ไปยังหน้า : |
สัมปฏิจฉนจิต เป็นจิตที่เกิดขึ้นโดยความเป็นผลของกุศลและอกุศล เพื่อรับรู้ปัญจารมณ์ คือ อารมณ์ ๕ อย่าง ได้แก่ รูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ และโผฏฐัพพารมณ์ อย่างใดอย่างหนึ่ง ต่อจากทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวงใดดวงหนึ่ง หมายความว่า เมื่อปัญจารมณ์ปรากฏทางปัญจทวาร คือ รูปารมณ์ปรากฏทางจักขุทวาร สัททารมณ์ปรากฏทางโสตทวาร คันธารมณ์ปรากฏทางฆานทวาร รสารมณ์ปรากฏทางชิวหาทวาร และโผฏฐัพพารมณ์ปรากฏทางกายทวาร ทวารใดทวารหนึ่งแล้ว ถ้าอารมณ์นั้น เป็นอิฏฐารมณ์คืออารมณ์ที่น่าปรารถนา สัมปฏิจฉนจิตที่เกิดขึ้นรับรู้อารมณ์ต่อจากวิญญาณจิตนั้น ก็เป็นกุศลวิบาก ถ้าอารมณ์นั้น เป็นอนิฏฐารมณ์คืออารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา สัมปฏิจฉนจิตที่เกิดขึ้นรับรู้ต่อจากวิญญาณจิตนั้น ก็เป็นอกุศลวิปากจิต สัมปฏิจฉนจิตนี้ มีคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตน ๔ ประการ ที่เรียกว่า วิเสสลักษณะ หรือ ลักขณาทิจตุกกะ คือ
๑. จักขุวิญญาณาทีนัง อะนันตะรัง รูปาทิวิชานะนะลักขะณัง มีการรับรู้รูปารมณ์ เป็นต้น รองลำดับจากจักขุวิญญาณจิต เป็นต้น เป็นลักษณะ หมายความว่า เมื่อจักขุวิญญาณจิตรับรูปารมณ์ทางจักขุทวารแล้ว สัมปฏิจฉนจิตก็รับรูปารมณ์นั้นต่อ เมื่อโสตวิญญาณจิตรับสัททารมณ์ทางโสตทวารแล้ว สัมปฏิจฉนจิตก็รับสัททารมณ์นั้นต่อ เมื่อฆานวิญญาณจิตรับคันธารมณ์ทางฆานทวารแล้ว สัมปฏิจฉนจิตก็รับคันธารมณ์นั้นต่อ เมื่อชิวหาวิญญาณจิตรับรสารมณ์ทางชิวหาทวารแล้ว สัมปฏิจฉนจิตก็รับรสารมณ์นั้นต่อ เมื่อกายวิญญาณจิตรับโผฏฐัพพารมณ์ทางกายทวารแล้ว สัมปฏิจฉนจิตก็รับโผฏฐัพพารมณ์นั้นต่อ ดังนี้ ตามสมควรแก่ทวารนั้น ๆ แล้วจึงส่งให้สันตีรณจิตทำการพิจารณาอารมณ์นั้นต่อไป
๒. รูปาทิสัมปะฏิจฉะนะระสัง มีการรับปัญจารมณ์มีรูปารมณ์ เป็นต้น เป็นกิจ หมายความว่า สัมปฏิจฉนจิต ๒ ดวงนี้ สามารถรับอารมณ์ได้ทั้ง ๕ อย่าง ทางทวารทั้ง ๕ นั้น แล้วแต่ว่าอารมณ์นั้น ปรากฏเกิดขึ้นทางทวารไหน คือ ไม่ว่า จะเป็น รูปารมณ์ปรากฏทางจักขุทวารก็ดี สัททารมณ์ปรากฏทางโสตทวารก็ดี คันธารมณ์ปรากฏทางฆานทวารก็ดี รสารมณ์ปรากฏทางชิวหาทวารก็ดี หรือโผฏฐัพพารมณ์ปรากฏทางกายทวารก็ดี สัมปฏิจฉนจิตนี้ ย่อมจะรับอารมณ์ต่อจากวิญญาณจิตทางทวารนั้น ๆ ได้ทั้ง ๕ ทวาร และถ้าอารมณ์นั้นเป็นอิฏฐารมณ์คืออารมณ์ที่น่าปรารถนา [ทั้งที่เป็นอติอิฏฐารมณ์คืออารมณ์ที่น่าปรารถนาอย่างยิ่งก็ดี หรืออิฏฐมัชฌัตตารมณ์คืออารมณ์ที่น่าปรารถนาระดับปานกลางก็ดี] สัมปฏิจฉนจิตที่เป็นกุศลวิบากก็เกิดขึ้นรับรู้อิฏฐารมณ์นั้น ถ้าอารมณ์นั้นเป็นอนิฏฐารมณ์คืออารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา สัมปฏิจฉนจิตที่เป็นอกุศลวิบากก็เกิดขึ้นรับรู้อนิฏฐารมณ์นั้น ตามสภาพของอารมณ์
๓. ตะถาภาวะปัจจุปปัฏฐานัง มีความเป็นอย่างเดียวกันกับอารมณ์นั้น เป็นอาการปรากฏ หมายความว่า สัมปฏิจฉนจิตนี้ สามารถปรับสภาพให้ตรงกับอารมณ์ที่ตนรับอยู่นั้นได้อย่างกลมกลืน โดยไม่มีความขัดแย้งหรือเป็นปฏิปักษ์ต่ออารมณ์นั้นแต่อย่างใด หรือไม่มีความเกี่ยงงอนต่อการรับอารมณ์นั้น ๆ แต่อย่างใด ไม่ว่าอารมณ์นั้น จะเป็นรูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ หรือโผฏฐัพพารมณ์ก็ตาม ย่อมสามารถปรับสภาพยอมรับกับอารมณ์โดยดี และไม่มีความลำเอียงเกี่ยงงอนในทวารทั้ง ๕ ไม่ว่าจะเป็นจักขุทวาร โสตทวาร ฆานทวาร ชิวหาทวาร หรือกายทวารก็ตาม สามารถเกิดได้ทั้งนั้น ด้วยเหตุนี้ สัมปฏิจฉนจิตจึงสามารถรับอารมณ์ได้อย่างสม่ำเสมอกันทั้ง ๕ อารมณ์และทั้ง ๕ ทวาร
๔. จักขุวิญญาณาทิอะปะคะมะนะปะทัฏฐานัง มีการแผ่ออกไปแห่งจักขุวิญญาณ เป็นต้น เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า สัมปฏิจฉนจิต ๒ ดวงนี้ จะเกิดขึ้นได้ ต้องมีปัญจวิญญาณจิตอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นก่อนแล้ว สัมปฏิจฉนจิต จึงเกิดตามได้ คือ ถ้าไม่มีจักขุวิญญาณจิตเกิดขึ้นทางจักขุทวาร หรือไม่มีโสตวิญญาณจิตเกิดขึ้นทางโสตทวาร เป็นต้นแล้ว สัมปฏิจฉนจิตนี้ ย่อมจะเกิดต่อไม่ได้ ต่อเมื่อมีวิญญาณจิตเกิดขึ้นทางทวารนั้น ๆ แล้ว สัมปฏิจฉนจิตจึงเกิดขึ้นรับรู้อารมณ์นั้นต่อจากวิญญาณจิตนั้นต่อไปได้
อนึ่ง สัมปฏิจฉนจิต ๒ ดวงนี้ เป็นอเหตุกจิต เนื่องจากเกิดขึ้นโดยไม่มีเหตุ ๖ อย่างใดอย่างหนึ่ง มีโลภเหตุเป็นต้น เกิดร่วมด้วยเลย แต่เกิดขึ้นด้วยอำนาจการประชุมพร้อมกันแห่งปัจจัย ๔ ประการ เรียกว่า อุปัตติเหตุ ได้แก่
๑. ปัญจท๎วารัง มีทวารทั้ง ๕ คือ ประสาทรูปทั้ง ๕ เป็นปกติดี
๒. ปัญจารัมมะณัง มีปัญจารมณ์มาปรากฏทางทวารใดทวารหนึ่ง
๓. หะทะยะวัตถุ มีหทยวัตถุ อันเป็นที่อาศัยเกิดของจิต
๔. มะนะสิกาโร มีความสนใจที่จะรู้อารมณ์นั้น
เมื่อสมบูรณ์ด้วยปัจจัย ๔ ประการนี้แล้ว การรับรู้ปัญจารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมเกิดขึ้นได้อย่างบริบูรณ์ ถ้าบกพร่องไปด้วยปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ประสิทธิภาพของการรับรู้อารมณ์ทางทวารนั้น ๆ ก็ลดน้อยลงไปด้วย ถ้าขาดปัจจัยไปอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว การรับรู้อารมณ์ทางทวารนั้น ๆ ก็เกิดขึ้นไม่ได้ นี้เรียกว่า อุปัตติเหตุของมโนธาตุ ซึ่งเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยเหล่านี้เท่านั้น ไม่ได้เกิดขึ้นด้วยอำนาจบังคับบัญชา หรือคำบงการของใครทั้งสิ้น ไม่มีใครบังคับบัญชาให้รู้หรือไม่ให้รู้อารมณ์เหล่านั้นได้ ฉะนั้น จึงไม่ใช่เรารู้หรือใครรู้ เพียงแต่เป็นสภาพของนามธรรมที่ได้เหตุปัจจัยครบแล้วเกิดการรับรู้เท่านั้น