| |
ลักษณะของบุคคลผู้เจียมตน ๑๐ ประการ   |  

บุคคลผู้มีความเจียมตนนั้น ได้แก่ บุคคลผู้มีมุทุตา คือ เป็นบุคคลที่อ่อนน้อมถ่อมตน รู้ว่าตนเองอยู่ในฐานะใด ควรที่จะวางตนอย่างไร จึงจะเหมาะสม และไม่แสดงอาการเย่อหยิ่งจองหองลำพองตนให้บุคคลอื่นเกลียดชัง ซึ่งเป็นสภาพของมุทุตาเจตสิกที่ประกอบกับโสภณจิตแล้วทำให้จิตมีความอ่อนน้อมถ่อมตนและเจียมตนในภาวะต่าง ๆ บุคคลผู้เจียมตนนั้น มีลักษณะ ๑๐ ประการ คือ

๑. นีจมนตา เป็นผู้มีใจอ่อนน้อม หมายถึง เป็นบุคคลผู้ที่ไม่มีอาการแข็งกระด้างทางกาย ทางวาจา และทางใจในบุคคลทั้งหลาย ทั้งไม่มีความเจ้าเล่ห์มารยา ย่อมอ่อนน้อมถ่อมตนในบุคคลทั้งหลาย ตามสมควรแก่ฐานะของตน

๒. นิวาตวุตติตา เป็นผู้มีความประพฤติเจียมตน หมายถึง เป็นผู้ที่รู้จักวางตนให้เหมาะสมกับฐานะในบุคคลทั้งหลาย มีเมตตาธรรมเป็นที่ตั้ง รักใคร่บุคคลทั้งหลายเสมอเหมือนพ่อแม่ญาติพี่น้อง บุคคลใดอยู่ในฐานะพ่อแม่ ก็นับถือเหมือนเป็นพ่อแม่ บุคคลใดอยู่ฐานะปู่ย่าตายาย ก็นับถือเหมือนเป็นปู่ย่าตายาย บุคคลใดอยู่ในฐานะลุงป้าน้าอา ก็นับถือเหมือนเป็นลุงป้าน้าอา บุคคลใดอยู่ในฐานะพี่ ก็นับถือเป็นเหมือนพี่ บุคคลใดอยู่ในฐานะน้อง ก็นับถือเป็นเหมือนน้อง เป็นต้น แม้มีอำนาจเหนือกว่า ก็ไม่แสดงอาการดูหมิ่นเหยียบหยามหรือข่มเหงรังแก

๓. นิหตมาโน เป็นคนไม่ถือตัวด้วยอำนาจมานะ หมายถึง เป็นบุคคลผู้มีพรหมวิหารธรรมเป็นเครื่องดำเนินชีวิต รู้ว่าบุคคลใดควรวางตัวอย่างไร บุคคลใดควรเมตตา บุคคลใดควรสงสาร บุคคลใดควรยินดีด้วย และบุคคลใดควรวางเฉย ไม่แสดงอาการเย่อหยิ่งจองหองลำพองตน หรือตีตนเสมอท่านด้วยอำนาจมานะทิฏฐิ

๔. นิหตทัปโป ไม่หยิ่งยโส หมายถึง เป็นผู้ไม่หยิ่งจองหอง เป็นผู้ใหญ่ก็ทำตัวให้เป็นที่รักและเคารพของผู้น้อย เป็นผู้น้อยก็ทำตนให้เป็นที่รักเอ็นดูของผู้ใหญ่ เป็นคนไม่ชูงวง ไม่แสดงกิริยาด้วยมานะทิฏฐิไปเบื้องหน้า แต่แสดงอาการอ่อนน้อมถ่อมตนไปเบื้องหน้า

๕. ปาทัปปุญฉนโจฬกสทิโส ทำตนเหมือนกับผ้าเช็ดเท้า หมายถึง เป็นบุคคลผู้เจียมตนอยู่เสมอว่าตนเองก็เป็นมนุษย์หรือสัตว์โลกผู้หนึ่ง ที่เป็นสมาชิกของโลก เกิดมาอาศัยโลกอยู่ชั่วคราวเหมือนกับสัตว์โลกทั้งหลาย ไม่ได้เป็นผู้วิเศษกว่าสัตว์โลกอื่น ๆ จึงทำใจยอมรับกับสิ่งที่ดีและสิ่งที่ไม่ดีได้เหมือนกับผ้าเช็ดเท้าย่อมรองรับการเช็ดของบุคคลทั้งหลายโดยไม่เลือกหน้า

๖. ฉินนวิสาณุสภสโม ทำตนเหมือนกับโคเขาขาด หมายความว่า โคตัวผู้ที่เคยมีเขาอันแข็งแรง เคยหยิ่งผยองท้าชนกับโคตัวนั้นตัวนี้เสมอ แต่เมื่อเขาขาดแล้วก็เหมือนหมดเขี้ยวเล็บหมดอาวุธที่จะท้าชนกับโคตัวอื่น จึงต้องสงบเสงี่ยมเจียมตัวเพื่อมิให้โคตัวอื่นมาข่มเหงรังแก บุคคลผู้อ่อนน้อมถ่อมตนก็เช่นเดียวกัน ย่อมทำตัวสงบเสงี่ยม ไม่คึกคะนองหรือหยิ่งผยองลำพองตน เพื่อให้บุคคลอื่นเมตตาสงสาร

๗. อุทธัฏทาฐสัปปสโม ทำตนดุจงูพิษที่ถูกถอนเขี้ยวแล้ว หมายความว่า งูพิษที่ยังมีพิษอยู่ สามารถที่จะทำร้ายบุคคลอื่นได้ ย่อมหยิ่งผยองไม่กลัวสัตว์อื่น เมื่อได้พบสัตว์อื่นย่อมคิดต่อสู้ขู่ดังฟ่อ ๆ และพ่นพิษใส่ แต่เมื่อมันถูกถอนเขี้ยวพิษออก ก็ไม่มีพิษที่จะทำอันตรายบุคคลอื่นหรือสัตว์อื่นได้ จึงต้องทำตัวสงบเสงี่ยมเพื่อมิให้สัตว์อื่นมาเบียดเบียน บุคคลผู้มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ย่อมวางตนสงบเสงี่ยมเจียมตน ฉันนั้น

๘. สัณโห มีวาจานุ่มนวล หมายความว่า บุคคลผู้มีความอ่อนน้อมถ่อมตนย่อมกล่าววาจาที่นุ่มนวลกับบุคคลทั้งหลาย ไม่แสดงวาจาหยาบคายหรือขู่กรรโชกข่มเหงบุคคลอื่นด้วยวาจา

๙. สขิโล กล่าวถ้อยคำที่สบายหู หมายความว่า บุคคลผู้อ่อนน้อมถ่อมตนย่อมกล่าววาจาที่ไพเราะเสนาะโสต ไม่พูดคำที่แสลงหูแสลงใจบุคคลอื่นหรือสัตว์อื่น ให้เกิดความขุ่นข้องหมองใจหรือไม่สบายใจ

๑๐ สุขสัมภาโส ไม่ดื้อกระด้างด้วยอำนาจมานะ หมายความว่า บุคคลผู้อ่อนน้อมถ่อมตนย่อมไม่แสดงอาการดื้อด้านและกระด้างกระเดื่องด้วยอำนาจมานะ เมื่อตนทำผิดต้องยอมรับผิด บุคคลอื่นทำดี ต้องกล้าชมเชยสรรเสริญ และพูดจาไพเราะเสนาะโสต


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |