| |
ลักขณาทิจตุกะของปีติเจตสิก   |  

บัณฑิตผู้มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายแล้ว ย่อมสามารถกำหนดพิจารณาเรียนรู้สภาวะของปีติเจตสิก อันเป็นปรมัตถธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งนับเนื่องในสังขารขันธ์ เพราะเป็นสภาวธรรมที่ปรุงแต่งจิตให้รู้อารมณ์เป็นพิเศษออกไปจากเวทนาขันธ์และสัญญาขันธ์ โดยอาศัยคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตน ซึ่งไม่เหมือนกับสภาวธรรมอื่น ๔ ประการ ที่เรียกว่า วิเสสลักษณะ หรือ ลักขณาทิจตุกะ ดังต่อไปนี้

๑. สัมปิยายะนะลักขะณา มีความชื่นชมยินดีในอารมณ์ เป็นลักษณะ หมาย ความว่า ธรรมชาติของปีติเจตสิกย่อมมีความชื่นชมยินดีในอารมณ์อันน่าใคร่ น่าปรารถนา น่าชอบใจ เป็นลักษณะประจำตัว เพราะฉะนั้น เมื่อปีติเจตสิกเกิดขึ้นกับบุคคลใดก็ตาม ย่อมทำให้บุคคลนั้นเกิดความรู้สึกปลาบปลื้มใจ เอิบอิ่มใจ หน้าตาแจ่มใสเบิกบาน

๒. กายะจิตตะปินะนะระสา [วา] ผะระณะระสา มีการทำให้อิ่มกายและอิ่มใจ เป็นกิจ [หรือ] มีการทำให้เกิดความซาบซ่านไปทั่วสรรพางค์กาย เป็นกิจ หมายความว่า เมื่อปีติเจตสิกเกิดขึ้น ย่อมทำให้สัมปยุตตธรรม คือ จิตและเจตสิกที่เกิดพร้อมกับตนเกิดความรู้สึกอิ่มเอิบซาบซ่านไปทั่วร่างกาย อันเนื่องมาจากจิตตชรูป คือ อาการของร่างกายที่เกิดจากปฏิกิริยาของจิตซึ่งมีความประณีต ทำให้อาการเอิบอิ่มนั้นซาบซ่านไปทั่วร่างกายได้ และทำให้จิตใจของบุคคลผู้มีปีตินั้นมีกำลังเข้มแข็ง มีความแช่มชื่นเบิกบาน ไม่รู้สึกเบื่อหน่ายต่อการรับรู้อารมณ์นั้นเลย

๓. โอทัค๎ยะปัจจุปปัฏฐานา มีการฟูใจ เป็นอาการปรากฏ หมายความว่า สภาวะของปีติเจตสิก ย่อมทำให้จิตใจเฟื่องฟูขึ้น หรือบุคคลผู้เกิดปีติ ย่อมมีความรู้สึกเฟื่องฟูใจ มีความปลาบปลื้มยินดี ยิ่งกำลังของปีติมีมากเท่าไร ย่อมทำให้จิตใจของบุคคลนั้นมีอาการเฟื่องฟูเอิบอาบซาบซ่านมากยิ่งขึ้นตามสภาพของปีติด้วย

๔. เสสะขันธัตต๎ยะปะทัฏฐานา มีนามขันธ์ ๓ ที่เหลือ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า ปีติเจตสิกนี้จัดอยู่ในจำพวกสังขารขันธ์ ซึ่งจะต้องเกิดพร้อมกับจิตและเจตสิกอื่น ๆ อีก ไม่สามารถเกิดโดยลำพังตัวเองอย่างเดียวได้ เพราะฉะนั้น การที่ปีติเจตสิกจะเกิดขึ้นได้นั้น จึงต้องมีนามขันธ์ที่เหลืออีก ๓ อย่าง เป็นเหตุใกล้ให้เกิด คือ เวทนาขันธ์ ได้แก่ เวทนาเจตสิก สัญญาขันธ์ ได้แก่ สัญญาเจตสิก และวิญญาณขันธ์ ได้แก่ จิตที่ปีติเจตสิกนี้ประกอบร่วมด้วย นอกจากนี้ยังมีเจตสิกที่เป็นสังขารขันธ์อื่น ๆ เกิดร่วมด้วยอีก ตามสมควรแก่สภาพของจิตนั้น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |