฟ ฉันนั้น หมายความว่า อโนตตัปปเจตสิกนี้มีสภาพที่ไม่เกรงกลัวต่อความชั่วและโทษของความชั่วที่จะพึงได้รับ เพราะฉะนั้น เมื่ออโนตตัปปเจตสิกครอบงำจิตของบุคคลใดแล้ว ย่อมทำให้บุคคลนั้นกระทำความชั่วได้อย่างเต็มที่ ย่อมมองเห็นความชั่วเป็นความดี มองเห็นความผิดเป็นความชอบ เหมือนกับแมลงเม่าที่มองเห็นแสงไฟลุกโชติช่วงมีสีสวยสดแล้วโผผินเข้าไปหวังจะเล่นแสงไฟ แต่ก็ถูกไฟเผาไหม้ให้ถึงแก่ความตาย
๒. ทุจจริตะกะระณะระสัง มีการกระทำทุจริต เป็นกิจ หมายความว่า บุคคลผู้ถูกอโนตตัปปะเข้าครอบงำแล้ว ย่อมกล้ากระทำความผิดความชั่วอย่างเต็มที่และเต็มใจ โดยไม่หวั่นเกรงต่อโทษภัยใด ๆ ที่จะเกิดขึ้นเพราะความชั่วนั้นเป็นเหตุ หรือไม่เกรงกลัวว่าจิตใจของตนจะแปดเปื้อนด้วยความชั่ว ไม่กลัวว่าตนเองจะเปื้อนด้วยมลทินคือความชั่ว เพราะฉะนั้น ในขณะกระทำทุจริตอยู่นั้น บุคคลจึงไม่กลัวต่อผลของกรรมที่จะได้รับในกาลข้างหน้า
๓. ปาปาสังโกจะนะปัจจุปปัฏฐานัง มีการไม่ย่อท้อต่อทุจริต เป็นอาการปรากฏ หมายความว่า บุคคลที่ถูกอโนตตัปปะเข้าครอบงำจิตแล้ว ย่อมไม่คำนึงถึงความผิดชอบชั่วดี จึงกระทำทุจริตกรรมอยู่เนือง ๆ โดยไม่ย่อท้อและเบื่อหน่ายต่อการกระทำอกุศลกรรมนั้นเลย
๔. ปะระคุณะอะคาระวะปะทัฏฐานัง มีความไม่เคารพนับถือคุณงามความดีของผู้อื่น [ไม่ให้เกียรติบุคคลอื่น] เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า อโนตตัปปเจตสิก มีต้นเหตุมาจากการที่บุคคลนั้นไม่คำนึงถึงบุคคลอื่น คือ ไม่คิดหน้าคิดหลังให้รอบคอบ ถูกอวิชชาเข้าครอบงำ จนไม่รู้ถึงความผิดชอบชั่วดี ควรหรือไม่ควร เป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์ประการใด ขาดจิตสำนึกที่ดี ไม่คำนึงถึงบุคคลอื่นว่าจะคิดอย่างไร จะมีความรู้สึกอย่างไร หรือจะได้รับความทุกข์ร้อนจากการกระทำของตนหรือไม่ เป็นต้น เมื่อมีอุปนิสัยอย่างนี้ ย่อมทำให้อโนตตัปปะเกิดขึ้นและเจริญงอกงามยิ่งขึ้นได้